3 เหตุปัจจัยใต้ป่วนหนัก จับตาเลื่อนวันพูดคุยสันติภาพ
จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่เกิดเหตุรุนแรงขนานใหญ่ขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ "ไม่ได้โม้" ที่บอกว่ารู้ล่วงหน้า แต่ป้องกันได้ไม่หมด
เพราะหน่วยข่าวได้วิเคราะห์และแจ้งเตือนมาก่อนแล้วว่าเดือน ต.ค.มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเหมือนกัน เนื่องจากเป็นเดือนที่มีวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ คือวันที่ 25 ต.ค. (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจำนวน 78 ราย)
ทว่าปีนี้หน่วยข่าวได้แจ้งเตือนเพิ่มเติม ซึ่งได้กลายมาเป็น "คำตอบ" ของรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เมื่อถูกนักข่าวถามถึงเหตุระเบิดตู้เอทีเอ็มเกือบ 30 จุดทั่วชายแดนใต้ นั่นก็คือ วันที่ 10 ต.ค.เป็นวันครบรอบสถาปนาบีอาร์เอ็น ขณะที่วันที่ 11 ต.ค.เป็นวันคล้ายวันสถาปนากลุ่มพูโล
อย่างไรก็ดี หากตรวจสอบกับข้อมูลเปิดแหล่งอื่นๆ จะพบว่า วันที่ 10 ต.ค.ที่ว่าเป็นวันคล้ายวันสถาปนาบีอาร์เอ็นนั้น จริงๆ ไม่ใช่วันก่อตั้งขบวนการ (วันที่ 13 มิ.ย.2502) แต่เป็นวันสถาปนา "กองกำลังติดอาวุธ" เช่นเดียวกับวันที่ 11 ต.ค.ก็เป็นวันสถาปนา "กลุ่มพูโลใหม่" เมื่อปี 2532 ไม่ใช่วันสถาปนา "องค์การพูโล"
ฉะนั้นหากจะให้น้ำหนักความเกี่ยวโยงในเรื่องนี้กับสถานการณ์ป่วนในพื้นที่จึงอาจมีไม่มากนัก เพราะวันครบรอบวันอื่นๆ บางทีและบางปีก็ไม่มีเหตุร้าย จึงน่าจะพิจารณาเหตุปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยที่รุมเร้าหรือเป็นเหตุเฉพาะหน้าอยู่ตอนนี้ ได้แก่
1.การตอบโต้ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของฝ่ายความมั่นคง ที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ปูพรมเต็มพื้นที่เพื่อชิงความได้เปรียบบนโต๊ะพูดคุยเจรจา จนสามารถจับกุม วิสามัญฆาตกรรมจากการปะทะ และยึดยุทโธปกรณ์ของผู้ก่อความไม่สงบได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา กรณีปิดล้อม ตรวจค้นหมู่บ้านสะแนะ ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ดังกล่าวแม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิตถึง 2 นาย โดยหนึ่งในสองเป็นนายตำรวจยศ "พันตำรวจโท" แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียหายมากกว่า เนื่องจากถูกวิสามัญฯ 4 ราย หนึ่งในนั้นคือ นายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ หรืออุสตาซรอฮิง เจ้าของฉายา "เปเล่ดำ" แกนนำกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และอีกหนึ่งคือ นายอุสมาน เด็งสาแม แกนนำระดับสูงกว่าเปเล่ดำ
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 นอกจากการสูญเสียแกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา (บ้านเกิดของเปเล่ดำ) และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อย่างต่อเนื่องแล้ว ปฏิบัติการปิดล้อมในพื้นที่บริเวณนี้อย่างถี่ยิบ ย่อมเป็นการกดดันกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างหนักด้วย เฉพาะเดือน ส.ค.มีการปิดล้อมในพื้นที่ อ.รือเสาะ 2 ครั้ง วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงไปทั้งหมด 3 ราย
ในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ถือเป็นพื้นที่ "ไข่แดง" ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะ อ.รามัน เป็นจุดกึ่งกลางที่มีเส้นทางทะลุไปได้ทั้ง จ.ปัตตานี นราธิวาส และย้อนกลับไปยังตัวเมืองยะลา ทั้งยังมีเส้นทางแยกย่อยไปอีกมาก พื้นที่นี้จึงเป็นแหล่งกบดาน ซุกซ่อนอาวุธ รวมทั้งเส้นทางหลบหนีของผู้ก่อความไม่สงบ
ซ้ำร้ายยังเป็นแหล่งรวมของผู้มีอิทธิพล ทั้งการเมือง ธุรกิจมืด จนเป็นดั่งแดนสนธยา อย่าลืมว่าตำรวจ 5 นายที่ถูกยิงถล่มจนเสียชีวิตที่ อ.ทุ่งยางแดง เมื่อ 11 ก.ย. ก็เป็นตำรวจชุดปราบน้ำมันเถื่อน!
ฝ่ายความมั่นคงรับรู้รับทราบเรื่องนี้ดี จึงไปตั้งค่ายใหญ่ คือ "ค่ายวังพญา" ที่ อ.รามัน และปัจจุบันเป็นฐานบัญชาการของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 เพื่อชิงความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์
การเปิดยุทธการของฝ่ายรัฐในพื้นที่ดังกล่าว จึงส่งผลอย่างหนักต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ จนต้องเปิดปฏิบัติการตอบโต้ ล้างแค้น เอาคืนบ้าง
3.ช่วงนี้เป็นช่วงใกล้วันนัดพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่เหตุปัจจัยนี้มีแนววิเคราะห์หลายแนว ซึ่งไม่ชัดว่าข้อไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน กล่าวคือ
- แนววิเคราะห์ของเลขาธิการ สมช.และทีมงาน เชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งหากเป็นจริงก็น่าคิดว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวนไม่น้อยเลย เพราะสามารถก่อเหตุได้พร้อมเพรียงกันในหลายพื้นที่ และที่น่าคิดต่อไปก็คือ เป็นบีอาร์เอ็น (ฝ่ายต้านการพูดคุย) เพียงกลุ่มเดียว หรือมีกลุ่มอื่นผสมโรงด้วย เช่น กลุ่มพูโล (มีข่าวตั้งกองกำลังติดอาวุธชื่อ พีแอลเอ (Patani Liberation Army) แต่ปัญหาคือหากต่างกลุ่มกัน เหตุใดจึงปฏิบัติการได้อย่างมีเอกภาพ
- แนววิเคราะห์ของหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ เห็นว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น หรืออย่างน้อยก็ต้องแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการพูดคุยครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้
- มีข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงร้องขอให้เลื่อนวันพูดคุยออกไปจากวันที่ 20 ต.ค. เป็นหลังวันที่ 25 ต.ค. เพื่อให้ผ่านวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบไปก่อน จะได้ไม่มีการใช้ประเด็นตากใบในการสร้างสถานการณ์เพื่อส่งผลบวกหรือลบต่อการพูดคุย จุดนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งยอมรับ 5 ข้อเรียกร้อง เพราะเกรงว่าไทยอาจซื้อเวลาไปเรื่อยๆ จึงก่อเหตุรุนแรงเพื่อกดดัน
แต่คำถามที่มิอาจละเลยได้ก็คือ มาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ในเขตชุมชน...
บทสรุป ณ นาทีนี้ก็คือ เหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพนั้น หลายหน่วยให้น้ำหนักมากที่สุด เนื่องจากมีข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า "คำตอบ" ที่รัฐบาลไทยเตรียมไปตอบกับบีอาร์เอ็นในการพูดุคยครั้งหน้าเป็นแค่ "รับข้อเรียกร้องไว้พิจารณา" พร้อมเหตุผลประกอบในเชิงไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในข้อเรียกร้องที่ส่งมา
ที่สำคัญฝ่ายไทยเตรียมยื่นข้อเรียกร้องกลับไปบ้าง ตามที่ พล.ท.ภราดร แย้มพรายว่ามี 3 ข้อ ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงการเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นเคารพและยึดมั่นกระบวนการพูดคุย ตลอดจนเคารพในความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สวนทางกับ "หัวใจ" ของข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่มุ่งดำรง "อัตลักษณ์เดี่ยว" ของมลายูมุสลิมแต่เพียงด้านเดียว!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเหตุระเบิดตู้เอทีเอ็มในเขตตัวเมืองนราธิวาส
ขอบคุณ : ภาพจากชุดตรวจที่เกิดเหตุ