วิบากกรรม หลาน อากู๋ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” บนเก้าอี้ เอ็มดี “ธพส.”
ภายหลังจากมีผู้ร้องเรียนกรณีความไม่โปร่งใสของการบริหารพื้นที่ศูนย์อาหารและพื้นที่ธุรกิจในศูนย์ราชการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ หรือ ธพส.
(ภาพประกอบจากpositioningmag.com)
ล่าสุด เมื่อวันที่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่านอกจากปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดสรรพื้นที่ธุรกิจที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาบทสุรปอย่างจริงจังแล้ว
ธพส. ในปัจจุบัน ยังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องเนื่องจากการจ่ายงบประมาณเพื่อการตกแต่งให้หน่วยงานในศูนย์ราชการที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สินจำนวนไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท และต้องชำระหนี้บางส่วนคืนแก่ธนาคารกรุงไทย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2556
ทั้งนี้ ก่อนที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพส. นายอดุลย์ ตั้งศัตยาภิรมย์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเคยปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ
โดยเนื้อหาในการประชุมครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นขณะที่นายอดุลย์ เป็นรักษาการ มีใจความตอนหนึ่งที่ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินขณะนั้นระบุว่าธพส.ประสบปัญหาด้านการเงินใน 2 ประเด็นหลักคือ 1.กรณีจ่ายเงินแทนหน่วยงานอื่น 900 ล้านบาท ฝ่ายการเงินจึงต้องการขอความชัดเจนจาก ธพส.จะทำอย่างไร
2.บ้านธนารักษ์ เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมากสำหรับปี 2555 เนื่องจากธพส.กู้เงินมาแล้ว 500 ล้านบาท และจะเกี่ยวพันกับ 900 ล้านบาท ปัญหาดังกล่าวทำให้กระแสเงินสดจะขาด รายรับ-รายจ่าย จะมีช่องว่าง 200-300 ล้านบาท จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อ สตง.มาตรวจ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการหารือถึงทางออกในการบริหารงานที่ยังมีส่วนคล้ายคลึงระบบราชการด้วยว่า
“เนื่องจากการตรวจนับทรัพย์สิน สตง.จะต้องให้รายงานให้เหมือนราชการ หรือการใช้เงินลงทุนก็จะต้องผ่านสภาพัฒน์ หรือ สบน. จึงทำให้ ธพส.ต้องอยู่ในกรอบของราชการ และส่วนที่ทำให้ ธพส.ทำงานล่าช้าคือกฎหมาย ซึ่งมีคณะกรรมการหลายท่านต้องการให้ ธพส.ดำเนินการให้เหมือนเอกชนจะได้รวดเร็ว จึงขอให้มีนโยบายปลดล็อคให้ชัดเจนสำหรับ ธพส.ก่อน เพราะกฎหมายที่บังคับคือตัวถ่วง ซึ่งระเบียบ ธพส.เองไม่ใช่ตัวถ่วง”
ในรายงานการประชุมดังกล่าว ยังระบุว่า สตง.เข้ามาตรวจสอบ ธพส. 2 ประเด็น โดยเฉพาะการให้ตรวจนับทรัพย์สินที่โอนไปให้ส่วนราชการแล้วและได้ลงนามทำ MOU ร่วมกันแล้ว 10 ราย ซึ่งเมื่อหน่วยงานเข้ามาจริงมีการปรับปรุงตกแต่งเพิ่มเติม ทำให้ยอดแตกต่างกับตอนทำ MOU ไม่ตรงกัน
“ และสตง.ให้ดำเนินการทำเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วน หลังจากได้หารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายมีความเห็นให้แจ้งกรมธนารักษ์เรื่องทรัพย์สินให้ตรงกัน และ สตง.ให้ ธพส.ชี้แจงในเรื่องนี้อีกครั้ง”
สอดคล้องกับที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยเสนอมติคณะรัฐมนตรีให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการศูนย์ราชการฯ และมีข้อเสนอแนะให้ ธพส.ดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องโดยควรมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่ค้างชำระค่าก่อสร้างทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนโดยเร็ว เช่น การตั้งงบประมาณเพื่อผ่อนชำระ
นอกจากนี้ รายงานการประชุมเมื่อครั้งนายอดุลย์ เป็นรักษาการณ์ฯ ยังเคยระบุถึงแผนพัฒนาธุรกิจของ ธพส. ในปี 2556-2560 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทั้งหารือถึงคุณสมบัติของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่ควรต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหารพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรายละเอียดตอนหนึ่งในเนื้อหารายงานการประชุมระบุว่า
“การดำเนินธุรกิจของ ธพส.ในระยะต่อไป ตามแผนธุรกิจปี 2556-2560 จะต้องมีโครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้น ได้แก่ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลง บบส. โครงการก่อสร้างสำนักงานศาลปกครองหลังที่ 2 โครงการศึกษาความต้องการพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการฯ โซนซี เป็นต้น และเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพส. ควรมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารและการพัฒนาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง”
จึงน่าจับตาว่านายสุเมธ จะนำพา ธพส. วันนี้ ฝ่ามรสุมนานัปการ ทั้ง “นอก” และ “ใน” ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่