“พิทยา ว่องกุล” ซัดนโยบายขายผ่อน บั่นทอนเศรษฐกิจชุมชน
นักวิชาการระบุนักการเมืองดีแต่ปาก ผลักชาวบ้านเป็นลูกจ้าง-สร้างหนี้-ไม่พัฒนา แนะหนุนเศรษฐกิจภูมิปัญญา–วิสาหกิจชุมชน-ท่องเที่ยววัฒนธรรม-แปรรูปสินค้าการเกษตร- กระจายอำนาจ หากไม่มีอย่าเลือก
วันที่ 13 มิ.ย. 54 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(แอลดีไอ) และเครือข่ายพลเมืองภิวัฒน์ จัดเวทีพลเมืองอภิวัฒน์ คนเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน “20 คมความคิด 20 ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศ”
นายพิทยา ว่องกุล นักวิชาการอิสระ บรรยาย ความหวังสุดท้ายประชาธิปไตยจากฐานราก ประชาธิปไตยชุมชน ว่านโยบายแต่ละพรรคการเมืองมีเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองของชุมชนที่นำไปสู่ความยั่งยืนน้อยมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้ทุนทางภูมิปัญญา หรือการสร้างเครื่องมือยกระดับให้ชุมชนยืนได้ด้วยขาตนเอง ที่เสนอออกมายังเป็นลักษณะขายผ่อนส่ง ที่ท้ายที่สุดชาวบ้านจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระหนี้สิน ในขณะที่ชุมชนเองก็ไม่พัฒนา
นายพิทยา กล่าวต่อว่า ที่พรรคการเมืองต้องทำคือนโยบายแบบชุมชนาธิปไตย หรือการสร้างฐานของชุมชนด้วยชุมชนเข้มแข็งในทุกด้าน แต่ในแง่เศรษฐกิจสำคัญที่สุดคือนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเป็นตัวสร้างฐานอาหารให้ชุมชน ตรงนี้หากทำได้ครบถ้วนจะช่วยลดรายจ่ายทันที 10% เพราะปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านเผชิญในขณะนี้ล้วนมาจากนโยบายที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดในเชิงการผลิตเพื่อขาย ปล่อยให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรเป็นเพียงคนรับจ้างของบริษัทใหญ่
“ทฤษฎีพอเพียงมีพรรคเล็กๆพรรคเดียวที่เสนอ ทั้งที่นโยบายเศรษฐกิจเป็นฐานของพัฒนาประเทศ ถ้าเศรษฐกิจชุมชนดีปัญหาอื่นๆ ก็คลี่คลายไปได้ง่าย แต่นี่ไปพัฒนารถไฟฟ้า หานโยบายที่ทำให้คนมีหนี้แทนที่จะตัดวงจรหนี้ อย่างนี้หมดวังไม่ต้องพูดว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อ”
นายวิทยา กล่าวอีกว่า การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงบนรากฐานของชนบทคือทางเดียวที่จะไปรอด เห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม เอกชน หรือแม้แต่ธนาคารล้มหมด สังคมไทยต้องใช้ชนบทเป็นหลังให้พึ่งพิง คนเมืองพุ่งกลับชนบท จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างเศรษฐกิจชุมชนคือการเตรียมการรองรับอย่างเหมาะสมและเป็นไปได้มากกว่าวิธีอื่นๆ
“นักการเมืองไทยดีแต่ปาก พรรคหนึ่งเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำได้ไหม หรือถ้าทำได้จริงจะส่งผลกระทบต่อภาคอื่นๆอย่างไร สินค้าต้องแพงขึ้นเพราะค่าครองชีพสูง บอกจบปริญญาตรีให้หมื่นห้า ผู้ประกอบการในเมืองพัง คนงานต่างด้าวเข้ามา พ่วงถึงการรักษาพยาบาลที่ถูกเบียดบังจากแรงงานพวกนี้”
นายพิทยา กล่าวด้วยว่า หลักคิดของชุมชนาธิปไตยนี้หมายรวมถึงการกำหนดนโยบายด้านอื่นๆ ด้วยการกระตุ้นให้ชาวบ้านใช้ทุนเดิมที่มีอยู่มาพัฒนา โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ทำ เป็นนโยบายที่อาศัยความต่างไม่ใช่ความเหมือนหรือการรวบเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาพัฒนาแบบเดียวกันหมด เช่น อาจกำหนดว่าจะให้งบประมาณสนับสนุนท้องถิ่นให้จัดการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่ชี้นำว่าหากเลือกพรรคนี้จังหวัดนี้จะถูกทำให้เป็นเมืองท่า นโยบายที่ดีต้องตัดการเมืองท้องถิ่นให้ขาด และมุ่งเป้าไปที่คนทั้งประเทศ หรือต้องถามคนที่จะมาเป็นรัฐบาลว่ามีนโยบายส่งเสริมแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรหรือหนุนวิสาหกิจชุมชนหรือไม่ เพราะปัญหาจริงๆที่มีอยู่คือมีสินค้าแต่ไม่มีตลาด
“หรือพรรคการเมืองไหนที่สนใจจะกระจายอำนาจบริหารให้ชุมชนจัดการ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้ทุนหรือกระทรวงต่างๆมาแทรกแซงอีก หรือพูดง่ายก็คือจะมีสักพรรคการเมืองไหมที่มีนโยบายที่บอกได้ว่าจะพิทักษ์ปกป้องชุมชนอย่างไร ถ้าคำตอบคือไม่มีก็ไม่ควรเลือก” นายพิทยา กล่าว .