ลาวเล็งสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ดร.ชัยยุทธ ชี้กระทบหนักด้านประมงสูงกว่าไชยะบุรี
ดร.ชัยยุทธ กังวลลาวเล็งสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ชี้หนักกว่าไซยะบุรี คาดอาจส่งกระทบยาวจาก จ.อุบลฯ-เชียงราย เผย คกก.แม่น้ำโขงของไทยเตรียมประชุมลงความเห็นสัปดาห์หน้า แจงเป็นพื้นที่อธิปไตยของลาว จะใช้วิธีเดียวกับไซยะบุรีไม่ได้
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.manager.co.th)
จากกรณีที่รัฐบาลประเทศลาว ได้แจ้งต่อหน่วยงานระหว่างรัฐบาลในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ ว่าจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำดอนสะโฮง ในเขตสีพันดอน ทางตอนใต้ของลาว ซึ่งทำให้เกิดการกระแสคัดค้านและตั้งข้อสังเกตในทางวิชาการว่า การก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว จะปิดกั้นการอพยพของปลา ส่งผลกระทบต่อการประมงน้ำจืด รวมถึงมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงจัดการประชุมฉุกเฉินโดยด่วนนั้น
รศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ เพิ่งได้รับการแจ้งจากทางรัฐบาลลาว ขณะนี้กำลังเริ่มอ่านเอกสารวิชาการ หาวิธีส่งผ่านข้อมูลสู่สาธารณะอย่างไร ให้เกิดความเข้าใจ โดยคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ในสัปดาห์หน้า รวมถึงกำลังพยายามวางระบบการติดตามผลกระทบที่แต่เดิมไม่เป็นกิจจะลักษณะและให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษามากขึ้น
"เรากำลังพยายามจะจัดระบบที่มีการถก ไม่ใช่วิธีที่ภาคประชาสังคม หรือภาคท้องถิ่นทำอยู่ขณะนี้ไม่ได้ผล เพราะในระดับนโยบาย ยกตัวอย่างประเทศจีนไม่มาฟังเสียงนกเสียงกา ในที่ประชุมหากไม่มีหลักฐาน หรือมีเหตุผลพอ เขาก็ไม่ตอบ จากนี้คิดว่าใครก็ตามที่จะวิพากษ์วิจารณ์ อยากให้ทำเป็นระบบ สนับสนุนเชิงข้อมูลวิชาการ มีการจัดประชุมเกิดขึ้น"
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก แต่ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีแม่น้ำโขง มีข้อตกลง ระหว่าง 4 ประเทศ ที่ทำให้การดำเนินการ การรับฟังต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ตกลงกันไว้ ไม่ใช่ตามระเบียบวิธีการภายในของแต่ละประเทศ โดยการแจ้งของประเทศลาว เป็นกระบวนการที่เรียกว่า notification ไม่เหมือนกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ในลำน้ำประธาน จึงต้องมีขั้นตอนการพิจารณาร่วมกัน ต้องทำความเข้าใจว่า การแจ้งข้อมูลครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละประเทศ ซึ่งลาวตีความว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เป็นการทำโครงการในพื้นที่อธิปไตยของลาว และตีความว่าไม่ได้อยู่ในลำน้ำสายหลัก หรือลำน้ำประธาน แต่เป็นแม่น้ำโขงที่แตกแขนง
"อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรีผู้ไม่เข้าใจก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า กระบวนการทำงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงไม่ครบถ้วน แต่เป็นการคิดที่ใช้กติกาภายในประเทศไทยมาจับ ซึ่งกรณีแม่น้ำโขงจะใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ นี่เป็นข้อจำกัดที่หลายคนอาจบอกว่า ข้อตกลงแม่น้ำโขงมีจุดอ่อน ส่วนตัวผมก็ยอมรับ แต่ให้ดีกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้อตกลง ไม่มีกติกาตรงกลาง ไม่มีสิทธิที่จะจัดประชุมอะไร คาดว่าจากนี้เขื่อนดอนสะโฮง จะมีคำถามโวยวายว่า คณะกรรมการไม่ทำหน้าที่ เป็นเสือกระดาษ ทำอะไรกับการตัดสินใจของประเทศลาวไม่ได้เกิดขึ้น" รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว และว่า สำหรับคณะกรรมการฯ ทางฝ่ายไทยจะเห็นด้วยกับวิธีการ วิธีคิด หรือการตีความเช่นนี้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สัญญาณเบื้องต้นชัดเจนว่ากัมพูชาไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร
"กระบวนการที่ฝ่ายไทยทำได้ คือออกหนังสือระบุข้อห่วงกังวลกลับไป คล้ายๆ กรณีเขื่อนไซยะบุรีและติดตามว่าทางลาวจะนำข้อห่วงกังวลไปพิจารณาอย่างไร จริงๆ แล้วก็ทำได้ไม่มาก ตามข้อตกลงไม่สามารถไปบังคับกันได้ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในเขตอธิปไตยของเขา แต่หากมีผลกระทบจะต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับที่ไทยจะทำเขื่อนชีบน ในโครงการ 3 แสนล้านบาทบริหารจัดการน้ำที่ จ.ชัยภูมิ เป็นความคิดที่เคยมีในอดีต เราแค่แจ้งให้เวียดนามและเขมรทราบ เพราะตีความว่าเป็นเขตอธิปไตยของเรา และต้องดูแลผลกระทบเอง จะเห็นว่า ไทยก็เคยมีเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ลงมือก่อสร้าง ครั้งนี้จะมาเริ่มโครงการใหม่ก็อาจเกิดคำถามเช่นเดียวกันว่ากรณีเขื่อนชีบนต้องแจ้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือไม่"
สำหรับประเด็นที่มีความอ่อนไหวเรื่องปลาและการประมงนั้น คณะกรรมการแม่น้ำโขง บอกว่า ทางคณะกรรมการฯ ต้องพิจารณาเอกสารให้ครบก่อนจึงจะให้ความเห็นได้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องประมงจะเป็นประเด็นที่ใหญ่ที่สุดของเขื่อนดอนสะโฮง
"ผมห่วงกังวลดอนสะโฮงมากกว่าเขื่อนไซยะบุรี เพราะความอ่อนไหวเรื่องการประมงมีผลกระทบสูงมาก ถ้ามีผลกระทบจะยาวตั้งแต่ จ.อุบลราชธานีไปจนถึง จ.เชียงราย แต่ต้องนำเอกสารวิชาการมาประเมินอีกที และให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประมงมาร่วมประเมินและให้ความเห็นด้วยจึงจะออกเป็นความเห็นของคณะกรรมการฯ ได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ แต่การเดินต้องเดินให้ถูก จะเดินแบบเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้"