ประชาพิจารณ์ไม่ใช่แค่รูปแบบ ‘ธงชัย’ ชี้ต้องให้ ปชช.ร่วมอย่างมีความหมาย
'ธงชัย พรรณสวัสดิ์' เสนอปรับทัศนคติไม่ยอมรับ EIA-EHIA ชี้ภาครัฐสร้างกระบวนการติดตามตรวจสอบ สร้างความไว้วางใจ ห่วงโครงการดีๆ ไม่ผ่าน กระทบประเทศไม่พัฒนา
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.lcm.in.th)
ศ. กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environment and Health Impact Assessment : EHIA) ในฐานะผู้เคยทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่า ตลอดการทำงานเห็นว่า มีปัญหาทั้งในเชิงรูปแบบและกระบวนการ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกยังใช้อยู่ เพียงแต่ว่า บ้านเรานำมาใช้แบบไม่ครบวงจร
"ในอดีตคนทำ EIA ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ปัญหามีอะไรบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร นั่นรวมไปถึงว่าเมื่อเสร็จแล้วต้องมีการตรวจสอบติดตามผลกระทบ (monitor) ด้วย แต่ที่ผ่านมาเมื่อโครงการเสร็จก็ไม่มีหน่วยงานที่ไปติดตามแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านแล้วก็ผ่านเลย สร้างเขื่อน สร้างสิ่งก่อสร้างแล้วก็ถือว่า จบ นั่นทำให้เกิดปัญหาตามมา" ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย กล่าว และว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนเห็นว่า EIA ไม่ได้แก้ปัญหา จึงเกิดกระบวนการ 'ไม่ยอมรับ' EIA ตามมา พอมาถึง EHIA ต้องทำให้เด่นชัดขึ้นจาก EIA ตามมาตรา 67 จะเห็นว่า กระบวนการก็มีความไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว เมื่อผู้มีอำนาจพยายามใช้อำนาจที่มีอยู่ จึงทำให้กระบวนการ EHIA ไม่ชอบธรรมยิ่งขึ้น
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า หากระบบ EIA และ EHIA พัง หมายความว่าโครงการอะไรก็ตามแต่ที่ต้องผ่านทั้ง 2 ระบบนี้จะไม่ได้รับการยอมรับเลย โครงการที่ดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วประเทศจะไปไหนได้
ดังนั้น ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย เห็นว่า ภาครัฐต้องสร้างกระบวนการติดตามตรวจสอบ EIA และ EHIA ขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่มีช่องโหว่ คือ หาเจ้าภาพไม่ได้ โดยเสนอให้กันงบประมาณส่วนหนึ่งจากกองทุนสิ่งแวดล้อมไว้ให้ประชาชนใช้ในกระบวนการมีส่วนร่วม เฝ้าระวัง และเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ตัวอย่าง
สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย เน้นย้ำว่าต้องไม่ใช่ทำแค่รูปแบบ แต่ต้องเป็นการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย (Meaningful Participation) ทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่ต้นทาง ก่อนจะได้แผนแม่บท ซึ่งเป็นแผนที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ
"ผมกำลังกลัวว่า รัฐบาลจะคิดว่าได้ทำตามกฎหมายแล้ว ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งแล้ว ทำรูปแบบ 1 2 3 4 5 จบ แต่เราตีความว่าไม่ใช่ แบบนั้นไม่ได้"
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม เร็วๆ นี้