ถอดบทเรียน 16 ปีสิทธิ ปชช.เข้าชื่อเสนอกม.ยังไม่พ้นกับดักการเมือง
เวทีถอดบทเรียน 16 ปี ปชช.ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกม. 44 ฉบับ ยังไม่พ้นกับดักการเมือง นักการเมืองมีสิทธิขาดในการตัดสิน ชี้ต้องใช้พลังมวลชนกดดัน ติดตาม เล็งล่าล้านรายชื่อผลักดันร่างกม.ช่วยคนจน 4 ฉบับ
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.consumerthai.org)
วันที่ 5 ตุลาคม คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักประสานการพัฒนาเพื่อสังคมสุขภาวะ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสาธารณะ "บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน" ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ.
โดยมี น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้ผลักดันร่างกฎหมายประกันสังคม น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน ผู้ผลักดันร่างกฎหมายป่าชุมชน นายประยงค์ ดอกลำไย ผู้ผลักดันร่างกฎหมายสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร และดร.ภูมิ มูลศิลป์ ผู้ผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยน
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้สิทธิภาคประชาชนสามารถเป็นกรรมาธิการหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นความหวังของการเสนอกฎหมาย แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีรายชื่อกรรมาธิการจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่กฎหมายรับรอง ทำให้เราวิตกกังวลอย่างมากในสถานการณ์เช่นนี้
"การไม่รับร่างประชาชน สะท้อนสิทธิประชาชนในทางการเมือง สิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนกฎหมายภาคประชาชนหลังจากนี้ คือ พลังมวลชน ที่ต้องกดดันและติดตาม"
ด้านนายอนันต์ กล่าวถึงอุปสรรคในเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนว่าขั้นตอนการล่ารายชื่อเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจสิทธิที่มี เส้นทางการผลักดันกฎหมายของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ระบุในรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีปัญหาในการตีความภาษาที่ใช้ในการร่างข้อกฎหมาย ใช้เวลายาวนานในการผลักดัน แต่ท้ายที่สุดกฎหมายฉบับภาคประชาชนก็ไม่ได้รับการพิจารณา
ขณะที่น.ส.บุญยืน กล่าวว่า จากรัฐธรรมนูญ 2540-2550 ภาคประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อ แต่ไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย ขณะที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิ ไม่ใช้สิทธิ และมักถูกเอาเปรียบ ส่วนปัญหาในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่พบคือขั้นตอนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องใช้เอกสารสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน ที่สำคัญต้องในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายต้องสู้กับอำนาจการเมือง ขึ้นอยู่กับนักการเมืองในการตัดสิน
ด้านดร.ภูมิ กล่าวว่า ปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนที่สำคัญคือ ทัศนคติของนักการเมือง ที่มี 2 ลักษณะ คือ มองในเชิงที่ไว้ใจกับไม่ใจไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการพิจารณากฎหมาย ถ้ารัฐไว้ใจประชาชนร่างกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนมิใช่การจำกัดสิทธิ
ส่วนนายประยงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาการถือครองที่ดิน การกระจุกตัวของที่ดินส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มนายทุน ฉะนั้นหลักการใหญ่ต้องการผลักดันร่างกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ได้แก่ พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
"อยากให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ โดยได้เตรียมล่ารายชื่อให้ได้ครบ 1 ล้านรายชื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวที่สะท้อนปัญหาและความต้องการของคนส่วนใหญ่ อีกทั้ง เป็นการท้าทาย ส.ส. และส.ว.ที่ได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง 1 ล้านคะแนนที่มักจะอ้างอยู่เสมอว่ามีที่มาจากประชาชน"
ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงสถานการณ์กฎหมายเข้าชื่อโดยภาคประชาชนว่า นับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนเสนอกฎหมายรวมทั้งสิ้น 44 ฉบับ คปก.ได้จำแนกกฎหมายออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มวิชาชีพ 2.กลุ่มกระจายอำนาจ 3.กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความเสมอภาคระหว่างเพศ 5.กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค 6.กลุ่มการมีส่วนร่วม 7.กลุ่มกระบวนการยุติธรรม 8.กลุ่มสวัสดิการสังคม โดยกฎหมายทุกกลุ่มทั้ง 44 ฉบับ มีประชาชนเข้าชื่อจำนวนมาก ตนจึงเห็นว่า ภาคประชาชนควรผนึกกำลังร่วมกันในการเสนอกฎหมาย เชื่อว่าจะมีพลังในการขับเคลื่อนกฎหมายทั้ง 44 ฉบับได้สำเร็จ