ยกเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว!!ผุดไอเดียจี้รัฐสั่งปตท.ระงับดำเนินกิจการในทะเล
วงประชุมกสม.จี้หน่วยงานรัฐ ศึกษาผลกระทบเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วทะเลระยองจริงจัง กำหนดขอบเขตพื้นที่ตามสถานการณ์จริง ไม่ให้ถูกชี้นำข้อมูล หลังพบข้อมูลสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพียบ -นักวิชาการ ผุดไอเดีย!!การสั่งให้ ปตท. ระงับดำเนินกิจการในทะเล
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีการจัดประชุมหารือระหว่างคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและตัวแทนภาครัฐ เรื่องการหาแนวทางตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล ในทะเล จ.ระยองและการเยียวยาผล กระทบอย่างเป็นธรรมแก่คนในพื้นที่ โดยการหารือใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในการหารือดังกล่าว นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร อนุกรรมการส่งเสริมและประสานเครือข่าย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่ในการศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ผลกระทบตามสถานการณ์จริง
“การตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รัฐต้องกระทำอย่างชัดเจนกว่านี้ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากกำหนดพื้นที่ไว้แคบตามที่เอกชนชี้นำ ผลวิจัยที่ได้มาก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหากไปเก็บตัวอย่างที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรวจสอบ ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง การที่เต่าตนุเสียชีวิต 3 ตัวในเวลา 3 สัปดาห์ ปลาโลมา เสียชีวิตอีก 3 ตัว ในเวลา 3 สัปดาห์ เกิดมาจากสาเหตุใด การวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ต้องสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างแท้จริง รัฐต้องสังเกตข้อมูลที่เป็นปรากฏการณ์เหล่านี้ และการเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นจริง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแก่ทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งประมง และการค้าชายหาดอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่อาชีพซึ่งเป็นผู้เสียหาย”
นางสมลักษณ์ ยังได้เรียกร้องถึงสิทธิความปลอดภัยด้านอาหาร เพราะปัจจุบันมีความพยายามโฆษณาให้รับประทานอาหารทะเลที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์พิษ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไร้สิทธิมนุษยธรรม
ขณะที่ รศ.ดร.เรณู เวชรัตน์พิมล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า กรมประมงควรส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกว่า ได้หอย ปู ปลา กุ้งมาเท่าไหร่ เพราะมันจะเป็นข้อพิสูจน์ มาเทียบกับที่ชาวประมงพูดว่าจับสองที่ไม่ได้ เพราะอะไร มีมลพิษ หรือไม่มีอาหารให้สัตว์ทะเลกิน ต้องสำรวจแพลงตอน สัตว์น้ำวันอ่อน เพื่อบ่งชี้ว่า ไม่มีเพราะอะไร เพราะน้ำมันดิบหรือเปล่า
“เพราะน้ำมันดิบรั่วไม่ใช่แค่ที่เสม็ด ดิฉันลงพื้นที่ไปหาดแม่รำพึงก็ยังมีน้ำมันอยู่ มันกระทบไปที่อื่นด้วย จึงขอให้กรมประมง ตรวจสอบ และเก็บบันทึกสถิติ เหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อ ช่วยแก้ปัญหาของชาวประมง เมื่อเขาไปร้องเรียน เอกสารจากราชการจะช่วยเขาได้”
ส่วน ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าน้ำมันดิบรั่วเท่าไหร่แน่ เพราะหนึ่งเดือนหลังน้ำมันรั่วพบว่าผลกระทบไปถึงชลบุรีแล้ว เนื่องจากชาวประมงที่อ่าวอุดม แหลมฉบัง ซึ่งเคยพบกับการปนเปื้อนเนื่องจากการใช้สารขจัดคราบน้ำมันแบบที่ PTTGC ใช้ ยืนยันว่าเป็นแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นที่อ่าวอุดม
ดร.สมนึก ยังเสนอว่าหน่วยงานรัฐควรต้องมีการทำวิจัยร่วมกับชาวประมงในพื้นที่ เช่น ถ้านักวิจัยออกเรือขอให้ชาวประมงออกเรือไปเก็บตัวอย่างด้วย เนื่องจากชาวประมงเขารู้ว่ามีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในจุดใดบ้าง ทั้งกับสัตว์หน้าดินทั้งหมดที่หนีไม่ได้ซึ่งมีสารพิษอยู่ในตัว และผลกระทบในบริเวณที่สัตว์น้ำหนีไปเพราะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้เราสามารถวางแผนฟื้นฟูทะเล จ.ระยองได้
ในช่วงท้ายของการหารือ นางสมพร หนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนกล่าวสรุปว่าควรตั้งคณะทำงานเป็น 2 ส่วน คือคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งควรเป็นกลุ่มอิสระที่ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างโปร่งใส
ส่วนที่สองคือคณะทำงานศึกษาผลกระทบที่เกิดกับชาวประมง ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างแค่ไหน โจทย์เป็นอย่างไร
“เราจะต้องศึกษาผลประทบที่ชัดเจนเพื่อจะนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ต่อเช่นนำไปดำเนินคดี ดังนั้น จึงต้องมีคณะทำงานตรวจสอบหรือศึกษาผลกระทบซึ่งถ้าเป็นการศึกษาผลกระทบ มีการเสนอว่าชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วยเพื่อออกแบบการทำงานร่วมกันและหากเราสื่อสารกับสาธารณะอย่างเป็นระบบ มีเวทีที่เปิดให้มีการถกเถียงได้อย่างเต็มที่ก็จะนำไปสู่การรายงานผลที่โปร่งใส ทั้งเห็นว่า ปตท. ก็สามารถเข้ามาร่วมตรวจสอบและให้ข้อมูลได้แต่ ปตท. ไม่จำเป็นต้องให้เงินสนับสนุนการดำเนินการใดๆ"
ส่วนนายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกเครือข่ายสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยองกล่าวกับสำนักข่าวอิศราภายหลังการประชุมหารือว่าเมื่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนจัดประชุมในครั้งนี้ตนก็เห็นว่าก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเพราะวันนี้ รัฐกับ ปตท. ก็กลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว
“จริงๆ แล้ว ชาวบ้านเป็นผู้เสียหาย แต่ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นจำเลย ทั้ง ปตท. และหน่วยงานรัฐในจังหวัดทำให้เราไม่สามารถไปพึ่งใครได้ วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าผลกระทบจริงๆ แล้วเป็นยังไง แต่มีความพยายามหาอาหารไปให้นักท่องเที่ยวกิน จริงๆ แล้ว ภายใน 1 เดือน 2 เดือน สารเคมีหมดแล้วหรือ ดังนั้น เราอยากให้น่วยงานของรัฐและปตท. ที่รัฐบาลก็มีหุ้นอยู่กว่า 50 เปอร์เซ็นตร์ มองเห็นว่าคุณทำสิ่งแวดล้อมเสียไปหมดแล้วควรจะใส่ใจกับสังคมบ้าง ถ้าวันนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน การที่ชาวบ้านออกมาฟ้องร้องมันก็หมายความว่าคุณไม่สนใจไม่ใส่ใจชาวบ้านเลยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น”
ขณะที่ รศ.ดร. เรณู กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่าตามหลักกฎหมาย เหตุการณ์นี้หน่วยงานของรัฐต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ก่อเหตุ แล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบของชาวประมง ทั้งยกตัวอย่างกรณีที่มอนทารา ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเขาพิสูจน์ข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายได้
“แต่รัฐไทยอ่อนแอ แค่ปัญหาที่วันนี้คนขุดหอยเสียบเขาเคยขุดได้เท่าไหร่ วันนี้ได้เท่าไหร่ ทำไมกรมประมงไม่ไปบันทึกสถิติ กลัวอะไรอยู่ ส่วนเส้นทางการนำเข้าน้ำมันดิบเวลาขนน้ำมันเข้าเขาก็ต้องรายงานกรมศุลกากรและกรมศุลกากรก็มีหน้าที่เก็บตัวอย่างไว้ด้วย"
รศ.ดร.เรณูเสนอด้วยว่าเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ควรนำไปสู่การสั่งให้ ปตท. ระงับการดำเนินกิจการทางทะเล
“ตอนนี้ ดิฉันกังวลกับท่อน้ำมันที่เป็นเครือข่ายโยงใยในอันดามันเยอะมาก ในอันดามันมีแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอยู่ 300 กว่าแท่น แต่ที่สำคัญคือ ทำไม EIA โครงการนี้ของ ปตท. ยังไม่เปิดเผย นั่นเป็นเพราะ EIA ไม่ผ่านใช่ไหม ดังนั้น ต้องยกระดับให้เป็น EHIA และจริงๆ แล้ว ตราบใดที่ EHIA ยังไม่แล้วเสร็จก็ควรต้องระงับการดำเนินการของเขาไว้ก่อน เพราะตอนนี้แม้จะเกิดน้ำมันดิบรั่วขึ้นที่ระยอง แต่เราควรต้องใช้มาตรการนี้กับที่อันดามันด้วย ถ้าโครงข่ายท่อน้ำมันของ ปตท. แตกอีกก็อันตรายมาก ส่วนการขนถ่ายในครั้งนี้ที่อ้างว่าคลื่นลมแรงก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะถ้าคลื่นลมแรงแล้วจะทำการขนถ่ายทำไม กรมเจ้าท่าก็ยืนยันว่าวันนั้นคลื่นลมไม่แรง” รศ.ดร. เรณูระบุ