คกก.อิสระสิ่งแวดล้อม ชี้อีเอชไอเอโรงงานเคมีทีโอซีมาบตาพุดไม่เคลียร์
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2554 เวลา 12:10 น.
เขียนโดย
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
หมวดหมู่
คกก.อิสระสิ่งแวดล้อมเปิดเวทีระดมความเห็นนัดแรก โครงการโรงงานผลิตสารเคมี บ.ทีโอซี ในมาบตาพุด ชี้รายงานประเมินสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ ยังไม่เคลียร์ผลกระทบจากมะเร็ง-ระเบิด ติงบริษัทรวบรัดจัดเวทีรับฟังความเห็น 7 โครงการ ให้ข้อมูลชาวบ้านไม่ครบ
วันที่ 14 มิ.ย.54 คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำความเห็นประกอบโครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์ และเอทธิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ที่ จ.ระยอง โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น ชาวบ้านในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากโรงงาน หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ภาคเอกชน บริษัทและผู้ประกอบการ
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง รองประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการดังกล่าว และ กอสส.นำเสนอข้อค้นพบจากรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) และการพูดคุยกับชาวบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ว่าจากการทบทวนอีเอชไอเอยังมีคำถามในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับด้านวิศวกรรมและเทคนิค เช่น รายละเอียดการคำนวณความสมดุลของการใช้สารในกระบวนการผลิต ขั้นตอน และกระบวนการการปรับปรุงอุปกรณ์การผลิต การเปลี่ยนแปลงตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในโครงการ
“สารเอทธิลีนออกไซด์ นอกจากเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างคือเป็นก๊าซไวไฟสูงมาก อาจเกิดการระเบิดง่าย และการเก็บจะต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา เซลเซียส จึงมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่าจะเกิดอุบัติภัยได้ง่าย และหากเกิดอุบัติภัยขึ้นจะมีผลกระทบร้ายแรงมาก นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับเอทธิลีนออกไซด์ ทั้งในบรรยากาศทั่วไปและในสถานประกอบการ”
น.ส.เพ็ญโฉม ยังกล่าวว่า ในรายงานดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมถึงการประเมินผลกระทบของโครงการส่วนขยายระยะที่ 1 ในส่วนของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบที่ทางโครงการฯ ดำเนินไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.53 มีการจัดพร้อมกันกับอีก 7 โครงการ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการในเครือกลุ่ม ปตท.เคมีคอล ซึ่งการจัดให้ข้อมูลและฟังความเห็นจากชุมชนพร้อมกันในวันและเวลาเดียวกัน ทำให้ประชาชนหรือชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านี้ไม่สามารถทำ ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการรับฟังและให้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กอสส. ยังพบว่า การให้ข้อมูลต่อชุมชนของโครงการทีโอซี ยังไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์ของโครงการขยายระยะที่ 2
กรรมการ กอสส.กล่าวด้วยว่า ข้อคิดเห็นที่นำเสนอในวันนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากกระบวนต่างๆที่ทาง กอสส.จัดทำขึ้นรวมทั้งหมด 7 ขั้นตอน เช่น นอกจากการศึกษาจากตัวรายงานการประเมินผลกระทบฯ และการรับฟังข้อมูลจากตัวแทนของโครงการทีโอซีแล้ว มีการรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากชุมชน หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานหรือเอกสารทางวิชาการอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเปิดรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ผ่านช่องทางทางเว็ปไซต์ เว็ปบอร์ด โทรศัพท์ โทรสาร และอีเมล์ รวมไปถึงข้อพิจารณา นโยบายและแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล เช่น มติคณะรัฐมนตรี แผนลดและขจัดมลพิษฯ รายงานการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
“โครงการทีโอซีเป็นโครงการแรกที่เข้ามาสู่การพิจารณาของ กอสส. และเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นการทำงานของ กอสส.จึงต้องพิจารณาข้อมูลให้รอบด้านจากทุกภาคส่วน แม้ว่าข้อคิดเห็นจากเราจะเป็นแค่ความเห็นประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานอนุมัติ-อนุญาต แต่ชุมชนจะสามารถนำข้อคิดเห็นนี้ไปใช้ได้ในอนาคต”
สำหรับการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นแล้ว ได้มีการจัดกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ที่มาภาพ: http://hilight.kapook.com/view/43069