ฝุ่นตลบก่อนถกบีอาร์เอ็น
ไม่ใช่มีแต่เรื่องการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่เท่านั้นที่สับสนอลหม่าน ยื่นเรื่องตีความกันวุ่นวายจนนับกันไม่หวาดไหวว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไปแล้วกี่มากน้อย
ทว่าเรื่องที่ควรจะมีเอกภาพสุดๆ เพราะเกี่ยวข้องกับงานความมั่นคง เขตแดน และอธิปไตยของประเทศอย่างการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อสถาปนาสันติสุข ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังวุ่นวายฝุ่นตลบไม่แพ้กัน
บีอาร์เอ็นยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมอีก 38 หน้าให้รัฐบาล แต่ผ่านมานานสองนานก็ยังไม่เห็นกระบวนการว่าจะให้คำตอบเขาได้เมื่อไหร่ อย่างไร และจะเอาอย่างไรกันต่อไปแน่ เพราะคนในคณะพูดคุยอย่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็แสดงท่าทีคล้ายๆ กับว่าข้อเรียกร้องน่าจะพอรับได้ ขณะที่ข่าววงในใช้คำว่า "แฮปปี้" กันเลยทีเดียว
แต่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวขบวนฝ่ายความมั่นคง กลับออกมาบอกว่ารับข้อเรียกร้องไม่ได้สักข้อ โดยเฉพาะข้อ 4 เรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ที่เป็นดั่งหัวใจ ยิ่งรับไม่ได้เข้าไปใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่คนในรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพอย่าง พล.ท.ภราดร ให้ข่าวต่อเนื่องว่าการพูดคุยครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาฯนี้ โดยมีข่าวว่าแอบกำหนด "ฤกษ์งามยามดี" กันไว้วันที่ 20 ต.ค. แต่ปรากฏว่าในช่วงที่สถานการณ์ยังลับๆ ล่อๆ กลับมีข่าวไม่ค่อยดีหลายข่าวสลับสับเปลี่ยนกันออกมาให้ขาเมาท์จับเข่าวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง
หนักสุดเห็นจะเป็น "โต๊ะพูดคุยล้ม (อีกแล้ว)" ข่าวนี้แว่วๆ ว่าสืบเนื่องจากกระบวนการพูดคุยเจรจาไม่ได้มาจากความสมัครใจของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐอย่าง "บีอาร์เอ็น" แต่กลายเป็น "มาเลย์จัดให้" โดยการไปหิ้วตัวแกนนำใหญ่อย่าง ฮัสซัน ตอยิบ มาขึ้นโต๊ะ จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องแบบ "โชะๆๆ" ที่พี่ไทยไม่มีทางรับได้ สุดท้ายก็ต้องล้มโต๊ะกันไปโดยปริยายโดยอ้างว่าฝ่ายไทยไม่ยอมรับ 5 ข้อเรียกร้อง
ยิ่ง ผบ.ทบ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศก้องเสียขนาดนั้นว่าไม่เอาเขตปกครองพิเศษ มันก็เลยกลายเป็นเหตุ "ขนมผสมน้ำยา" ว่าการพูดคุยเจรจากำลังเข้าสู่โหมด "ติดล็อค"
ข่าวใหญ่รองลงมา คือ เปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น จาก ฮัสซัน ตอยิบ เป็น อาแว ยาบะ (หรือ อาวัง ยาบะ) ข่าวนี้มีมาหลายกระแส ฟากที่มองโลกในแง่ร้ายก็บอกว่า ฮัสซันถูกปลดแล้ว บ้างก็ว่าถูกยึดอำนาจจากสายเหยี่ยว (ปีกทหารในบีอาร์เอ็น) เพราะเล่นบทหน่อมแน้มเกินไป ไม่แข็งกร้าวดุดันให้ได้ดั่งใจของฝ่ายฮาร์ดคอร์
ส่วนพวกที่มองโลกแง่ดีหน่อย ก็บอกว่าเป็นการปรับโครงสร้างคณะพูดคุยกันภายใน โดยดัน ฮัสซัน ตอยิบ ขึ้นแท่นเป็นที่ปรึกษา แล้ววางตัวขุนพลฝีปากกล้าที่เชี่ยวชาญทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ เยาวชน และการศึกษา ให้ครบ 15 คนเพื่อรองรับการยกระดับโต๊ะพูดคุยสู่ "โต๊ะเจรจา" เต็มรูปแบบตามเอกสาร 38 หน้าที่ยื่นถึงรัฐบาลไทย
นี่คือข่าวกระเซ็นกระสายที่จาระไนมาฝาก...จริงหรือไม่ยังไม่รู้ บางคนบอกให้รอดู 20 ต.ค. ถ้ายัง "คุยกันต่อ" ก็แสดงว่าโอกาสของโต๊ะพูดคุยสันติภาพยังพอมี แต่ก็มีคนแย้งทันทีว่า 20 ต.ค.บอกอะไรไม่ได้ เพราะอาจเป็นแค่โต๊ะพูดคุย "รักษาหน้า" ไม่ให้ดูล้มเหลว (เร็ว) เกินไป
แต่ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ ช่วงนี้มี "ขุนพลเจรจา" จากชายแดนใต้บินลัดฟ้าไปต่างประเทศกันถี่ยิบ หนึ่งในหลายทริปคือ "สวีเดน" ข่าวว่าไปเปิดวงพูดคุยกับกลุ่มที่ไม่ใช่ "บีอาร์เอ็น" อาจเป็น "พูโล" สาย กัสตูรี มาห์โกตา มีผู้ใหญ่จากหน่วยงานสายพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวหน้าคณะ
ส่วนอีกหนึ่งทริปก็มีภารกิจแบบ "ปิดลับ" ที่อินโดนีเซียโดย "คนในเครื่องแบบ"
งานนี้วิเคราะห์กันว่าอาจเป็นการพยายามควานหา "กลุ่มใหม่" มาร่วมโต๊ะพูดคุย หากวงเก่าไม่ค่อยฉลุย ก็จะลุยต่อกับวงนี้แทน...
แนววิเคราะห์ที่ว่านี้ไม่รู้ "แม่น" หรือ "ไม่แม่น" แต่การพยายามหา "ตัวตายตัวแทน" ย่อมหมายถึงว่าช่องทางสื่อสารเดิมกำลังขัดข้องใช่หรือไม่ แถมยังเป็นความพยายามแสวงหา "กลุ่มใหม่" ทั้งๆ ที่บีอาร์เอ็นก็แจ้งมาแล้วว่าขอเป็น "โต้โผใหญ่" แต่เพียงผู้เดียว ส่วนการดึงกลุ่มอื่นเข้ามาเอี่ยว บีอาร์เอ็นก็จัดให้แล้วตามเอกสาร 38 หน้าว่าจะมี "พูโล" กับ "บีไอพีพี" ร่วมโต๊ะพูดคุยครั้งต่อไป...
ดูเหมือนฝุ่นที่ตลบอยู่ในฝั่งไทยบางส่วนจะมาจากความสับสนวุ่นวายหลังม่านบีอาร์เอ็นด้วย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : เกือบทั้งหมดของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 1 ต.ค.2556 ด้วย