ประมงพื้นบ้านจี้ ‘ศิริวัฒน์’ ตั้งคกก.ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลฯ แก้ปัญหาน้ำมันรั่ว
ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง เรียกร้องก.เกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรประมงฯ วิจัยแก้ปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหล อัดยับ ‘พีทีทีจีซี’ จ่ายเยียวยาล่าช้า-ฉีดสารกดทับคราบน้ำมันลงใต้ทะเลทำลายแหล่งอาหาร
จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี รั่วไหลลงสู่ทะเล จ.ระยอง เมื่อ 27 ก.ค. 2556 จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและวิถีชีวิต แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา กระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับการแก้ปัญหาของบริษัท พีทีทีจีซี และหน่วยงานภาครัฐยังขาดทิศทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหารนั้น
วันที่ 3 ต.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมงพื้นบ้านอีกราว 50 คน นำโดยนายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหล เข้าพบนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เรียกร้องให้ ‘แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรประมง และที่จับสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล จ.ระยอง’ เพื่อให้สภาพแวดล้อมฟื้นตัวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดยเร็ว
โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ นั้น จะต้องมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการอิสระ องค์กรอิสระ ผู้ประกอบการ และชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ให้มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคณะกรรมการทั้งหมด
นายจัตุรัส กล่าวว่า คณะกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่ตั้งโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ไม่มีชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ หรือองค์กรอิสระ เข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้น จึงหวั่นว่างานวิจัยที่มีการศึกษาผลกระทบอาจไม่เป็นกลางได้
เมื่อถามว่าถึงการนำเสนอข่าวว่าชาวประมงบางคนสามารถจับสัตว์น้ำได้แล้วนั้น นายกสมาคมฯ จ.ระยอง กล่าวว่า เราจะต้องดูว่าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นใคร จับสัตว์น้ำบริเวณไหน ห่างจากจุดเกิดเหตุระยะทางเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ต้องระบุให้ชัด เพราะยังมีอีกหลายคนที่ประกอบอาชีพไม่ได้ แม้กระทั่งบางคนที่เคยตกหมึกได้ 30 ก.ก. ยังเหลือเพียง 2 ก.ก. เท่านั้น
“รู้สึกกังวลว่าหากไม่มีการเร่งฟื้นฟูทรัพยากรทะเลตามแผนชัดเจนแล้ว อาจเกิดผลกระทบระยะยาวจากการกำจัดคราบน้ำมันดิบ” นายจัตุรัส กล่าว และว่า บริษัท พีทีทีจีซีเปิดเผยได้เก็บคราบน้ำมันดิบได้แล้ว 20% แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าอีก 80% หายไปไหน ความจริง คือ น้ำมันดิบส่วนนี้ติดอยู่กับทุ่นตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งจะถูกฉีดสารเคมีซลิกกอน (Slickgone NS)กดทับลงใต้ทะเล ซึ่งไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย นอกเสียจากทำลายทรัพยากร ทั้งที่ความจริงควรมีวิธีการกำจัดที่ดีกว่านี้
ด้านนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่ากระแสข่าวเกี่ยวกับน้ำมันดิบรั่วไหลค่อย ๆ เงียบหายไป แต่สำหรับชาวประมงพื้นบ้านนั้นยังได้รับผลกระทบจับสัตว์น้ำไม่ได้อยู่ แม้จะจับได้ก็ไม่กล้าขาย เพราะขนาดตนเองยังไม่กล้าบริโภคเลย หากขายไปถือว่าผิดจรรยาบรรณของคนหาปลา
“กระแสข่าวว่ามีชาวประมงจับสัตว์น้ำได้แล้ว ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ไม่ใช่พื้นที่ชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านยึดเป็นอาชีพ” นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ กล่าว และว่าสิ่งที่ได้รับผลกระทบมาก คือ สัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกกุ้ง หอย และหมึก ที่อาศัยตามพื้นทรายที่ติดคราบน้ำมัน ทำให้หลายคนไม่กล้าบริโภค
เมื่อถามว่าในพื้นที่ยังพบคราบน้ำมันหรือไม่ นายสะมะแอ ระบุว่า จะทราบได้ต่อเมื่อมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณีการรับเงินเยียวยาความเสียหายจากบริษัท พีทีทีจีซี นั้นยังเกิดความล่าช้า ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะพบการสวมสิทธิ์เป็นชาวประมงพื้นบ้านจากกลุ่มคนอื่นอยู่ .