จากแม่วงก์สู่ป่าทั้งผืน ‘ธงชัย’ ชี้กระแสรณรงค์สิ่งแวดล้อมกำลัง ‘สุกงอม’
"หากรัฐบาลยังเดินหน้า ประกาศจะสร้างแน่ๆ โดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย นั่นแสดงให้เห็นวิธีคิดว่า... เขาต้องการรวบรัด ใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำ โดยที่ไม่แคร์ความรู้สึก ไม่แคร์ข้อมูล ความเป็นจริงทางวิชาการ และหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดกระแสที่ไม่ใช่แค่แม่วงก์"
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.lcm.in.th และ facebook Sasin Chalermlarp)
ในขบวนเดินเท้า 380 กิโลเมตร คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ที่นำโดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีผู้คนมากหน้าหลายตา หลายพันชีวิตร่วมตลอดเส้นทาง
หนึ่งในนั้นเราได้เห็น ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการผู้ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยุคแรกๆ ร่วมขบวนด้วย
"สำนักข่าวอิศรา" มีโอกาสได้พูดคุยถึงแนวคิด และทิศทาง นับจากอดีต ปัจจุบัน มองไปถึงอนาคตของการรณรงค์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย
"ตอนนี้ผมเป็นประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แต่ขอพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง" ศ. กิตติคุณ ดร. ธงชัย เริ่มต้นประโยคสนทนา
- EIA และ EHIA ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า...ผมคุ้นเคยกับกระบวนการ EIA และ EHIA มากว่า 20-30 ปีแล้ว เห็นมาตลอดว่า มีปัญหา !! ทั้งในเชิงรูปแบบและกระบวนการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกยังใช้อยู่ เพียงแต่ว่าบ้านเรานำมาใช้แบบไม่ครบวงจร
- ไม่ครบวงจรอย่างไร ขาดกระบวนการใด
ผมค่อนข้างเชื่อว่า ในอดีตคนทำ EIA ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ปัญหามีอะไรบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร นั่นรวมไปถึงว่าเมื่อเสร็จแล้วต้องมีการตรวจสอบติดตามผลกระทบ (monitor) ด้วย แต่ที่ผ่านมาเมื่อโครงการเสร็จก็ไม่มีหน่วยงานที่ไปติดตามแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านแล้วก็ผ่านเลย สร้างเขื่อน สร้างสิ่งก่อสร้างแล้วก็ถือว่าจบ นั่นทำให้เกิดปัญหาตามมา
"ปัญหาที่เกิดตามมาทำให้ประชาชนเห็นว่า EIA ไม่ได้แก้ปัญหา จึงเกิดกระบวนการ 'ไม่ยอมรับ' EIA ตามมา พอมาถึง EHIA ต้องทำให้เด่นชัดขึ้นจาก EIA ตามมาตรา 67 จะเห็นว่ากระบวนการก็มีความไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว เมื่อผู้มีอำนาจพยายามใช้อำนาจที่มีอยู่ จึงทำให้กระบวนการ EHIA ไม่ชอบธรรมยิ่งขึ้น"
- มองอย่างไรกับกระแสการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
เพิ่งนึกได้ว่า ศศิน (ศศิน เฉลิมลาภ) บอกว่า ออกเดินเพราะผม...
ปีที่แล้วเรานั่งคุยเรื่อง EIA กันว่า จะเอาข้อมูลวิชาการมาสู้ก็ได้ แต่จะแพ้ ! ทางที่จะสัมฤทธิ์ผลต้องเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
"ผมเลยพูดเล่นๆ ว่า ต้องให้อาจารย์รตยา (รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ไปกางเต้นท์นอนหน้ากระทรวง แต่การพูดครั้งนั้น ศศิน เขาไปคิดต่อ จึงเกิดการเดินรณรงค์ขึ้น เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า สิ่งที่ขัดความชอบธรรมนั่นจะทำไม่ได้"
และการเดินรณรงค์ครั้งนี้ก็เป็นการจุดประกาย
- ทำอย่างไรให้การเดินรณรงค์ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงแค่ 'กระแส'
(นิ่งคิดนาน) ผมว่า มันคล้ายๆ กับการขับเคลื่อนเรื่องคอร์รัปชั่นนะ คือเริ่มมีการพูดถึง ตระหนกแล้ว ตระหนักแล้ว กลัวแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงขั้นจิตวิญญาณที่จะ 'เปลี่ยน'
อย่างเรื่องคอร์รัปชั่นก็ยังไปชี้แต่คนอื่น เรื่องใกล้ๆ ตัว เรื่องตัวเองเราทำหรือยัง ?
เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนต้องดูแล ต้องแสดงออกว่า ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผิด ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องคอร์รัปชั่นกำลังมาถึงขั้นแสดงออกที่จะเปลี่ยนแล้ว
- การรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ผมว่า ศศิน เองก็คงยังมองไม่ออกว่า จากนี้จะเกิดอะไรขึ้นนะ...จะทำอย่างไรให้กระบวนการนี้ยั่งยืน ถ้าให้คาดเดา หากรัฐบาลยังเดินหน้า ประกาศจะสร้าง สร้างแน่ๆ โดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย นั่นแสดงให้เห็นวิธีคิดว่า... เขาต้องการรวบรัด ใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำ โดยที่ไม่แคร์ความรู้สึก ไม่แคร์ข้อมูล ความเป็นจริงทางวิชาการ
และหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดกระแสที่ไม่ใช่แค่แม่วงก์...!
เป็นเรื่องของวิธีคิด การทำงาน ถ้าพัง จะพังทั้งระบบ
- การที่คนมองว่า EIA และ EHIA ไม่ชอบธรรม หรือไม่ยอมรับจะส่งผลอย่างไรต่อไป
เป็นอีกมิติหนึ่งที่คนยังมองไม่เห็นว่า ถ้าระบบ EIA และ EHIA พัง นั่นหมายความว่าโครงการอะไรก็ตามแต่ที่ต้องผ่านระบบ EIA และ EHIA จะไม่ได้รับการยอมรับเลย หมายรวมถึงโครงการอะไรก็ตามที่ดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ถ้าคนไม่ยอมรับ เมื่อไม่ยอมรับก็จะไม่ผ่านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แล้วประเทศจะไปไหนได้
"คนเขาเห็นกันอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าระบบ EIA และ EHIA ล้มประเทศชาติจะเป็นโดมิโนหรือเปล่า ผมเองรักสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมองว่า ประเทศชาติจะเดินหน้าไม่ได้ถ้าการพัฒนาไม่เกิดขึ้น เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนมี 3 ขา ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น หากทำให้การพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมพัง เศรษฐกิจก็พัฒนาไม่ได้ มองเห็นตรงนี้หรือเปล่า"
- จะรักษามาตรฐาน EIA และ EHIA ให้เป็นที่ยอมรับได้อย่างไร
ด้วยการติดตามตรวจสอบ... ซึ่งมีปัญหาประการแรกคือ หาเจ้าภาพไม่ได้ เพราะสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้แล้วให้เลย ไม่มีอำนาจไปตรวจตรา อย่างกรมชลประทานเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ ก็ไปตามดูป่าไม่ได้
กระบวนการนี้รัฐต้องสร้างขึ้นมาใหม่ งบประมาณจะต้องตามมา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครทำ นี่เป็นช่องโหว่หนึ่ง
"จะให้หน่วยงานของรัฐไปเฝ้าระวังแทนเราก็เกิดความคลางแคลงใจว่า เชื่อได้หรือเปล่า พูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมต้องให้ประชาชนช่วยเฝ้าระวัง แต่บางเรื่องต้องใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้มาก เช่น มาบตาพุด จะให้ประชาชนไปยืนเฝ้าดู ดมกลิ่นไม่ได้ ต้องมีเครื่องมือวัด เป็นเรื่องวิชาการที่ชาวบ้านต้องอาศัยความช่วยเหลือ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น
ผมอยากเสนอว่า กองทุนสิ่งแวดล้อมที่ให้ไปแก้ปัญหาน้ำเน่า ขยะต่างๆ ในเทศบาล สามารถกันส่วนหนึ่งไว้ เพื่อนำไปให้ชาวบ้านใช้ในการเฝ้าระวัง เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ตัวอย่าง เป็นเงินไม่ใช่น้อยๆ นะ"
- จากนี้จะมีกระบวนการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศได้บ้าง
(นิ่งคิด ถอนหายใจ) ไม่อยากพูดเลยนะ...
แต่คิดว่ามันคงจะคล้ายๆ เรื่องคอร์รัปชั่น จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะเลวไปเรื่อยๆ จนถึงจุดๆ หนึ่งที่คนรู้สึกว่าไม่ไหว ไม่ยอมแล้ว จะทำอย่างนี้กับทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้แล้ว
- ตอนนี้ใกล้จุดนั้นหรือยัง
ผมทำเรื่องนี้มา 30-40 ปี ผมว่าตอนนี้มันสุกงอมขึ้นเยอะแล้ว
ย้อนไป 30-40 ปี ดร.สุรพล สุดารา, ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย และผม ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (ชื่อคล้องจองกัน) ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมา อาจารย์รตยา เรียกว่า 3 สิงห์ สู้กันบนข้อมูลวิชาการ แต่ยังไม่มีพลังขึ้นมา แต่ตอนนี้พลังเยอะกว่า สุกงอมกว่า เป็นพลังของเด็กรุ่นใหม่
- เร็วๆ นี้จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการฯ เรียกว่าประชาพิจารณ์ได้หรือไม่
ต้องถามก่อนว่ากระบวนการที่กำลังจะทำอยู่ เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือกระบวนการไปเล่าความคิดเห็นให้ประชาชนฟัง?
โมดูลต่างๆ ที่ทำ ใบงบ 3 แสนล้านบาทเป็นระบบใหญ่ ที่ต้องเชื่อมโยงกันทั้งแผน ที่เรียกว่า 'แผนแม่บท' ไม่ใช่ระดับโครงการ และเมื่อยังไม่มีแผนแม่บทจะไปทำประชาพิจารณ์ได้อย่างไร จริงๆ แล้วต้องฟังประชาพิจารณ์ตั้งแต่ต้นทาง ก่อนจะได้แผนแม่บท
ส่วนที่ออกในราชกิจจานุเบกษา ก็เป็นแค่รูปแบบ ไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่มีความหมาย (Meaningful Participation)
"ถ้าเปิดสายโทรศัพท์ เปิดเว็บไซต์แล้วไม่มีคนส่งข้อมูล ส่งความเห็นเข้าไป ก็เป็นแค่กระบวนการ ไม่มีความหมาย จริงๆ ต้องใช้เวลา ใช้งบ ใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่ทำแค่รูปแบบ
แต่ผมกำลังกลัวว่ารัฐบาลจะคิดว่าได้ทำตามกฎหมายแล้ว ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งแล้ว ทำรูปแบบ 1 2 3 4 5 จบ แต่เราตีความว่าไม่ใช่ แบบนั้นไม่ได้"
- ทางออกจากนี้สำหรับกรณีเขื่อนแม่วงก์ และสิ่งแวดล้อม
ไม่มีใครรู้ จนกว่ามันจะสุกงอม
- อาจารย์กำลังจะบอกว่าหลายๆ เรื่องตอนนี้ กำลังรอการสุกงอม
ใช่ครับ
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/sasin.chalermlarp.9?fref=ts