ส.ส.ปชป.ชงกทม.ขายพันธบัตรสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย-เฉ่งสก.อนุมัติงบดูงานเมืองนอกสูง
'อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี' ชงกทม.ขายพันธบัตร หวังใช้สร้างโรงบำบัดน้ำเสียเเทนปล่อยลงคูคลอง อัดสก.ละลายงบดูงานต่างประเทศพร่ำเพรื่อ นักกม.ชงย้ายองค์กรรัฐออกนอกเมือง ป้องชุมนุมยืดเยื้อกระทบคนเมือง
วันที่ 9 ต.ค. 2556 มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ร่วมกับ Siam Intelligence Unit จัดเสวนา ‘Unmet Needs Bangkok:กรุงเทพฯ (กทม.) กับความต้องการที่แท้จริง’ ณ โรงแรม บางกอกชฎา กรุงเทพฯ โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กทม. เขต 9 กล่าวว่า กทม.ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดีที่สุดในไทย แต่ยังประสบปัญหาขาดการบริหารงานขององค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ ทำให้หลายโครงการไม่สามารถเร่งรัดได้ ดังนั้นทุกพรรคการเมืองควรสลายความรู้สึกร่วมกัน พร้อมรวมการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง และกองบัญชาการตำรวนนครบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ขึ้นตรงกับกทม. เหมือนกับตำรวจดับเพลิง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ
นอกจากนี้ปัญหาลำคลองสายหลักกทม. เช่น คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ และคลองลาดพร้าว ที่มีสลัมตั้งอยู่เต็มสองฝั่งคลองนั้น นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมงบประมาณที่จะทำเขื่อนกั้นมาหลายปีแล้ว แต่ไม่สามารถให้ประชาชนขึ้นจากริมฝั่งได้ ทั้งที่รัฐบาลมีกลไกอยู่แล้วจากโครงการบ้านมั่นคง แต่ไปไม่รอด เพราะมือไม้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลลงมาช่วยโดยจับมือกับกทม.ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป ด้วยการออกมาตรการไล่รื้อ พร้อมมาตรการเยียวยาเข้ามาช่วยสมทบ
“งบประมาณกทม.มีมากพอจะสร้างเขื่อน แต่กทม.ไม่มีศักยภาพตามกฎหมายในการไล่รื้อและเยียวยาประชาชนในส่วนที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน”
สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียของกทม.นั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คลองไม่ใช่ที่ลงของน้ำเสีย แต่คลองต่าง ๆ ควรอยู่ในสถานะระบบการระบายน้ำจากผิวถนน ซึ่งปัจจุบันกทม.มีระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว แต่ไม่เต็ม 100% ทำให้ส่วนตัวมองกทม.ยัง "อุ้ยอ้าย" กับการดำเนินงานอยู่ อาจด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นจึงเสนอให้กทม.ออกพันธบัตรกู้เงินเหมือนในต่างประเทศ เพื่อนำเงินมาก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียต่อไป
นายอรรถวิชช์ กล่าววิพากษ์การบริหารงานของสภากทม.ด้วยว่า มีความแปลกประหลาด เนื่องจากสมาชิกสภากทม. (สก.) ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองจึงเสี่ยงที่จะเกิดการฮั้วในการพิจารณางบประมาณได้ เนื่องจากมีสก.ไม่เยอะ รู้จักกันหมด ฉะนั้นเวลาอภิปรายค้านหรือเสริมจึงเอื้อต่อการฮั้วสูง พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าพรรคการเมืองมีอำนาจในการคุมส.ส.ได้ แต่ไม่มีอำนาจคุมสก. ทำให้ที่ผ่านมากทม.อนุมัติงบศึกษาดูงานต่างประเทศสูงมาก จึงเรียกร้องให้จัดสรรงบดังกล่าวให้น้อยลง อีกทั้งควรกำหนดให้สก.ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อจะได้ควบคุมและคานอำนาจซึ่งกันและกัน
ด้านนายศิระ ลีปิพัฒนาวิทย์ มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงปัญหาการจราจรติดขัดในกทม.เกิดจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลพวงจากนโยบายรถยนต์คันแรก โดยข้อมูลปี 2552 กทม.มีรถยนต์ 5.9 ล้านคัน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 8 ล้านคัน ขณะที่ถนนในกทม.รองรับได้เพียง 1.6 ล้านคันเท่านั้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอนาคตจะมีปริมาณรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอีก
ส่วนระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แม้จะไม่สามารถช่วยบรรเทาการจราจรที่ติดขัดได้ ยิ่งเมื่อเทียบงบประมาณในการก่อสร้างที่สูงมาก อาจส่งผลให้ค่าโดยสารสูงตาม นายศิระ กล่าวว่า ก็แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น
“ปัญหาของกทม.เน้นเรื่องระบบขนส่งทางรางจนลืมระบบเสริมอื่น เช่น รถเมล์ ที่ไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนใช้บริการถึง 40% ของการเดินทางทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดที่ยังเข้าไม่ถึงทุกบ้าน” นายศิระ กล่าว และว่า ฉะนั้นการเดินและขี่จักรยาน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สามารถเข้าถึงได้ แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารบ้านเมืองกลับเน้นส่งเสริมการเดินทางด้วยรถยนต์เป็นหลักมากกว่า
ขณะที่นายอานนท์ นำภา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกทม.กับสิทธิการชุมนุมที่เท่าเทียมว่า ไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้สิทธิในการชุมนุมอย่างเสรีภาพ ดังนั้น หากเกิดการชุมนุมใหญ่ในกทม.จนต้องปิดถนน อนาคตควรจัดหาพื้นที่ชุมนุมที่รองรับคนได้หลายพันคน และเสนอให้ย้ายหน่วยงานภาครัฐที่มีการชุมนุมบ่อย ๆ ไปตั้งใหม่ตามหัวเมืองต่าง ๆ แทน ซึ่งหากกทม.สามารถแก้ปัญหาเชิงกายภาพได้ ประชาชนจะไม่รู้สึกได้รับผลกระทบ .