ปัญหาคอร์รัปชันไทย ใครแก้ได้
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2556 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)ได้จัดสัมมนาและรณรงค์เพื่อหาทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังขยายตัวอยู่ในประเทศไทย จนหลายคนโดยเฉพาะภาคธุรกิจกังวลและคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมจึงขออนุญาตถือโอกาสนี้แบ่งปันความคิดเพื่อการถกเถียงกันต่อไปว่า ใครที่น่าจะเป็นแกนนำขับเคลื่อนเรื่องนี้มากที่สุด โดยขอวิเคราะห์แบบแยกคนไทยออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ (1) ประชาชน (2) นักธุรกิจ (3) นักวิชาการ (4) สื่อมวลชน (5) กลุ่มขับเคลื่อนหรือเอ็นจีโอ (6) เจ้าหน้าที่รัฐ (7) นักการเมือง และ (8) รัฐบาล
1. ประชาชน
คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่ามีปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ที่เดือดร้อนโดยตรงกับปัญหาคอร์รัปชันเพราะเป็นผู้ที่เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากเงินเดือนหรือภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ(แวต) แต่โดยทั่วไปก็ดูจะไม่รู้สึกรู้สาหรือทุกข์ทรมานกับปัญหานี้มากนัก เพราะไม่ได้เป็นผลกระทบที่เห็นได้ตรงๆและคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงยังมองไม่เห็นว่าประชาชนไทยจะพากันลุกออกมาเดินบนถนนเพื่อต่อสู้ ให้แก้ปัญหานี้ในเร็ววัน ณวันนี้ เราจึงยังไม่สามารถพึ่งพลังจากประชาชนได้มากนัก
2. นักธุรกิจ
คนกลุ่มนี้แม้อีกหมวกหนึ่งจะเป็นประชาชนด้วย แต่หมวกอีกใบในบทบาทนักธุรกิจดูจะใหญ่กว่าและมีอิทธิพลมากกว่า คนกลุ่มนี้แม้จะต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทางในกระบวนการคอร์รัปชัน แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่จริงๆแล้วไม่เดือดร้อนกับการจ่ายนี้ เพราะเมื่อสาวไปถึงปลายทางของวงจรบริโภค นักธุรกิจก็สามารถส่งถ่าย‘ค่าใช้จ่าย’นี้ไปยังผู้บริโภคสุดท้ายซึ่งก็คือประชาชนได้อยู่ดี
แต่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหานี้ทุกวันในยุคปัจจุบัน ประกอบกับกลุ่มคนนี้มักเป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด ความเข้าใจปัญหาของสังคม รวมทั้งสามารถมองไปไกลๆในอนาคตได้ จึงเป็นกลุ่มที่เห็นปัญหาและต้องทนทุกข์ทรมาน(suffer)กับสภาพที่ต้องเผชิญ และเป็นผู้ที่เดือดร้อนทางใจมาก จนในที่สุดต้องรวมตัวกันก่อตั้งองค์การต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นดังที่รับรู้กัน
3. นักวิชาการ
คนกลุ่มนี้มีข้อเด่นที่มีพลังทางความรู้และความสนใจที่จะแก้ปัญหาของสังคมเป็นพื้นฐาน แต่มีข้อด้อยที่ไม่มีพลังและทักษะในการเอาความรู้นั้นมาขับเคลื่อน ยังต้องพึ่งพิงพลังภาคประชาชน นักการเมือง และสื่อมวลชน คนกลุ่มนี้แม้จะมีประโยชน์มหาศาลแต่ก็ไม่สามารถพึ่งพาได้อย่างหมดจดเต็มบริบูรณ์
4. สื่อมวลชน กลุ่มนี้ในอดีตถือว่าเป็นกลุ่ม‘ใจถึง พึ่งได้’ แต่จากสภาพสังคมปัจจุบันที่หันไปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและรายได้ รวมทั้งตัวชี้วัดที่ต้องตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นมากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงมีส่วนของ‘ใจไม่ถึง พึ่งไม่ได้’รวมอยู่ด้วยมากขึ้น พวกนี้ได้รับการยอมรับและขนานนามว่าเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน แต่ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์อะไร จะแข็งแรงดุดันแบบสุนัขบางแก้ว หรือเอาแต่เห่าใบตองแห้งแบบชิวาวา หรือดุก็ได้ไม่ดุก็ได้แล้วแต่การฝึกสอนแบบโดเบอร์มาน แต่ทั้งหมดนี้มีข้อเด่น(ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อดี)เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย หากถูกเลี้ยงดูโดยนายขี้ฉ้อสุนัขตัวนั้นจะพิทักษ์ประโยชน์ของนายขี้ฉ้อผู้นั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตาสมกับ‘ความเป็นหมา’ของมัน
คนกลุ่มนี้สามารถสร้างกระแสต่อต้านการคอร์รัปชันได้ แต่คนกลุ่มนี้อีกเช่นกัน(แต่คนละพวก)ที่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องเบาๆไม่ซีเรียสก็ได้ โดยสรุปคนกลุ่มนี้ในภาพรวมในปัจจุบันจึงดูจะพึ่งไม่ได้มากหากต้องการจะให้เป็นตัวหลักในการสร้างกระแสสังคมให้สุกงอมและชักจูงให้พลังประชาชนออกมากดดันทุกภาคส่วน ให้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศอย่างจริงจัง
5. กลุ่มเคลื่อนไหวหรือเอ็นจีโอ
กลุ่มนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการผลักดันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการด้านสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม การบริโภค สิทธิมนุษยชน เด็กและเยาวชน ฯลฯ แต่องค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านหรือแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศยังไม่แข็งแรงนัก พลังเท่าที่เห็นยังมีไม่พอ ทว่า หากมีประกายไฟจากที่ใดสักที่มาเริ่มจุดหัวเชื้อและเหตุการณ์กำลังจะประทุลุกลาม คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้ามามีบทบาทหนุนเสริมได้มาก แต่ ณ ปัจจุบันยังหวังผลจากกลุ่มนี้ไม่ได้นักในเรื่องนี้
6. เจ้าหน้าที่รัฐ
คนกลุ่มนี้ก็เหมือนสื่อมวลชน คือ ในอดีตเป็นกลุ่ม‘ใจถึง พึ่งได้’ แต่ในภาวะการณ์ปัจจุบันที่การโยกย้ายและแต่งตั้งถูกปรับเปลี่ยนไปจนอยู่ในอาณัติของนักการเมืองเกือบสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่รัฐที่ใจแข็งและมีศักดิ์ศรีในตนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาของประเทศ การแก้ปัญหาของสังคมโดยมากจึงอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มที่โอนอ่อนผ่อนตามนายและนักการเมือง คนกลุ่มนี้จึงเป็นที่พึ่งด้านขจัดคอร์รัปชันได้ยากมาก
7. นักการเมือง
ในอดีตเรามีนักการเมืองที่มองปัญหาของบ้านเมืองเป็นใหญ่ ไม่มองผลประโยชน์ส่วนตนในระยะใกล้แบบคนสายตาสั้นที่ไม่ใส่แว่นตา ปัญหาบ้านเมืองในสมัยนั้นจึงได้รับการแก้ไขแม้จะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ก็ตาม มาในสมัยนี้คงไม่ต้องเขียนอะไรให้มากความ นอกเสียจากว่า หากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ได้จริงก็อย่าไปหวังพึ่งคนกลุ่มนี้ให้เป็นผู้ริเริ่มเลยก็แล้วกัน... จะว่าอย่างนั้นก็คงไม่ผิดนักกระมัง
8. รัฐบาล
ทั่วโลก ไม่ว่าประเทศใดที่ประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย(แม้จะยังไม่สมบูรณ์) เกาหลี ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ใช้รัฐบาลที่มีความตั้งใจจริงในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติงานทั้งสิ้น ในเรื่องของนโยบายของไทยเราไม่มีปัญหา เรามีนโยบายต่อต้านและขจัดคอร์รัปชันกันมาทุกรัฐบาล ปัญหาคือการนำไปปฏิบัติจริงที่เราทำได้ไม่สำเร็จ สาเหตุหนึ่งก็คือรัฐบาลต้องมาจากพรรคการเมืองซึ่งมีนักการเมืองเป็นองค์ประกอบหลัก การที่จะหวังให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็ขอเชิญชวนกลับไปอ่านหัวข้อนักการเมืองดูก็จะรู้ว่ารัฐบาลเขาจะแก้ปัญหาให้เราได้จริงไหม
สรุป
จากการวิเคราะห์ข้อมูลแยกตามประเภทหรือกลุ่มคนแล้ว พอจะสรุปได้ว่าอย่าไปหวังพึ่งนักการเมืองและรัฐบาลในการขจัดปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย เราควรเริ่มที่คนที่ประสบปัญหามากที่สุดและถูกกดดันมากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือภาคธุรกิจ แล้วในระยะเวลาระหว่างนี้คนกลุ่มอื่น อันได้แก่นักวิชาการ ก็ต้องสนับสนุนด้วยข้อมูลและผลจากการศึกษา สื่อมวลชน(น้ำดี)เอาไปเผยแพร่ ซึ่งตรงนี้รวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์ ที่ประชาชนรวมทั้งเอ็นจีโอสามารถมีส่วนร่วมได้มาก มาช่วยกันสร้างความรับรู้เข้าใจปัญหา ที่ต้องทำให้เห็นให้ได้ว่าใกล้ตัว
เมื่อเสียงต่างๆเหล่านี้ดังขึ้นๆ จนเป็นกระแสสังคมที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวแล้ว เช่น ประเทศไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ลูกหลานหมดอนาคต ตกงาน รายได้หด กำลังซื้อหาย จนลง ฯลฯ ประชาชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอ็นจีโอก็จะลุกขึ้นมาสนับสนุนนักธุรกิจและกลุ่มอื่นๆ เกิดเป็นมวลวิกฤติหรือพลังสังคม และเมื่อถึงจุดนั้นนักการเมืองและรัฐบาลมีหรือที่จะไม่กระโดดขึ้นรถไฟขบวนขจัดคอร์รัปชันนี้
คำถาม ณ ขณะนี้จึงมีอยู่เรื่องเดียว คือ เมื่อมีการเห็นว่ามีคอร์รัปชัน แต่รัฐบาลบอกไม่มีใบเสร็จ นักธุรกิจก็ไม่มีใบเสร็จมาแจง เรื่องจึงไปไม่ถึงไหนสักที จึงอยากจะถามนักธุรกิจว่าในเมื่อทำธุรกิจเก่ง ทำกำไรได้มากมาย แต่เหตุใดจึงหาใบเสร็จมาให้พวกเราไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือว่าไม่กล้าทำ คืออยากจะบอกว่าพวกเราปลายทางทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าต้นทางไม่ทำอะไรไว้ให้ชัดเจนขึ้นมาก่อน การหา‘ใบเสร็จ’ให้ได้จึงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อต้านและลดปัญหาคอร์รัปชันในทุกสังคม
จึงอยากฝากภาคธุรกิจให้ช่วยกันคิดว่าจะพัฒนามาตรการนี้ขึ้นมาได้อย่างไรในเร็ววัน