อาถรรพ์! ‘อภิชาติ’ เปิดสถิติตั้งกระทรวงน้ำ ใกล้คลอดทีไร รบ.เจ๊งก่อนทุกที
ประธานอนุวิเคราะห์โครงการ กบอ.เผยความเป็นไปได้จัดตั้ง 'กระทรวงน้ำ' มีสูง กำลังรวบรวมกรณีศึกษา พร้อมเขียนเป็นกม. ชี้สถิติที่ผ่านมาเกิดอาถรรพ์ ใกล้คลอดทีไร รัฐบาลเจ๊งก่อนทุกที
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.region4.prd.go.th )
ภายหลังที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 รับทราบความคืบหน้าแผนนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 - 2558 ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดทำแผนฯ และให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้ง "กระทรวงน้ำ" โดยหากเห็นควรดำเนินการ ก็ให้ กบอ.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ ตาม ร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ... เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นระบบนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานคณะอนุกรรมการและวิเคราะห์โครงการ กบอ. กล่าวถึงการจัดตั้งกระทรวงน้ำ ตอนหนึ่งในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "แนวคิดการพัฒนาโครงสร้างศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ" ที่จัดโดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำ (วารี) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ โรงแรม Pullman Bangkok Power กรุงเทพฯ ว่า การจัดตั้งกระทรวงน้ำมีแนวคิดมายาวนาน ผลักดันมาหลายครั้ง และครั้งนี้น่าจะเป็นจริงเป็นจังขึ้น เนื่องจากผ่านมติ ครม.เร่งเดินหน้าได้เต็มที่
"ขณะนี้อยู่ขั้นรวบรวมกรณีศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบ จริงๆ แล้วในประเทศเราก็มีการศึกษาเรื่องนี้เยอะ เตรียมข้อมูลไว้หมดแล้ว เพียงแต่รอเขียนให้เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งเรื่องกฎหมายน้ำมีหลายเวอร์ชั่น ขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐว่าจะหยิบฉบับไหนมาทำ ได้ไม่ได้อยู่ที่การเมือง ตอนนี้มีหลายพรรคเริ่มตื่นเต้น เพราะบ้านเราเกรดของกระทรวงขึ้นอยู่กับงบประมาณ ถ้ามีกระทรวงน้ำ กรมชลประทานต้องมาอยู่รวม งบประมาณกระทรวงเกษตรคงจะหายไปกว่าครึ่ง บางกระทรวงอาจกระทบกระเทือน"
ดร.อภิชาติ กล่าวถึงเรื่องกฎหมายกระทรวงน้ำอีกว่า เป็นกฎหมายอาถรรพ์ มีการผลักดันกันมานาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเอาจริงหรือไม่
"ถ้าเชื่อดวงคงไม่เอา เพราะจากสถิติของกฎหมายน้ำ พอเข้ารัฐสภา ใกล้จะคลอดทีไร ก่อนออกเป็นกฎหมาย รัฐบาลเจ๊งก่อนทุกที เท่าที่สังเกตเป็นอย่างนี้ตลอด แม้ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่คิดว่ามุมมองนักการเมืองสำหรับกฎหมายที่เขียนชัดเจนเกินไปก็อาจไม่ชอบ เพราะขาดความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นแบบขาวๆ ดำๆ (Gray area) พิจารณาตัดสินใจได้ (judgement) น่าจะดีกว่า" ดร.อภิชาติ กล่าว และว่า แม้ไม่ใช่นักการหมายมองในมุมที่อยู่คลุกคลีกับนักการเมือง คิดว่ากฎหมายที่จะออกมาต้องทำความเข้าใจนักการเมือง ไม่อย่างนั้นหัวชนฝาก็ไม่มีทางไปรอด หรือหากจะเขียนให้เป็นกลางๆ แล้วไปออกกฎหมายลูกได้หรือไม่ ข้อนี้ไม่แน่ใจ