รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค (Kittisak Prokati) รำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใจความว่า......
เวลาเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมนอนหลับอยู่บนโต๊ะทำงานในที่ทำการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนายกองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ในเวลานั้น มาปลุกผมให้ตื่นขึ้นแล้วบอกว่า “ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านใช้ปืนยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์จากด้านหอประชุมใหญ่ กำลังจะเข้ามาที่ อมธ.”
จากนั้นเขาก็ประคองผมซึ่งอิดโรยเพราะร่วมอดอาหารประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมร่วมกับคณะญาติวีรชน 14 ตุลา มาหลายวัน ไปส่งที่ตึกคณะวารสารศาสตร์ จากนั้นจารุพงษ์ก็บอกว่าจะไปช่วยพยุงผู้บาดเจ็บที่ยังหลงเหลืออยู่ด้านคณะนิติศาสตร์ แล้วจะกลับมาสมทบ
นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จารุพงษ์กับผมได้พบกัน
มาเห็นภาพเขาอีกครั้งก็พบว่า จารุพงษ์เสียชีวิตเสียแล้ว โดยมีผู้ที่ประกาศตนว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” หลายคนกำลังลากจารุพงษ์ไปบนสนามหญ้า โดยใช้ผ้ารัดคอเขาแล้วลากเขาไปบนพื้นสนามฟุตบอล คนเหล่านี้ล้วนแล้วคือคนไทยที่หัวใจสุมไว้ด้วยความเกลียดชังคนไทยด้วยกันที่เขาเห็นว่าเห็นต่างจากเขา อาฆาตคนที่เขาเชื่อว่าเป็น “ฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์” หรือนักศึกษาประชาชนที่อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น ถึงขนาดฆ่าได้เมื่อพบเห็น
คนจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจปราบจลาจล ตำรวจตระเวนชายแดน และฝูงชนที่บ้าคลั่งสังหารอย่างโหดร้ายในวันนั้น โดยการอ้างคำสั่งปริศนาของทางราชการ ที่ทุกวันนี้ยังตอบกันไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้อำนาจออกคำสั่งจับกุม หรือปราบปรามผู้ชุมนุม จนลุกลามกลายเป็นการสังหารหมู่ในครั้งนั้น รู้แน่แต่เพียงว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ ปฏิเสธว่าตนไม่ได้ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม
นอกจากจารุพงษ์แล้ว ยังมีเพื่อนนักศึกษาธรรมศาสตร์อีกหลายคนถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากระยะไกล เพื่อนนักศึกษารัฐศาสตร์จุฬา คนหนึ่งถูกรุมทำร้ายจนตาย บางคนถูกจับแขวนคอกับต้นมะขาม ทุบตีจนตาย ศพถูกเผาพร้อมยางรถยนต์ ใช้ลิ่มตอกอก ใช้ท่อนไม้ทิ่มแทงอวัยวะเพศ แล้วเปลือยศพประจาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อหน้าสาธารณชนบนท้องสนามหลวง ผู้เสียชีวิตบางรายไม่สามารถระบุชื่อได้ และหลายคนสูญหาย ไม่พบศพหรือปรากฏอยู่ในรายงานของทางราชการ จารุพงษ์ เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ทั้งหมดนี้ทำขึ้นภายใต้คำขวัญ “รักชาติ – ขวาพิฆาตซ้าย”
เช้านั้น ก่อนจะมีการบุกเข้าจับกุมนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ผมจึงอยู่ที่ตึกคณะวารสาร เสียงปืนมาจากทุกทิศทุกทาง กระสุนส่วนใหญ่พุ่งมาจากทิศทางหอประชุมใหญ่ และจากพิพิธภัณฑ์ ระหว่างที่ทำหน้าที่จัดลำเลียงให้คนวิ่งแทรกแนวกระสุนเพื่อเข้าไปหลบที่ตึกโดม ผมต้องทำหน้าที่ปลอบโยนให้ประชาชนที่ออหลบวิถีกระสุนกันอยู่ในตึกให้อยู่ในความสงบ แต่ระงับความชุลมุนไม่สำเร็จ
ระหว่างที่ผมพยายามตะโกนให้ทุกคนสงบท่ามกลางเสียงหวีดร้องด้วยความกลัวนั้นเอง ก็มีนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายคนหนึ่ง ก้าวขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ และร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “พ่อแม่พี่น้องขา วันนี้หนูว่าเราคงไม่รอดแน่แล้ว แต่ถ้าเราต้องตาย ขอให้คิดดูว่า เราควรตายด้วยความหวาดกลัวกระวนกระวาย หรือควรตายด้วยใจอันสงบ?”
ทันใดนั้น แม้เสียงปืนและระเบิดจะยังดังคำรามสนั่นอยู่รอบตัว แต่เหมือนผู้คนจะได้สติขึ้นมา แล้วก็สงบลงทันที ผมจึงพูดต่อว่า ต่อไปเจ้าหน้าที่จะเข้ามาควบคุมตัว ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ อย่าขัดขืน ผมใช้ประโยคที่เธอพูดไปปลอบใจผู้คนในตึกจนครบทุกชั้น ดูเหมือนทุกคนก็สงบลงได้ และรอเวลาให้เจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมตัว
ผมไม่ได้พบกับน้องนักเรียนหญิงคนนั้นอีก และไม่รู้จักชื่อของเธอด้วยซ้ำ แต่ยังระลึกถึงคำพูดของเธอเสมอ แม้ทุกวันนี้ ในใจก็ภาวนาให้เธอปลอดภัย เพราะเชื่อว่า ผู้ที่ครองสติได้มั่นคง มีธรรมในใจ แม้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนั้น คงจะหาทางรอดชีวิตจนได้
เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาควบคุมตัวพวกเราที่ตึกวารสารศาสตร์ เป็นชุดตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร ซึ่งบังคับให้พวกเราถอดเสื้อออก แล้วคลานลงบันไดไปที่ถนน แล้วคุมตัวไปให้นั่งก้มหน้าเอามือประสานไว้ที่ท้ายทอยรวมกันราวสองร้อยคนอยู่หลังตึก อมธ. หันหน้าเข้าหาโรงยิม พร้อมทั้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่ห้ามเงยหน้าขึ้นมอง จากตึกวารสารมาถึงหลังตึก อมธ. ระยะทางไม่ถึง 50 เมตร ผมเดินผ่านผู้คนที่นอนจมกองเลือดจำนวนราว 10 คน บางคนยังหายใจรวยริน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามมิให้ผู้ใดหยุดช่วยเหลือ
ที่จุดควบคุมตัวหลัง อมธ. นั่นเอง เจ้าหน้าที่ห้ามขยับตัว เงยหน้า หรือลุกขึ้น พร้อมทั้งคอยยิงปืนกลกราดระยะเหนือศีรษะเป็นระยะ จนฝุ่นและสะเก็ดปูนกระเด็นใส่ศีรษะพวกเราทั่วไปหมด ที่นั่นผมได้ยินคนกระซิบเรียกชื่อผมจากข้างหลัง แม้ไม่ได้หันไปมองก็ยังจำเสียงทุ้ม ๆ นั้นได้ว่าเป็นเสียงของ วัชรพันธ์ จันทรขจร รุ่นพี่นักกิจกรรมที่สนิทสนมกันคนหนึ่ง เขากระซิบว่า อีกไม่ช้าเขาคงยิงสังหารหมู่พวกเราทั้งหมด ถ้าเขาเริ่มระดมยิงพวกเราเมื่อใด ขอให้ลุกขึ้นและตะโกนว่า “ประชาธิปไตยจงเจริญ เผด็จการจงพินาศ” โชคดีที่เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น และเราถูกเคลื่อนย้ายไปควบคุมตัว โดยให้คลานเป็นแถวไปที่สนามฟุตบอลในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้นยังมีอีกมาก ทั้งถูกทำร้าย ถูกใส่ความ กล่าวหาต่าง ๆ นานา ที่ทำให้ผมเกือบเอาชีวิตไม่รอด เดชะบุญที่ผมหลุดรอดจากการประทุษร้ายและวิบากกรรมนั้นมา เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมตั้งใจว่า จะยึดมั่นในคำสอนที่ว่า คนเราแม้จะเห็นต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการใหญ่โตประการใด ก็ควรจะต้องพยายามหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้ได้ แก้ไขหรือลดทอนความขัดแย้งนั้นด้วยเหตุผล บนพื้นฐานของความจริง ด้วยความใจกว้าง ไม่ปล่อยให้ทิฐิ ความแค้น หรือความอาฆาต ชักนำไปสู่การประทุษร้ายประหัตประหารกัน
น่าหวาดเกรงก็แต่เพียงว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคมมาแล้ว 37 ปี ความจริงก็ยังไม่ปรากฏแจ่มแจ้ง และคนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังดูเหมือนจะยังสรุปบทเรียนบทนี้ไม่ได้
เราทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ขอจงมีเมตตาต่อกัน จงให้แก่ทุกคนตามส่วนที่เขาควรจะได้ อย่าได้หมกมุ่นอยู่ที่การเพ่งโทษ จองเวรซึ่งกันและกันเลย .
ที่มาภาพ:http://www.9dern.com/rsa/view.php?id=96