จับพิรุธคลิปอ้างนักรบฟาฏอนีถล่มอีโอดีรือเสาะ
วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ที่ศึกษาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ในความขัดแย้งทางการเมือง เคยประเมินเอาไว้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติการทางจิตวิทยามากขึ้น ทั้งต่อกลุ่มพวกเขาเอง และประชาชนทั่วไป
สอดรับกับบทประเมินสถานการณ์ไฟใต้ก่อนขึ้นปีที่ 10 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ระบุชัดว่าภัยคุกคามจากกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะกำลังขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ คือการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายรัฐ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มขบวนการต่อพี่น้องประชาชน
แรงสั่นสะเทือนจากคลิปวีดีโอแถลงข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ นอกโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเผยแพร่ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งผ่านเว็บไซต์ YouTube คงอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการเผยแพร่คลิปวีดีโอของชายปิดหน้าปิดตา 3 คนพร้อมอาวุธปืนครบมือ อ่านแถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นมติสภาซูรอของบีอาร์เอ็นสั่งล้มโต๊ะพูดคุยสันติภาพ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ซึ่งแม้ไม่มีใครรู้ว่าชาย 3 คนนั้นเป็นใคร และเสียงในคลิปก็ไม่ชัดเจน แต่เนื้อหาในคลิปกลับกลายเป็นข่าวครึกโครม
ไม่เว้นแม้กระทั่งคลิปที่สืบหาที่มาไม่ได้อย่างคลิปอ้างตัวเป็น "กลุ่มอัลกออิดะห์" ขู่ล่าสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.ค. ใกล้ๆ กับวันคล้ายวันเกิดของอดีตนายกฯคนดัง
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คลิปล่าสุดของบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น "นักรบฟาฏอนี" ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ YouTube เมื่อวันที่ 2 ต.ค.จะเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้กัน
พร้อมๆ กับการตั้งคำถามเหมือนๆ กับหลายคลิปที่ผ่านมาว่า...เป็นของจริงหรือถูกสวมรอย?
กอ.รมน.ปัด – หน่วยข่าวไม่ฟันธง
คลิปวีดีโอที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ใช้ชื่อว่า Fatoni Darulsalam (ตัวสะกดแตกต่างจากคลิปอื่นๆ ที่มีการอ้างถึง ฟาฏอนี และ ดารุสลาม) มีคำอธิบายใต้วีดีโอดังกล่าวอ้างว่า เป็นการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ที่กลับจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ย.2556
ในคลิปปรากฏภาพบุคคล 2 คน แต่งกายด้วยชุดสีดำคล้ายทหาร มีอาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ติดเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ปืนกลเอ็ม 60 พร้อมวิทยุสื่อสาร พูดจาด้วยภาษาอาหรับ โดยใช้ช่วงกลางๆ ของคลิปมีภาพชายชุดดำทำท่าทางยิงปืน และท้ายคลิปมีภาพนิ่งของชายกลุ่มนี้พร้อมอาวุธปืนอีกหลายภาพ มีชื่อ อับดุลเลาะ มามา เป็นผู้โพสต์ขึ้น YouTube
หลังจากคลิปชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป และมีเว็บไซต์ของสื่อกระแสหลักนำไปรายงานข่าว ก็มีท่าทีจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แทบจะทันที...
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า คลิปชิ้นนี้น่าจะเป็นการกล่าวอ้าง ไม่ใช่เรื่องจริง และต้องรอการพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ คิดว่าเป็นเพียงการเผยแพร่เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ก่อความไม่สงบ
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยข่าวความมั่นคง ระบุว่า กลุ่มที่แต่งกายคล้ายทหาร ปิดหน้าปิดตา ออกมาแสดงตัวพร้อมอาาวุธในคลิปวีดีโอ จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบกลุ่มได้ มีเพียงการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นบีอาร์เอ็นกลุ่มคัดค้านการพูดคุยสันติภาพ ส่วนอาวุธที่นำมาแสดงในคลิป ส่วนหนึ่งมาจากการปล้นค่ายปิเหล็ง หรือ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 และการปล้นฐานพระองค์ดำ หรือฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 19 ม.ค.2554
"เรื่องนี้ถ้ามองแง่ร้ายอาจเป็นพวกหัวรุนแรงที่ฝ่านการฝึกมาอย่างดี แต่ถ้ามองในแง่ดี อาจเป็นการกระทำของวัยรุ่นชายแดนใต้ไม่กี่คนที่สร้างเรื่องเพราะอยากสร้างจุดสนใจ"
เป็นบทวิเคราะห์แบบไม่ฟันธงของหน่วยข่าวความมั่นคง!
ล้วงลึก "ปืน" ในคลิปเทียบเหตุโจมตีอีโอดี
จากการตรวจสอบย้อนหลังเหตุการณ์ที่อ้างถึงในคลิป คือเหตุการณ์คนร้ายลอบซุ่มยิงขบวนรถของเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดี บนภูเขาตะโละหะลอ เขตรอยต่อระหว่าง อ.รือเสาะ กับ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่อีโอดีได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 นาย และมีตำรวจ สภ.บาเจาะ จ.นราธิวาส พลีชีพอีก 5 นายเนื่องจากรถคว่ำขณะนำกำลังรุดไปช่วยเจ้าหน้าที่อีโอดีนั้น
ปรากฏว่าในรายงานการตรวจจุดเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พบร่องรอยของอาวุธปืนที่คนร้ายใช้ในเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 กระบอก อาวุธปืน เอชเค 33 จำนวน 1 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. (เอ็ม79) จำนวน 1 กระบอก และอาวุธปืนกล เอ็ม 60 จำนวน 3 กระบอก
เมื่อตรวจสอบลึกลงไปถึงอาวุธปืนเหล่านี้ พบคนร้ายเคยใช้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในพื้นที่ อ.ตากใบ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ช่วงปี 2554-2555 โดยเฉพาะปืนกล เอ็ม 60 เป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่เคยใช้ก่อเหตุยิงจุดตรวจไพรวัน อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2554
ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่าอาวุธปืนชุดนี้เคยใช้ก่อเหตุในลักษณะโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในเชิงปรามหรือข่มขู่ โดยเฉพาะที่ อ.ตากใบ ซึ่งเป็นจุดเข้า-ออกของเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อน จึงให้น้ำหนักไปที่กลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายเป็นผู้บงการ โดยใช้กลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการเป็นผู้ก่อเหตุ
เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้กับอาวุธปืนที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ...เป็นชนิดเดียวกัน!
แฉจัดฉาก-มีเสียงปืนแต่ไม่ได้ยิงจริง
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่เป็นนักเขียนประจำนิตยสารออนไลน์ (e-book) ชื่อ Gun and Vest เจ้าของนามปากกา Zenith
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ภายหลังได้ดูคลิปวีดีโออย่างละเอียดหลายรอบว่า อาวุธปืนที่ปรากฏอยู่ในคลิปประกอบด้วย อาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 1 ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 203 (เอ็ม 79) จำนวน 1 กระบอก
ส่วนปืนกลมี 2 กระบอก แต่ไม่ใช่รุ่นเดียวกัน คือ ปืนกล เอ็ม 60 จำนวน 1 กระบอก และปืนกล เอ็ม 240 หรือ MAG 58 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งทั้งหมดเป็นอาวุธปืนสงครามที่ใช้ในทางการทหาร
จากการดูคลิปซ้ำๆ หลายรอบพบข้อสังเกตที่ผิดปกติหลายจุดด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ชายในคลิปกำลังยิงอาวุธปืน
จุดแรก ขณะที่กำลังยิงอาวุธปืนกล การเคลื่อนตัวของสายกระสุน ไม่มีการขยับ ซึ่งถือว่าผิดปกติของการยิงปืนกล เพราะสายกระสุนจะเคลื่อนเข้าหากระบอกปืนขณะยิง แต่ข้อสังเกตนี้อาจมีข้อโต้แย้งได้ในเรื่องของคุณภาพกล้องที่ถ่ายและการเคลื่อนไหวของชายในภาพ อาจทำให้ปรากฏไม่ชัดเจน
จุดที่สอง ขณะที่มีการยิงปืนกลออกไป ด้านหน้ามีพุ่มไม้ ต้นไม้ แต่ไม่มีแรงทำให้กิ่งไม้ไหว ทุกอย่างดูนิ่งเหมือนไม่มีการยิงออกมาจากปืนกลกระบอกดังกล่าวเลย
จุดที่สาม เป็นจุดที่สังเกตได้ชัดเจนมาก คือการยิงปืนกล เอ็ม 60 หรือ ปืนกล เอ็ม 240 สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นขณะยิง คือ เขม่าดินปืน โดยปืนกลประเภทนี้ เขม่าขณะยิงจะปรากฏชัดเจนมาก แต่ในคลิปนี้ไม่มีให้เห็น
จุดที่สี่ ข้อกระสุนที่ใช้รัดกระสุนปืนกล หลังจากยิงแล้ว ข้อกระสุนจะต้องตกลงด้านล่างของปืนและใกล้กับปืน ไม่ได้กระเด็นออกห่างจากตัวปืนเหมือนปลอกกระสุนปืนชนิดอื่น แต่ในคลิปไม่ปรากฏข้อกระสุนหลังจากยิงปืนเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้สรุปว่า บุคคลในคลิปจะเป็นกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุโจมตีชุดอีโอดีหรือไม่ คงไม่สามารถบอกได้ แต่การยิงปืนในคลิปดังกล่าว จากจุดสังเกต 4 จุดที่เป็นพิรุธ บอกได้เลยว่าเป็นการจัดฉากขึ้น แม้จะมีเสียงปืนจริง แต่ไม่ได้มีการยิงปืนจากปืนกลที่ปรากฎอยู่ในคลิปแต่อย่างใด...ฟันธง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพจากคลิปวีดีโอปริศนา