ใช่แค่เสม็ด! ‘ประมงพื้นบ้าน’ ยันตลอดแนวหาดระยองกระทบหนัก
กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว เล็งเก็บข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศฟ้องผู้ก่อเหตุ จี้ รบ.ตั้ง คกก.อิสระหาความจริง ด้านกลุ่มประมงระยองถามหากปลอดภัยจริงทำไมสัตว์น้ำหายไป เสนอให้ อย.ตรวจสอบให้ชัดก่อนออกโฆษณา ยันไม่มีใครอยากให้นักท่องเที่ยวกลัว
วันที่ 30 กันยายน มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) มูลนิธิธรรมสิ่งแวดล้อม (En Law) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSE) และเครือข่ายผู้ได้รับความผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหล จ.ระยอง และ change.org จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดและเก็บก้อนน้ำมันดิบทาร์บอล ซากหอยเสียบ และหมึกกระดองที่ลอยมาติดชายหาด ในงานเวทีสาธารณะ "2 เดือนผ่านไป การฟื้นฟูเสม็ดสำเร็จแล้วจริงหรือ" ณ ศาลาร่วมใจ ชุมชนประมงบางกระเฌอ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ปตท.พยายามเน้นความสนใจไปที่เกาะเสม็ด และอ่าวพร้าว ด้วยการออกโฆษณายืนยันความปลอดภัย ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและคณะลงไปเก็บคัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่า ตลอดริมชายหาดไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย ทั้งที่ปกติจะต้องมี 30-40 ชนิด ตามชายหาด หรือริมโขดหิน
"เมื่อลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำมันริมชายหาดไปตรวจสอบ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกพื้นที่ได้ จึงตรวจภายในหาด พบว่า น้ำมันมีสารปรอท และสารหนู และพบความผิดปกติในดีเอ็นเอของปลา ซึ่งมีความเชื่อมโยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง อีกทั้ง พบปลาหมึกและสัตว์ทะเลตายเมื่ออายุน้อยมากเกินปกติ บ่งชี้ถึงปริมาณของสัตว์น้ำในอนาคต"
ขณะที่ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) กล่าวว่า ทางกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วกำลังศึกษาการฟ้องร้องและเอาผิดต่อผู้ก่อมลพิษ โดยหลังจากนี้จะลงเก็บข้อมูลผลกระทบต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทผู้ก่อเหตุ โดยจะทำงานร่วมกันกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจะใช้เวลาในการศึกษาทั้งหมด 6 เดือน ให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนว่า จากน้ำมันรั่วไหลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ อย่างไรบ้าง จากนั้นจะประเมินความเสียหายและเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษทันที
ด้านกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ตลอดแนวหาดที่ได้รับผลกระทบ นายอุดมศักดิ์ หลอดทอง เลขาสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ระยอง กล่าวถึงผลของการใช้สารเคมีซลิกกอน (Slickgone NS) เพื่อทำลายน้ำมันดิบที่ชาวประมงห่วงมากที่สุด คือ ปะการังที่เป็นสมบัติของประเทศชาติ เนื่องจากทิศทางที่น้ำมันดิบไหลผ่านมีแนวปะการังทั้งแท้และเทียม ทั้งนี้ มีการใช้สารเคมีปริมาณมากในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายหาด ใกล้แนวปะการัง ซึ่งทำลายชายหาด และปะการังมาก โดยที่รัฐไม่เป็นปากเป็นเสียงเรียกร้อง ฟ้องแทนประชาชน
"รองผู้ว่าราชการจังหวัดกลับบอกว่า สารเคมีดังกล่าวเป็นสารอินทรีย์ ปลาสามารถกินได้ และสาธารณสุขจังหวัดก็บอกว่า น้ำเสียจากชุมชนอันตรายกว่าน้ำมันดิบ แต่เป็นคำพูดที่ไม่ได้มาจากการเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ หรือมีข้อมูลทางวิชาการใดๆ มายันให้ชาวประมงและชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจได้ สิ่งที่ชาวประมงพบ คือ ปริมาณสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง ต้องขาดทุนทุกครั้งที่ออกทะเล"
นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ ประธานกลุ่มชาวประมงบางกระเฌอ กล่าวว่า แม้ตนจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อ่าวพร้าว หรือเกาะเสม็ด แต่ตลอดแนวหาดที่ลมทะเลพัดน้ำมันมากระทบชายฝั่งต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงอยากให้ อย.ลงมาตรวจยืนยันความปลอดภัย สร้างความมั่นใจ ไม่ใช่สร้างภาพ
"หลายคนมองพวกเราเป็นคนพาล เรียกร้องไม่รู้จบ แต่เพราะได้รับผลกระทบ การออกโฆษณาบอกว่า เกาะเสม็ดปลอดภัย เป็นเหมือนเดิม สามารถมาเที่ยวได้แล้วนั้นก็เป็นเรื่องดี ช่วยเหลือการทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ควรจะเกิดขึ้นภายหลังจากการน้ำตัวอย่างน้ำ สัตว์ทะเล และทรายไปตรวจสอบ ยืนยันความปลอดภัยว่า สามารถกินได้ เล่นน้ำได้เป็นปกติ ไม่มีผลกระทบ ยืนยันว่าไม่มีชาวประมงคนไหนอยากพูดให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว ไม่มาเที่ยว ไม่มาซื้อ แต่ทุกวันนี้ชาวประมงเองยังไม่มั่นใจ กลัวว่าบริโภคไปแล้วจะสะสมก่ออันตรายในภายหลัง"
ขณะที่นายสันต์ เข็มจรูญ ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ปลาหมึกก็ลดน้อยไปมาก จนแทบหาไม่ได้ เหลือแต่กระดองหมึกลอยติดเลียบหาด ขณะนี้ไม่สามารถออกเรือได้เพราะไม่คุ้ม ครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้แค่ 2 กิโลกรัมเท่านั้น หากไม่มีผลกระทบจริง ต้องตอบให้ได้ว่าสัตว์น้ำหายไปไหน เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้เหมือนโดนฮุบที่ทำกิน เรียกร้องก็ไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด อยากให้ ปตท.มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ เพราะความเดือดร้อนตอนนี้ทำให้ชีวิตชาวประมงใกล้จะล่มสลายแล้ว
นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวว่า ปตท.และผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีแผนโครงการฟื้นฟูที่เห็นเป็นรูปธรรม เน้นฟื้นฟูแนวปะการัง ทรัพยากรสัตว์ทะเล ผลกระทบต่อชายฝั่งและชายหาด ไม่ใช่ฟื้นฟูแค่เกาะเสม็ดและเรื่องการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการเยียวยาต้องให้ทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบ ให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ เรื่อง โดยเสนอให้มีคณะกรรมการฟื้นฟู ที่ประกอบด้วยประชาชน ชาวประมง 60% นอกนั้นเป็นนักวิชาการ องค์กรอิสระ เพื่อถ่วงดุลข้าราชการ
ทั้งนี้ กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ได้แถลงข่าว "1 เดือน: การเพิกเฉยของรัฐต่อข้อเรียกร้องตั้งคณะกรรมการอิสระ กรณี PTTGC ทำน้ำมันรั่วไหลสู่ทะเล" โดยนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว กล่าวว่า หลังจากที่ทางเครือข่ายได้มีการรณรงค์ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีน้ำมันรั่วผ่าน www.change.org โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 48,000 คน และทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นรายชื่อให้กับรัฐบาลไปแล้ว แต่รัฐบาลยังเพิกเฉย
"สถานการณ์ในพื้นที่ตรงกันข้ามกับการโฆษณาของ ปตท.ที่กำลังมีการโหมโฆษณาว่าเสม็ดดีขึ้นแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่จุดเกิดเหตุ ยังคงยืนยันและร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่าผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเสียหายในหลายมิติ อีกทั้งการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรม"
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตามข้อเรียกร้องที่กลุ่มฯ ได้เสนอไว้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยทางกลุ่มฯ จะเดินหน้ากดดันให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้จนถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีมาตรการควบคุมตรวจสอบไม่ให้เหตุนี้เกิดซ้ำอีกในอนาคต