นี่ถ้าศึกษาก่อนคงไม่ได้ก่อสร้าง... ‘สนั่น ชูสกุล’ ฉายภาพความล้มเหลว 'โขง ชี มูล'
‘สนั่น ชูสกุล’ ยก ‘โครงการโขง ชี มูล’ ความล้มเหลวบริหารจัดการน้ำไทย เตือนรบ.เลิกคิดสร้างเขื่อนอีก เหตุไม่ใช่คำตอบการแก้ปัญหาที่ดี ชงศึกษาตรงไปตรงมา-เคารพสิทธิชุมชน-เหมาะสมกับระบบนิเวศ
นายสนั่น ชูสกุล นักพัฒนาอาวุโสพื้นที่อีสานใต้ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงโครงการสร้างเขื่อนตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ด้วยการยกโครงการโขง ชี มูล ขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่ไม่ผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน
‘โครงการ โขง ชี มูล’ เกิดจากแรงผลักดันทางการเมืองที่จะสร้างคะแนนนิยมต่อคนอีสาน อนุมัติโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จ.ขอนแก่น เมื่อ 8 เม.ย. 2532 หรือ 24 ปีที่แล้ว โดยเร่งรัดให้มีการก่อสร้างให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นผลงานของรัฐบาล
ส่วนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปในลักษณะทำไปศึกษาไป และเมื่อมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จึงมีการศึกษาผลกระทบต่อมา
นักพัฒนาอาวุโสฯ เล่าต่อว่า โครงการโขงชีมูลมีแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำในภาคอีสานถึง 21 เขื่อน และจะมีการขุดคลอง เจาะอุโมงค์ผันน้ำ
โครงการนี้จะทำ 3 ระยะ ใช้เวลา 42 ปี งบประมาณที่คำนวณเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จำนวน 288,000 ล้านบาท และมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพียงฉบับเดียวอย่างไม่ละเอียด! ซึ่งแม้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะไม่เห็นชอบและมีข้อคิดเห็นต่อผลกระทบและความไม่ชัดเจนของรายงานถึง 36 ประเด็น แต่ในที่สุด กลางปี 2536 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ
ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้ศึกษาเพิ่มเติมหลายเรื่อง ลักษณะทำไปศึกษาไป และทำเสร็จค่อยศึกษาก็ยังมี เช่นที่เขื่อนราษีไศล ก่อสร้างเสร็จ เก็บกักน้ำแล้ว ปีรุ่งขึ้นจึงมีการศึกษาเรื่องการชลประทาน ครอบคลุมข้อกังวลใหญ่ๆ เช่น การแพร่กระจายของน้ำเค็มดินเค็ม ป่าริมน้ำ หรือน้ำท่วมผิดปกติ
“ปัญหาสำคัญของโครงการเกิดจากการปิดบัง ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่สังคม ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และให้ข้อมูลเท็จ” นายสนั่น มองเห็นปัญหา และว่า ความจริงแล้วเชื่อว่าข้อมูลไม่เท็จ แต่เพราะไม่รู้จริงๆ ว่า น้ำจะท่วมขนาดไหน เพราะไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน
นักพัฒนาอาวุโสฯ กล่าวถึงเขื่อนราศีไศลว่า เป็นการสร้างฝายยางสูง 4.5 เมตร อ่างเก็บน้ำขนาด 12,500 ไร่ เมื่อสร้างจริงเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบเดียวกับเขื่อนปากมูล สูง 9 เมตร เมื่อถูกถามว่า อ่างเก็บน้ำกว้างเท่าไหร่ ก็แจ้งชาวบ้านว่า 38,500 ล้านลบ.ม. กระทั่งกรมชลประทานเข้ามารับผิดชอบต่อจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ตรวจสอบแจ้งว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 93,000 ไร่
สำหรับผลกระทบใหญ่สุด เขาบอกว่า คือการสูญเสียพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ และเป็นที่ทำกินของชาวบ้านโดยไม่มีแผนการชดเชยใดๆ มาก่อน จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งที่อื่น ๆ ก็เหมือนกัน เช่น เขื่อนกั้นแม่น้ำชี 3 เขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมผิดปกติทุกปี ชาวบ้านยังประท้วงกันอยู่ถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่เขื่อนหนองหานกุมภวาปี และเขื่อนห้วยหลวง
“เมื่อปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่มีฐานข้อมูลใดๆที่จะใช้ในการแก้ปัญหา เพราะไม่มีการศึกษากันก่อน เมื่อมีการศึกษาผลกระทบภายหลังการก่อสร้างถึงมีคำพูด ‘นี่ถ้ามีการศึกษาก่อนก็คงไม่ได้ก่อสร้าง’ ”
‘Destop Study’ ความล้มเหลว ‘โขง ชี มูล’ สู่แผนน้ำ 3.5 แสนล.
เมื่อถามถึงบทเรียนของโครงการโขงชีมูล นายสนั่น เห็นว่า จะไม่แตกต่างกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามผลักดัน
"ข้อมูลตัดสินใจอนุมัติของครม.ต่อโครงการโขงชีมูล เป็นข้อมูลที่วางแผนอยู่บนโต๊ะ (Destop Study) เท่านั้น จึงคิดว่าหลายโครงการในโครงการ 3.5 แสนล้านบาท มีข้อมูลประมาณนั้นในการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก"
นอกจากนี้ ‘การสร้างภาพความต้องการเขื่อนขึ้นมา’ เพราะเกษตรกรต้องการน้ำ รัฐส่วนกลางจึงคิดให้และมีคำตอบสำเร็จรูปว่าจะสร้างเขื่อน เท่ากับปิดประตูแนวทางการจัดการน้ำแบบอื่นๆที่อาจเหมาะสมกว่า และปลุกปั่นชาวบ้านให้ออกมาเป็นตัวประกอบ สร้างความชอบธรรมและต่อต้านบุคคลหรือองค์กรที่ทักท้วงตรวจสอบ
“บทเรียนโขงชีมูลบอกว่า คนที่เคยออกมาแห่เชียร์เขื่อน สร้างเสร็จก็รับกรรมและออกมาเรียกร้องอะไรมันก็สายไปแล้ว และยิ่งประสบความยุ่งยากเพราะปัญหาผลกระทบแก้ยาก เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น ไม่มีแผนในการแก้ไขป้องกันมาก่อน” นักพัฒนาอาวุโส กล่าว และว่า โครงการโขงชีมูล มุ่งแก้ความแห้งแล้ง แต่ทำให้เกิดน้ำท่วมผิดปกติอย่างที่แก้ยากที่สุด เพราะสร้างกั้นกลางแม่น้ำที่เป็นที่ราบ ซึ่งปัจจุบันนี้มีอย่างเดียวคือต้องขุดทางน้ำ ถึงขนาดรื้อเขื่อนทิ้งแล้วหาวิธีที่เหมาะสมกว่าในการจัดการน้ำในพื้นที่น้ำมูลน้ำชีและลำสาขา
นายสนั่น กล่าวอีกว่า แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบด้าน ไม่ควรใช้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มากดดันสังคมให้รีบๆ ผ่าน รีบๆ ก่อสร้าง ควรศึกษาทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย เรามีตัวอย่างดีๆ ที่ไม่ก่อผลกระทบและมีประโยชน์อยู่มาก โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กๆ ที่เป็นเทคโนโลยีระดับกลาง
เชื่อแผนจัดการน้ำมีคำตอบมากกว่า ‘เขื่อน’
ส่วนการจะสร้างเขื่อน 2 แห่ง ลุ่มน้ำชี ตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท คือ "อ่างเก็บน้ำชีบนและอ่างเก็บน้ำยางนาดี" จ.ชัยภูมิ นั้น นายสนั่น เชื่อว่า หน่วยงานรัฐอย่างกรมชลประทานได้ศึกษาเบื้องต้นไว้นานแล้ว แต่แบบจำลองของเขาต้องเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ซึ่งก่อผลกระทบกับพื้นที่ป่า ที่ทำกินของชาวบ้าน
“พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ขณะนี้ เราไม่ควรทำลายลงอีกแล้ว เหตุการณ์น้ำท่วมที่จ.สุรินทร์ปีนี้เห็นผลกระทบที่มีสาเหตุจากการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน เพราะจ.สุรินทร์มีพื้นที่ป่าเพียง 3.6 % ของพื้นที่จังหวัดเท่านั้น”
นักพัฒนาอาวุโสฯ ย้ำชัดว่า เมื่อสร้างเขื่อน มิได้สูญเสียพื้นที่ป่าเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำเท่านั้น ยังมีเปิดถนนเข้าไป และเสี่ยงต่อการตัดไม้สวมตอ อำนวยความสะดวกให้พวกลักลอบตัดไม้สวมตอ และต่อเนื่องถึงการลักลอบตัด บุกเบิกพื้นที่ป่าต่อไป ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยง
มีข้อมูลงานวิจัยเดิมๆ ของสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมที่ศึกษาเรื่องเขื่อนในลุ่มน้ำมูล พบประสิทธิภาพในการจัดการน้ำชลประทานในภาคอีสานมีเพียง 20-30 % เท่านั้น เพราะอีสานเป็นที่ราบลอนคลื่น ไม่สามารถจัดการชลประทานได้เหมือนภาคกลาง ทั้งยังมีการสูญเสียน้ำ เพราะดินเป็นทราย และยังมีอัตราการระเหยสูง
"แน่นอนที่พูดเช่นนี้ เหมือนจะขัดลาภพี่น้องอีสานที่จะได้น้ำ แต่ในฐานะที่รัฐต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบ จะต้องคิดเรื่องการจัดการน้ำที่มีทางเลือกมากกว่าคำตอบสำเร็จรูป-เขื่อน โดยเฉพาะถ้าเปิดโอกาสให้มีการศึกษา เสนอความรู้ ความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา เคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น เราจะได้ข้อเสนอดีๆ มากมาย"
ชงทุบ ‘เขื่อนปากมูล’ ก้าวแรกพัฒนาแหล่งน้ำมิติใหม่
เมื่อถามว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้น วันนี้เราต้องปรับปรุง ฟื้นฟู รื้อถอน เหมือนในสหรัฐฯ หรือไม่ นักพัฒนาอาวุโสฯ เสนอให้ เริ่มจากเขื่อนปากมูลก่อนเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็แบบเดียวกับที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องการกีดขวางทางเดินของปลา
มีผลการศึกษาจะไม่มีที่เก็บอยู่แล้วว่า ไม่คุ้ม ทั้งผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก การศึกษาของ ม.อุบลราชธานี วิจัยไทบ้าน และการศึกษาของคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าล้วนชัดเจนหมดแล้ว
เหลือแต่ความดื้อดึงของอำนาจรัฐเท่านั้นที่เอาเขื่อนนี้ไว้ !!
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฝากถึงรัฐบาล คือ ควรให้มีการประเมินผลทุกเขื่อนถึงความคุ้มค่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่น่าจะรื้อทิ้ง ปรับปรุง คงมีเขื่อนไม่น้อยที่ต้องรื้อทิ้งและหาทางจัดการน้ำแบบใหม่ที่เหมาะสมกว่าให้ประชาชน และควรทำควบคู่กันไปกับการศึกษาทางเลือกในการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ
“เราไม่เคยได้ศึกษาความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรจริงจัง แต่เท่าที่เห็นในรอบ 10 กว่าปี มีงานเหล่านี้อยู่กระจัดกระจาย เราต้องลงทุนเรื่องนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการลงทุนศึกษาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนเท่านั้น” นายสนั่น ทิ้งท้าย .