ดีเดย์! 19 ต.ค. นัดรวมพลหอศิลป์ฯ ยื่นรบ. 1 แสนชื่อ ค้านเขื่อนแม่วงก์
'ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต' นัดระดมพลหอศิลป์ 19 ต.ค. 56 เดินขบวนยื่นรัฐบาล 1 เเสนชื่อ ค้านเขื่อนเเม่วงก์ ชี้ไทยเดินหน้าสู่ทางตัน เสนอเปลี่ยนประเทศด้วยปชต.อย่างมีส่วนร่วม หวังหลุดกรอบระบบทุน
วันที่ 4 ต.ค. 2556 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา ‘แสนชื่อปกป้องแม่วงก์ ปลุกล้านคนต้านเขื่อน 3.5 แสนล้าน’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ภาคประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะมีการสื่อให้เห็นว่าป่าแม่วงก์เป็นผืนป่าเดียวกับป่าห้วยขาแข็ง ฉะนั้นหลายคนจึงไม่เห็นด้วยที่ให้เกิดเขื่อนในป่าอนุรักษ์นี้ จนนำมาซึ่งการรวบรวมรายชื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวกว่า 1.1 แสนชื่อ
โดยวันที่ 19 ต.ค. 2556 เครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมเดินขบวนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำรายชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์มอบให้กับรัฐบาล องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมพิมพ์รายชื่อทั้งหมดลงบนผืนผ้าขนาดใหญ่ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย
นักวิชาการม.รังสิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงสร้างของระบบประเทศเดี้ยงไปหมดแล้ว ตอนนี้เราปล่อยให้ภาคราชการ การเมือง และเอกชน เป็นใหญ่ ภาคเอกชนที่จะมุ่งทำมาหากินได้ประสานกับรัฐบาล รัฐบาลก็ประสานกับภาคราชการทำกันเป็นทอด ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่สมดุล เพราะภาคประชาชนและสื่อมวลชนไม่สามารถถ่วงดุลกันได้ ทั้งที่ทุกภาคส่วนควรเดินไปด้วยกัน
“ปรากฎการณ์ 3.5 แสนล้านบาท และปรากฏการณ์ 2 ล้านล้านบาท ได้ทำให้คนไทยเป็นหนี้สินโดยที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดได้อย่างไร หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาลก็ยกมือ เรียกว่าเสียงมากลากไป” ดร.สมิทธ์ กล่าว และว่าส่วนตัวเห็นควรต้องให้เกิดการเปลี่ยนประเทศไทย เพราะขนาดเมื่อช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ยังเปลี่ยนแปลงได้ โดยการต่อสู้กับครอบครัวเล็ก ๆ เพียงครอบครัวเดียว แต่ครั้งนี้คนไทยต้องต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีความเหนื่อยเป็นร้อยเท่า
ทั้งนี้ ดร.สมิทธ์ เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถใช้ได้กับประเทศอีกแล้ว แต่ควรเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมจริง ๆ ซึ่งตนเองยังนึกโมเดลไม่ออกว่าควรเป็นอย่างไร แต่ไทยเดินมาสู่ทางตันแล้ว เพราะปรากฏว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นคำตอบ และผลการเลือกตั้งนำมาซึ่งความหายนะเช่นปัจจุบัน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน ภายใต้การแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ มิใช่ในรูปแบบการเมืองข้างถนน
เอ็นจีโอจี้รัฐเซ็น MOU กั้นพัฒนารุกป่าอนุรักษ์
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทว่า มีการสอดแทรกโครงการนอกเหนือ 9 โมดูลใส่ไป โดยถูกแยกดำเนินโครงการผ่านงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ราว 43% ใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน พนังกั้นน้ำ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบระยะเวลาดำเนินโครงการแยกย่อยเหล่านั้น อีกทั้งต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือไม่
“รัฐบาลต้องการตั้ง ‘กระทรวงน้ำ’ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ คนแรก โดยอ้างถึงปัญหาน้ำท่วมปี 54 เป็นเหตุผลในการจัดตั้ง แต่ลืมสนใจไปว่า เรื่องน้ำมิได้อยู่เพียงน้ำท่วมเท่านั้น หากครอบคลุมถึงคุณภาพน้ำหรือป่าต้นน้ำด้วย ซึ่งรัฐบาลไม่เคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้”
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอ้างว่าการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น เพื่อความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่กลับพบหลายโครงการไม่จำเป็นเร่งด่วนในลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนแม่วงก์ หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะน้ำท่วมปี 54 นั้น ปริมาณน้ำมิได้ไหลมาจากต้นน้ำยม แต่กลับเป็นน้ำหลากจากลุ่มภาคกลางตอนบน ฉะนั้นการสร้างเขื่อนดังกล่าวจึงไม่มีผล นอกจากนี้ยังพบหลายโครงการไม่เร่งด่วนอยู่นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนชีบน เขื่อนยางนาดี เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ และยังมีเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการ 3.5 แสนล้านบาทเลย
นายเลิศศักดิ์ ยังเห็นด้วยกับข้อเสนอขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency - JICA) ที่ว่า ไทยไม่จำเป็นต้องกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่ให้หันมาบริหารจัดการแหล่งน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะต้องปรับตัวอยู่กับน้ำแทน
ขณะที่ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงทางออกจากการไม่สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมว่ามีมากมายหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ สรุปสาเหตุการเกิดน้ำท่วมปี 54 เพื่อเริ่มต้นเข้าใจปัญหาและมองต่อไปถึงยุทธศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ต้องปกป้องรักษาพื้นที่อนุรักษ์ไว้ให้ได้ มิเช่นนั้นจะไล่ค้านแต่ละเขื่อนคงหมดแรงและเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเราจะทำหนังสือเดินสายไปพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขึ้นมา เพื่อสัญญาว่าจะไม่ลุกขึ้นก่อสร้างหรือพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีก” เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าว และว่าบางคนตำหนิการอนุรักษ์ทำให้ประเทศล้าหลัง แต่ความจริงการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นพื้นฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่างหาก .
ที่มาภาพ: http://www.tnews.co.th/html/allnews/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/3-page7.html