วิจัยชี้ ‘วิทยุชุมชน’ ไม่พร้อมเปลี่ยนเข้ายุคดิจิตอล เหตุทุน-ความรู้สู้ธุรกิจไม่ได้
วิจัยชี้เครือข่ายวิทยุชุมชนไม่พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล เหตุทุน-ความรู้-เทคโนโลยีไม่เอื้อ เเนะกสทช.ยอมปล่อยกระจายเสียงระบบ 'อนาล็อก' ก่อน จนกว่าราคาเครื่องส่งถูกลง
วันที่ 30 ก.ย.2556 สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) จัดโครงการสมัชชากรรมการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และเวทีสาธารณะติดตามการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวาระครบ 2 ปี ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน
โดยในเวทีได้มีการเผยแพร่ข้อสรุปต่อผลการศึกษา ‘การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงระบบดิจิตอลของประเทศไทย’ ที่มีนายสาโรจน์ แววมณี นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ศึกษาค้นคว้า มีเนื้อหาว่า ถ้าไทยเลือกระบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB+ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อก เนื่องจากการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB+ ใช้ย่านความถี่ VHF Brand lll (ช่วงความถี่ 174-240 MHz) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่โทรทัศน์อนาล็อกที่ใช้อยู่
อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายและแผนงานของกสทช.ที่จะเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลในต้นปี 2557 สามารถทำได้โดยใช้ความถี่ ‘ย่านความถี่ป้องกันการรบกวนกันของคลื่น:คลื่นพาห์ย่อย’ ของการส่งสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อก โดยในส่วนกลางจะเลือกใช้คลื่นความถี่ของช่อง 6, 8 และ 10 ส่วนในเขตจังหวัดที่ห่างไกลจะใช้คลื่นความถี่ช่อง 5, 7 และ 9
ผลการศึกษา ยังเปิดเผยว่า ถ้ากสทช. เลือกใช้ห่วงโซ่ของการให้บริการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลหรือโครงสร้างการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลแบบเดียวกับห่วงโซ่ของการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลหรือการแบกโครงสร้างการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้สถานีวิทยุกลายเป็น ‘ผู้ผลิตรายการวิทยุ’ หรือ ‘เจ้าของช่องรายการวิทยุ’ และการส่งสัญญาณก็จะต้องใช้บริการของผู้ให้บริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกแทน
สำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุระดับชาติ ทั้งประเภทบริการทางธุรกิจและสาธารณะคงจะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ แต่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุ ประเภทบริการชุมชน คงจะเกิดปัญหามากมาย เช่น สถานีวิทยุชุมชนที่ห่างไกลจะส่งรายการวิทยุของตนไปยังผู้ให้บริการโครงข่ายอย่างไร มีความสามารถในการหารายได้เพื่อจ่ายค่าบริการให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่ และความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อการกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอลมีเพียงพอหรือไม่
“ภาพรวมของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของไทย โดยมีกสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแล และมีการประกาศระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมานั้น มีคำถามเกิดขึ้นอีกมากมาย” ผลการศึกษา ระบุ และยกตัวอย่าง เช่น กระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเท่านั้นหรือไม่ และจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อ (ความเป็นเจ้าของและเนื้อหาที่หลากหลาย) เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะ ‘บังคับ’ หรือ ‘สร้างแรงจูงใจ/สมัครใจ’ ซึ่งลักษณะบังคับนั้น เป็นการกำหนดให้การกระจายเสียงวิทยุทุกประเภทต้องเป็นการกระจายเสียงดิจิตอลทั้งหมด และกำหนดเวลายุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อก โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ส่วนลักษณะสร้างแรงจูงใจ/สมัครใจ เป็นการกำหนดให้วิทยุที่มีความพร้อม เช่น วิทยุธุรกิจขนาดใหญ่และวิทยุสาธารณะ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลก่อน จากนั้นเมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลง สัญญาณดิจิตอลครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 90 และผู้รับบริการเปลี่ยนเครื่องรับวิทยุเป็นระบบดิจิตอลมากกว่าร้อยละ 50 แล้ว กสทช.จึงมีมาตรการที่ทำให้วิทยุชุมชนและวิทยุธุรกิจขนาดเล็กสามารถกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลได้
ดังนั้น จากข้อสรุปผลการศึกษาดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะให้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล ควรให้สถานีวิทยุธุรกิจขนาดใหญ่และสถานีวิทยุบริการสาธารณะเริ่มกระจายเสียงในระบบดิจิตอลก่อน เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงทุนและความรู้ เทคโนโลยีดิจิตอล นอกจากนี้ถ้าใช้ออสเตรเลียเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนผ่าน ควรเริ่มกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลในเขตเมืองใหญ่ที่มีการใช้คลื่นความถี่ที่หนาแน่นก่อน เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา
ส่วนวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก (ท้องถิ่น) และวิทยุชุมชน ควรกระจายเสียงระบบอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ไปก่อน จนกว่าเครื่องส่งดิจิตอลจะราคาถูกลง และผู้รับบริการซื้อเครื่องรับดิจิตอลมาใช้มากกว่าร้อยละ 50 ถึงจะเริ่มส่งเสริมให้วิทยุธุรกิจขนาดเล็กและวิทยุชุมชนเข้าสู่กระบวนการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล
สำหรับการกำหนดมาตรฐานเครื่องส่งดิจิตอลนั้น นายสาโรจน์ มีข้อเสนอว่าควรคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศของไทยด้วย ซึ่งอาจเลือกใช้ระบบ DAB+ และDRM+และการกำหนดมาตรฐานเครื่องรับวิทยุ ควรจะกำหนดให้สามารถรับคลื่นสัญญาณ ทั้งอนาล็อกและดิจิตอล (เอเอ็ม, เอฟเอ็ม, DAB+, DRM+)
อย่างไรก็ตาม หากส่งเสริมให้วิทยุชุมชนทดลองกระจายเสียงระบบดิจิตอล จำเป็นต้องให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่สถานีวิทยุชุมชน และเริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนดิจิตอลในเขตเมืองใหญ่ก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สะสมองค์ความรู้และเผยแพร่ความรู้การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลแก่สถานีวิทยุชุมชนนอกเขตเมืองใหญ่ในอนาคต .
ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349496929&grpid=03&catid=03