‘ประชา’ โปรยยาหอมแก้ปัญหาคนจนไร้บ้าน-ยันคำพูดเชื่อถือได้
คนจนเมืองไร้บ้านชุมนุมกดดันรบ.-กทม.แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ‘ประชา พรหมนอก’ รับ 6 ข้อเสนอ ยืนยันเดินหน้าแก้ปัญหาจริงจัง ให้เชื่อมั่นคำพูดเชื่อถือได้-ไม่โกหก รองผู้ว่ากทม.รับลูกตั้งคกก.ร่วมทุกภาคส่วน
วันที่ 7 ต.ค. 2556 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.), เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคีเครือข่าย กว่า 100 คน ร่วมเดินขบวนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
กทม.รับตั้งคกก.แก้ไขคนจนเมืองไร้บ้าน-หารือนอกรอบต.ค.56
โดยในช่วงเช้าเครือข่ายฯ ได้นัดรวมตัวชุมนุมหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือต่อม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาคนจนเมืองไร้ที่อยู่อาศัยจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาและแก้ไขคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ครอบคลุมปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย, การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง หรือการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชน
ทั้งนี้ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ พร้อมกล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอทั้งหมด โดยจะเชิญตัวแทนเครือข่าย 5 คน ร่วมหารือนอกรอบภายในต.ค.นี้ ก่อนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินงานล่าช้า ต้องขออภัย เพราะขณะนี้ต้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมก่อน
ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขปัญหาฯ นั้น เครือข่ายฯ ได้ลงนามไว้แล้วสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ ซึ่งตามปกติของราชการ หากมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงใดแล้ว เมื่อไม่ได้ยกเลิก นั่นหมายถึงความตกลงนั้นยังมีอยู่ นอกเสียจากเครือข่ายฯ ต้องการเรียกร้องประเด็นอื่นก็สามารถเพิ่มเติมเข้าไปได้ ทั้งนี้ จะเร่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องโดยเร็ว
‘พฤณท์ สุวรรณทัต’ โผล่รับเรื่อง-ยันแก้ปัญหาเร็วที่สุด
จากนั้นเครือข่ายฯ ทั้งหมด ได้เคลื่อนตัวไปยังบริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คค.) มีข้อเรียกร้องสำคัญ คือ
1.กรณีชุมชนได้รับผลกระทบจากระบบรถไฟสายสีแดงชานเมือง ส่วนต่อขยายตลิ่งชัน-ศิริราช ซึ่งนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอให้พื้นที่นอกเขตรางบริเวณที่หยุดรถเป็นที่รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบของโครงการและให้เช่าภายในระยะเวลา 30 ปี ดังนั้น จึงให้นำเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาอนุมัติหลักการเช่าภายในต.ค.2556
2.กรณีศูนย์พักไร้บ้านบางกอกน้อย ขอให้ราคาค่าเช่าเท่ากับศูนย์คนไร้บ้านหมอชิต ในอัตราตร.ม.ละ 20 บาท/ปี โดยให้นำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการรถไฟฯ พิจารณาอนุมัติภายในต.ค.2556
3.กรณีการขอปรับสัญญาเช่าของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งจะต้องจ่ายค่าเช่าพร้อมกัน 1 พ.ย.ของทุกปี การรถไฟฯ ควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต.ค.2556
4.ให้เปิดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องภายในต.ค.2556
ทั้งนี้ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คค.) เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ พร้อมรับปากว่า ปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด แต่การแก้ไขจะต้องผ่านการพิจารณาโดยละเอียด ถูกต้อง และยุติธรรม
วอน ‘ยูเอ็น’ หยุดแก้ไขปัญหาคนจนไร้บ้านแบบ ‘เสือกระดาษ’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึงรมว.คค.แล้ว ได้เคลื่อนตัวมายังบริเวณหน้าองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ชักธงขึ้นเสา’ เพื่อสื่อถึงเจตนารมณ์ของการชุมนุมครั้งนี้ โดยธงสีขาวหมายถึงห้ามละเมิดสิทธิคนจน, ธงสีเหลืองหมายถึงยูเอ็นคือเสือกระดาษ, ธงสีฟ้าหมายถึงหยุดการไล่รื้อในอาเซียน,ธงสีเขียวหมายถึงธนาคารโลกต้องสนับสนุนการพัฒนาที่ชุมชนต้องการ และธงสีแดงหมายถึงหยุดการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อคนจน
พร้อมกับปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์การสหประชาชาติต่อการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของไทยและโลกว่า แม้เราจะเรียกร้องรณรงค์มานานหลายปี แต่การขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองและการไล่รื้อยังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย ขณะที่โวหารอันสวยหรูของผู้แทนองค์การสหประชาชาติจำนวนมากได้หันมาพูดถึงการช่วยเหลือคนจนในเมือง
แต่อย่างไรก็ดี หลายปีที่ผ่านมาเรามองว่าองค์การสหประชาชาติยังมีบทบาทน้อยเกินไปในการพยายามแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองและขจัดปัญหาการไล่รื้อ จึงขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติยุติการทำงานแบบเสือกระดาษ ซึ่งมิได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถใด ๆ ในการยุติหรือคลี่คลายปัญหาเลย แต่ควรหันมาให้ความสนใจปัญหาอย่างจริงจัง
‘ประชา พรหมนอก’ ยันไม่โกหกเดินหน้าแก้ไขปัญหาคนจน
กระทั่งช่วงบ่าย เครือข่ายฯ ได้มาชุมนุมปักหลักหน้าประตู 6 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างคาจากรัฐบาล ได้แก่ 1 .ให้รัฐบาลประกาศนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของคนจนเมืองและชนบทตามแนวทางชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ดินทำกินในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนองค์กรชุมชนเป็นตัวแทนร่วม
นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร รวมถึงต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และปัญหาที่ดินทำกินของคนจนเมือง และคนชนบทอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีภายใต้โครงการบ้านมั่นคงพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง
2.มาตรการด้านกฎหมายในการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เช่น ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน และกองทุนที่ดิน
3 .ปรับปรุงกฎหมายและยกเลิกทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นธรรมหรือกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชุมชน
4 .มาตรการเร่งด่วนให้กันเขตพื้นที่อุทยานออกจากเขตที่ดินของชุมชนทั่วประเทศภายในปี 2558
5.ให้ทบทวนและยกเลิกการออกผังรวมของจ.น่านและจ.ปราจีนบุรี เนื่องจากการทำผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมไม่เป็นธรรม
6. กรณีพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับชุมชนจนถึงขั้นจับกุมดำเนินคดี ขอให้ชะลอการดำเนินการและให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีผู้เดือดร้อนรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วย และให้แก้ไขระเบียบการใช้กองทุนยุติธรรมขยายให้ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นจับกุมจนถึงคดีสิ้นสุด
ทั้งนี้ ในระหว่างการหารือหลายชั่วโมง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุภรณ์ อัตตาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ออกมารับหนังสือ ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.ประชา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดูแลพี่น้องประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยความรับผิดชอบ โดยจะระดมความคิดจากทุกหน่วยงานภาครัฐมาประชุมร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เชื่อได้ว่าไม่มีโกหกและเป็นคำพูดที่เชื่อถือได้ .