ชำแหละมรดกหนี้ ธพส. พบ สคร.เคยท้วง!หลายโครงการส่อ“ไม่โปร่งใส”
ชำแหละ"ที่มา"มรดกหนี้ ธพส. พบ สคร. เคยท้วง! หลายประเด็น “ไม่โปร่งใส” เพียบ ทั้งเบิกจ่ายเงิน – จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ –เก็บค่าเช่า รวมถึงจัดการจราจร เผยข้อสังเกตทางกม.การพัฒนาโครงการ ส่อเข้าข่ายแข่งขันเอกชน?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับที่มาปัญหาภาระหนี้สินของ บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ว่า จากการตรวจสอบพบว่าสืบเนื่องมาจากนับแต่ริเริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่กำหนดงบลงทุนไว้ 19,016 ล้านบาท แต่ต้องเพิ่มวงเงินอีก 2,166.44 ล้านบาท กลายเป็น 21,182.44 ล้านบาท
ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้งบบานปลายเนื่องจากมีการจ่ายเงินค่าปรับปรุงตกแต่งล่วงหน้าให้หน่วยงานในศูนย์ราชการไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท จนทำให้ ธพส. ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทยอีกหลายร้อยล้านบาทแล้ว และยังมีอีกหลายโครงการของ ธพส.ที่ประสบปัญหาในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการบ้านธนารักษ์” ซึ่งประกอบด้วยโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี, โครงการบ้านธนารักษ์สุพรรณบุรี, โครงการบ้านธนารักษ์เชียงใหม่และโครงการบ้านธนารักษ์ภูเก็ต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า โครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี เป็นหนึ่งในโครงการที่มีผู้ร้องเรียนถึงความล่าช้า โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการเคยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ธพส. ถึงสาเหตุที่ล่าช้าว่า เนื่องจากเดิมที ธพส.ได้ว่าจ้างบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี โดยสัญญาก่อสร้างสิ้นสุดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 แต่เนื่องจากบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ธพส. จึงได้ยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554
จากนั้น มติคณะกรรมการ ธพส. มีคำสั่งให้ฝ่ายจัดการจัดหาบุคคลที่สาม (Third Party) ทำการตรวจสอบประมาณการมูลค่างานก่อสร้างที่เหลือค้าง ก่อนนำไปใช้เป็นราคากลางในการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ โดย ธพส. ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบปริมาณงานที่เหลืออยู่ ซึ่ง สจล.ตรวจสอบพบว่ามีมูลค่าคงเหลือทั้งสิ้น 134.49 ล้านบาท (อาคาร 1-8) ทั้งนี้ไม่รวมค่าก่อสร้างสาธารณูปโภคภายนอกอาคาร
แต่เนื่องจากการดำเนินการจัดจ้างครั้งนี้จะดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของอาคาร 1-6 ฝ่ายบริหารโครงการของ ธพส. จึงได้ตรวจสอบราคาประเมินงานก่อสร้างของอาคาร 7และ 8 ที่ สจล. ได้ประเมินไว้ มีมูลค่าประมาณ 63.27 ล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือมูลค่างานของอาคาร 1-6 เป็นเงิน 71.22 ล้านบาท และในส่วนของค่าก่อสร้างสาธารณูปโภคภายนอกอาคารรวมถึงความเสียหายจากการหยุดการก่อสร้างเป็นเวลานาน คิดเป็นมูลค่างานเพิ่มเติม 21.84 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่างานก่อสร้างทั้งสิ้น 93.06 ล้านบาท
จากนั้น ฝ่ายบริหารโครงการได้มีการติดต่อผู้รับจ้างหลายรายเข้าสำรวจงานที่เหลือ ได้แก่
1. บริษัท ซินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เสนอราคา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 151.23 ล้านบาท
2. Since 24 company limited เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้เสนอราคา
3. บริษัทไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555 เสนอราคา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 89,994,076.17 บาท
4. บริษัท เกษมวิศว์ จำกัด เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 และได้แจ้งราคาให้ทราบทางโทรศัพท์ เป็นเงินทั้งสิ้น 132,669,329.94 บาท
ทั้งนี้ ในการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินการจ้างฯ ได้เชิญ บริษัทไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เจรจาข้อเสนอราคา ซึ่งภายหลังการเจรจาได้ข้อยุติคือ บริษัทไบ-เทคฯ ยินดีปรับราคาลงเหลือ 89,900,000.00 บาท ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพส. มีมติอนุมัติจัดจ้างบริษัท ไบ-เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี (ส่วนที่เหลือ) อาคาร 1,2,3,4,5 และ 6 ในวงเงิน 89,000,000 บาท
สำหรับกรณีที่ ธพส. อนุมัติจัดจ้างบริษัทไบ-เทคฯ นายประสิทธิ์ สืบชนะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการและเลขานุการ ธพส. เคยสอบถามผู้จัดการส่วนบริหารโครงการ 2 ถึงเกณฑ์การประมาณราคา ได้รับคำตอบว่า นำการประมาณราคาจาก Third Party ของอาคาร 1-6 ประมาณ 71.22 ล้านบาท มารวมกับปริมาณงานที่ได้เพิ่มเติมในส่วนของการก่อสร้างสาธารณูปโภคภายนอกอาคาร และความเสียหายจากการหยุดการก่อสร้างเป็นเวลานาน เป็นเงิน 21.84 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 93.06 ล้านบาท และเนื่องจากปัจจุบันราคาวัสดุอุปกรณ์สูงขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายบริหารด้านสนับสนุน ในขณะนั้นอธิบายด้วยว่า“บริษัท ไบ-เทคฯ ที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์นนทบุรี เป็นผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล้อปเมนต์ ซึ่งเคยร่วมงานโครงการศูนย์ราชการฯ และเคยรับงานของกระทรวงแรงงาน วังทวีวัฒนา, R.S Tower III Building ประกอบกับเนื้องานคงเหลือส่วนใหญ่เป็นงานระบบ หากได้ผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญงานระบบ คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จ”
จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพส. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เคยเสนอให้ธพส. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินและการบริหารจัดการในองค์กร เนื่องจาก สคร. พบว่า ธพส. มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าประมาณการณ์รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ สคร.จึงเสนอแนะให้ ธพส. กำหนดหลักเกณฑ์แจกแจงค่าใช้จ่ายในรายการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกำหนดผู้รับผิดชอบที่เหมาะสมชัดเจน
นอกจากนี้ สคร. เคยให้ข้อเสนอแนะถึงปัญหาการดำเนินการโครงการบ้านธนารักษ์ว่าไม่สามารถโอนและก่อสร้างได้ตามกำหนด โดยบ้านธนารักษ์จังหวัดภูเก็ตและสุพรรณบุรี สคร. เคยขอให้ฝ่ายจัดการของ ธพส.เข้าไปดูแลการดำเนินการในขั้นตอนอนุมัติสินเชื่อและจดจำนอง เนื่องจากพบว่ามีความล่าช้า, บ้านธนารักษ์จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ฝ่ายจัดการเข้าไปดูแลการดำเนินการในขั้นตอนอนุมัติสินเชื่อและจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการปรับปรุงบ้านให้ถูกต้องตามแบบ, บ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี ขอให้ฝ่ายจัดการเร่งจัดหาผู้รับเหมามาดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
สคร. ยังมีข้อสังเกตในด้านต่างๆ ต่อ ธพส. เพิ่มเติม อาทิ เรื่องความโปร่งใสในการเบิกจ่ายเงินโครงการบ้านธนารักษ์จังหวัดนนทบุรี, การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการบริหารจัดการศูนย์ประชุมและโรงแรม, การเก็บค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภคร้านค้าในศูนย์ราชการฯ, การจัดการจราจรในศูนย์ราชการฯ และถนนแจ้ง-วัฒนะ นอกจากนี้ สคร. ยังมีข้อสังเกตในทางกฎหมายว่าการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ ธพส. เข้าข่ายเป็นการแข่งขันกับเอกชนหรือไม่
ทั้งนี้ นอกจากเร่งดำเนินการโครงการบ้านธนารักษ์แล้ว สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบอีกว่าตามแผนยุทธศาสตร์ของ ธพส. ในปี 2558 ตั้งเป้าไว้ว่าจะบริหารจัดการโครงการลงทุนตามแนวนโยบายของภาครัฐอีก 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลง บบส. มีงบประมาณลงทุนเริ่มต้น 528,250,000 บาท
2. โครงการก่อสร้างอาคารศาลปกครอง 2 โดยสำนักงานศาลปกครอง ได้มีหนังสือขอให้ ธพส. จัดสร้างอาคารศาลปกครองเพิ่มเติม (อาคาร 2) ให้มีพื้นที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 50,000 ตารางเมตร พร้อมที่จอดรถ โดยขอพิจารณาใช้พื้นที่บริเวณลานพลาซ่า A จำนวน 8 ไร่ ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ซึ่งฝ่ายบริหารโครงการของ ธพส. ได้จัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการก่อสร้างอาคารศาลปกครองส่วนขยายศูนย์ราชการฯ เพื่อใช้ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลปกครองส่วนขยาย โดยสรุปงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการก่อสร้างปี 2555 เป็นเงิน 2,700 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน
3. โครงการศึกษาความต้องการพื้นที่ส่วนขยายโซน C ของศูนย์ราชการ
4. โครงการพัฒนาทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในต่างประเทศร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ
5. โครงการศึกษาการร่วมลงทุนกับเอกชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพส. ยืนยันว่าการพัฒนาพื้นที่โซน C อยู่ในแผนยุทธศาสตร์จริง โดยปัจจุบันกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่าควรจะพัฒนาในรูปแบบใด