วิจัยแพทยสภา เสนอสร้างแรงจูงใจแพทย์ ลดปัญหาขาดแคลนเมื่อเปิดเออีซี
ผลวิจัย นศ.หลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา ระบุแพทย์เอกชนส่วนใหญ่ไม่เคลื่อนย้ายเมื่อเปิดเสรี เสนอสร้างแรงจูงใจ เพิ่มค่าตอบแทนพยาบาลให้เป็นธรรมลดปัญหาขาดแคลน แนะทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เน้นประเด็นการร่วมจ่าย
(ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุก Ittaporn Kanacharoen)
วันที่ 9 ตุลาคม แพทยสภา จัดงานเนื่องในวันครบรอบ 45 ปี วันสถาปนาและจัดสัมมนาวิชาการแพทย์สำหรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ (ปธพ.) ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีผู้ร่วมศึกษาจำนวนมาก รวมถึงนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
โดยภายในงานมีการนำเสนอผลการวิจัยของนักศึกษาในหลักสูตร ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้าแล้ว ซึ่งมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่
1.การศึกษาด้านอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล นโยบายและแนวทางแก้ไข จากการศึกษาบุคลากรกลุ่มแพทย์ พบว่า ปัญหาหลัก คือ การกระจายตัวของแพทย์ เสนอให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ การพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานและเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์โดยมีกระบวนการที่โปร่งใส มีส่วนร่วม
สำหรับประเด็นการขาดแคลนพยาบาล ควรเพิ่มกำลังการผลิต โดยยึดการรักษาระดับคุณภาพมาตรฐาน สภาการพยาบาลควรดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพการขาดแคลนในปัจจุบัน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ความต้องการพยาบาลเฉพาะทางในอนาคต และเพิ่มค่าตอบแทนพยาบาลในระดับต่างๆ โดยจัดระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติการเป็นเวรตามความยุ่งยากซับซ้อน และความหนักเบาของงาน มีความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงมีระบบสวัสดิการและที่พักอาศัย
2.การบริหารจัดการทางการแพทย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ศึกษาและมีข้อเสนอแนะให้ปรับระบบให้บริการทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน พัฒนาและเพิ่มศักยภาพการให้บริการรักษาพยาบาลทุกระดับ รวมถึงพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ที่ตอบสนองต่อเหตุวิกฤติจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น และพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข จัดสรรบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ยึดมั่นในหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ในการดำเนินงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องของทุกฝ่าย
3.ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแพทย์ภาคเอกชนในการตัดสินใจไปทำงานในประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างแพทย์ในภาคเอกชน 4.55 % ของกลุ่มตัวอย่างที่สนใจไปทำงานประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแน่นอนเมื่อมีการเปิดเสรี และสนใจไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์มากที่สุด โดยที่ปัจจัยสภาพแวดล้อมการทำงานโรงพยาบาล รวมถึงปัจจัยด้านบุคคลและครอบครัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากที่สุด ในขณะที่ 54.17% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ยังไม่แน่ใจ ส่วนอีก 41.27% เป็นกลุ่มที่ไม่สนใจจะไปทำงานอย่างแน่นอน
ดังนั้น เสนอว่าควรให้มีนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ไทยยังคงทำงานในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเดินทาง ความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง สภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการเคลื่อนย้ายของแพทย์และลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์เมื่อมีการเปิดเสรี
4.การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบหลักประกันสุขภาพไทย จากการศึกษา เสนอว่าควรจัดให้มีระบบตัวแทนที่แท้จริงของผู้ส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับให้เข้าไปมีส่วนร่วม ในส่วนของปัญหา อุปสรรคของแนวทางการบริหารโรงพยาบาล ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่การเข้าถึงบริการของประชาชน พร้อมๆ กับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่จำนวนบุคลากรเพิ่มน้อยมาก ปัญหาการจัดสรรและความเพียงพอของงบประมาณ จึงมีข้อเสนอให้ทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการร่วมจ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน รวมถึงทบทวนบทบาท สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจน
ด้านนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาในงานตอนหนึ่งว่า ได้ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ กทม.ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของสถานพยาบาล โดยเฉพาะบริเวณลาดกระยัง และหนองจอกยังขาดแคลนสถานพยาบาล สถานีอนามัย ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับ กทม.ให้เกิดการกระจายตัวของสถานพยาบาลมากขึ้น โดยจะให้มีการกระจายหน่วยบริการเพิ่มขึ้น เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง