‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ เชื่อทฤษฎี ‘สร้างผีให้คนกลัว’ ลดคอร์รัปชั่นได้
ถกเเนวคิดหาทางออกประเทศไทย 'จรัญ' ชี้ประชานิยมเอื้อโกง ต้องเเก้ที่การเลือกตั้ง-เพิ่มอำนาจกกต.อิสระ อดีตปธ.รัฐสภา เเนะทฤษฎีลดคอร์รัปชั่น ต้องสร้างผีให้คนกลัว เผยรู้สึกเสียดายนายกฯ ไม่ค่อยเข้าสภา 'หม่อมอุ๋ย' จนปัญหาเเก้ประชานิยมเฟ้อ ส่อปท.พัง จี้รบ.เปลียนทีมศก.ยกชุด เหตุมือบริหารเงินไม่ถึงเเก่น
วันที่ 28 กันยายน 2556 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 พร้อมเวทีเสวนา ‘ทางออกประเทศไทย’ ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของไทยที่ต้องเร่งแก้ไขเฉพาะหน้า คือ ความสามัคคีของคนไทย เพราะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชน ซึ่งเกิดจากความแตกสามัคคีในแวดวงการเมืองที่ถือเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนรัฐนาวา เมื่อเกิดความแตกแยกเรือลำน้อยนี้ก็ยากจะแล่นฝ่าคลื่นลมแรงได้ นอกจากนี้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่สะสมผลประโยชน์ได้เปลี่ยนเป็นทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นเรื่องใหญ่และมะเร็งร้ายของประเทศที่ต้องหาทางออกให้พ้นจากโรคนี้
อีกทั้งการเปิดพื้นที่ปลุกระดมของประชาชนเพื่อแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยนักปลุกระดมมวลชนที่หวังเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง พรรคพวก มิใช่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของชาติเลยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเร่งแก้ไข อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่าเราพลาดที่ปล่อยให้มีการเปิดพื้นที่ปลุกระดมประชาชนลักษณะนี้มาอย่างยาวนาน
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เป็นรากเหง้าให้เกิดปัญหาต่าง ๆ นั้น คือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม ซึ่งหากเราจะแก้ประชาชนทั้งหมดยากมาก ถ้าระบบการเลือกตั้งของไทยที่มุ่งจับคนเข้าสู่อำนาจรัฐยังเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ตราบใดที่ยังมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในระบอบเสรีประชาธิปไตยอยู่
“ทุกวันนี้ระบบราชการเป็นลูกน้อง ไม่ใช่นาย ผิดกับสมัยก่อนตอนผมรับราชการใหม่ ๆ ผู้กุมอำนาจทางการเมืองจะเกรงใจข้าราชการประจำ แต่เดี๋ยวนี้ข้าราชการทุกระดับเป็นลูกน้อง เจ้านายเป็นนักเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะชนะการเลือกตั้งมาด้วยวิธีการใด เพราะถือว่าเป็นผู้บงการชีวิตการรับราชการ ซึ่งเวลานี้ทุกระบบเป็นเช่นนี้” ศ.พิเศษ จรัญ กล่าว และว่าเมื่อระบบการเข้าสู่อำนาจตกอยู่ในระบบการเลือกตั้งที่เปิดเสรีให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างรุนแรงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงชาติ ต่อไปเราจะบอกคนรุ่นใหม่ได้อย่างไรว่าต่อไปนี้ห้ามเลือก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงกลายเป็นปัญหาร้อยแปดในไทย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อว่า เมื่อต้องใช้เงินในการเลือกตั้งก็ต้องหาเงิน ไม่มีทางอื่นเลย ซึ่งรอบแรกนักเลือกตั้งอาจจะขายสมบัติส่วนตัวเพื่อซื้อเสียงให้ชนะ แล้วเลือกตั้งรอบใหม่จะเหลืออีกเท่าไหร่ แต่ยังไม่ร้ายเท่ากับการสะสมกระสุนดินดำเพื่อสู้เลือกตั้งครั้งหน้า เพราะฝ่ายที่แพ้รู้แล้วว่าต้องต่อสู้อย่างไร ไม่ใช่เพียงปลาเค็มหรือรองเท้าแตะ แต่จะเป็นเงินหลายพัน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้พิพากษาตัดสินให้คนที่ทุจริตขายเสียงมีโทษทางอาญาและปกครอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหัวคะแนนปลายแถว ไม่เคยจับได้ตัวใหญ่ ซึ่งหัวคะแนนตายหนึ่งเกิดร้อยไม่มีวันหมด ที่สำคัญเราจับได้ไม่มาก ประกอบกับขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีแต่ละครั้งใช้เวลานาน ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเห็นผลร้าย ดังนั้นเมื่อผู้กุมอำนาจรัฐได้คะแนนเสียงมาด้วยการใช้เงินก็ต้องหาเงิน เมื่อเจ้านายต้องการเงิน ข้าราชการประจำก็ต้องหามาให้ มิเช่นนั้นจะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้
ศ.พิเศษ จรัญ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุกรณีข้างต้นว่า เพราะมีการปล่อยให้ระบบทุนกับการเมืองผสมพันธุ์กัน ถือเป็นสิ่งอันตรายที่สุด เมื่อทั้งเงินและอำนาจรัฐรวมอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเดียวกันแล้ว คนกลุ่มนั้นจะนับถือเงินเป็นพระเจ้า เพื่อประคับประคองสถานะให้ดำรงอยู่ได้
“การขายเสียงไม่ใช่เพราะคนจน แม้จะจริงอยู่ที่คนจนขายเสียงได้ถูก แต่ความจริงเป็นเพราะระบบการเลือกตั้งได้เปิดช่องไว้ ผมไม่รู้จะโทษใคร จึงอยากโทษที่การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมของไทย” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว และว่าไทยมุ่งเน้นจีดีพีทางเศรษฐกิจ ราคาทองคำ มูลค่าหุ้น แต่ผมไม่เคยเห็นการเอาจริงเอาจังของไทยที่จะพูดถึงการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เพราะจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเทพกับเปรตที่หิวโหยได้
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า การปล่อยให้เกิดการรวมทุนใหญ่กับนักการเมืองได้ เพราะทุนใหญ่เข้าคุมนักการเมืองทั้งระบบ อีกอย่างหนึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะต้องผ่านระบบพรรคการเมือง จึงทำให้ส.ส.หลายคนไม่ไหนไม่รอด แม้กระทั่งนักการเมืองเองยังยอมรับว่าเป็นระบบทาส เพราะหากลงมติไม่สอดคล้องกับมติพรรคก็จะถูกขับไล่ไม่ได้ลงเลือกตั้งสมัยหน้า ถึงจุดนี้จึงไม่สามารถไปไหนได้ เปรียบเสมือนเป็นลูกไก่ในกำมือ
ฉะนั้นทางออกประเทศไทยต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการเลือกตั้งเกิดความสุจริตและเป็นธรรม เรียกว่าให้เติบโตด้วยความรักใคร่ของประชาชนจากการเห็นผลงาน ซึ่งนักการเมืองลักษณะนี้ยังมีอยู่ แต่ไม่มีวันชนะเลือกตั้ง เพราะแพ้ทางเงิน “ประชาชนรักแต่ไม่เลือก”
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้ให้มองไปถึงกลไกการขับเคลื่อนการเลือกตั้งที่โปร่งใส นั่นคือ การทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำได้หากมีกำลังเต็มพิกัด แล้วเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับระบบศาลอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ยอมรับว่าคู่ต่อสู้ทางการเมืองต่างต้องการดึงกกต.เข้ามาเป็นพวกตน เพราะนอกจากจะปกป้องตนเองแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมนั้น จะต้องมองให้มากกว่าจีดีพีทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่มีความรู้จึงขอนำเสนอเพื่อชวนคิดว่าจะทำอย่างไร ขณะที่การทำลายระบบการรวมตัวของกลุ่มทุนและนักการเมืองนั้น จำเป็นต้องสร้างให้การเมืองเป็นอิสระจากการครอบงำของกลุ่มทุน ซึ่งเชื่อว่าหากทำสำเร็จไทยจะมีนักการเมืองที่ดีมาปกครองประเทศ
ท้ายที่สุด ศ.พิเศษ จรัญ สรุปสิ่งที่อยากนำเสนอ 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ต้องจำกัดพื้นที่ของนักเลือกตั้งให้แคบลงเรื่อย ๆ แล้วเพิ่มโอกาสให้นักประชาธิปไตย นักการเมืองที่แท้จริง ผู้ทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์หรืออำนาจรัฐ
2.ต้องต่อยอดประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น
3.ต้องสกัดกั้นธุรกิจการเมืองโดยกลุ่มทุนสามานย์ลอบเข้ามาบริหารประเทศผ่านสุนัขรับใช้ ระบบพรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม
4.ต้องเสริมกำลังให้กับระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลผลประโยชน์ทับซ้อน วาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตเชิงนโยบาย มะเร็งร้ายของประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้โกงกินแต่ในประเทศ แต่ผันไปให้ทุนใหญ่ในต่างประเทศ ถือเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง
5.ต้องยืนหยัดให้มั่นคงว่าประชาธิปไตยของไทยต้องดำเนินไปด้วยผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติ และจะเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองใด หรือเฉพาะประชาชนที่เลือกเราเข้ามาเท่านั้น อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตย
6.ผีป่าเงินดี ผีบ้านจึงโม่แป้ง หมดแรงทำงาน
'อุทัย พิมพ์ใจชน' ชี้เเก้รธน.เปลืองกระดาษ-เปลืองเวลา
ด้านนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังเดินไปสู่ทางตัน หากไม่คิดเตรียมทางออกไว้เชื่อว่าอนาคตจะลำบาก ซึ่งในฐานะที่ตนเองเป็นนักการเมือง เห็นว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหนักใจจะเป็นที่พึ่งและทางออกให้ได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้หลายคนคงไม่หวังพึ่ง เพียงติดตามไปอย่างนั้น เพราะไม่มีใครไปห้ามอะไรได้อีก นอกจากนี้นักการเมืองก็ไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร ทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับนักการเมือง
แต่สำหรับผมแล้วมองการเมืองไทยยังดีอยู่ ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.ไทยเคยมีปัญหาบ้านเมือง ซึ่งอดีตมักแก้ไขด้วยการพึ่งทหารที่มีระเบียบวินัยในการยึดอำนาจขับไล่นักการเมือง และคิดว่าเป็นวิธีการแก้ไข แต่ผลสุดท้ายกลับพาบ้านเมืองไปสู่อาการโคม่า เพราะคนไม่ใช่นักการเมืองมาทำงานการเมืองทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ อยากขอร้องว่า อนาคตหากบ้านเมืองเจอทางตันควรให้จบกันในสภา และสุดท้ายจะนำมาสุ่การตัดสินใจของประชาชนเอง
2.อยากให้มองรู้จักส.ส.ทุกคนเหมือนอย่างที่ผมรู้จัก ซึ่งผมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย ถามว่าผมเบื่อหรือไม่ที่ไม่ได้ไปไหน ตอบได้เลยว่าไม่เบื่อ เพราะผมมองส.ส.ไม่เหมือนทุกคนมอง ดังนั้นจึงอยากให้มองส.ส.ให้ชัด แล้วจะมองเห็นว่าการเมืองเป็นปัญหาหรือไม่
“ผมอยู่จนเห็นชัดว่าสภาผู้แทนราษฎร คือ เงาสะท้อนประชาชน ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาทางการเมืองในสภาหมดเลย” อดีตประธานรัฐสภา กล่าว และยกตัวอย่าง มีส.ส.ซื้อเสียงมาอยู่ในสภา เราก็ดูถูกว่าผู้แทนคนนี้นำเงินมาฟาดหัวชาวบ้าน ชาวบ้านก็เห็นแก่ปลาทูเค็มเข่งเดียว แต่นั่นสะท้อนให้เห็นว่าราษฎรจังหวัดนั้นจน ถึงได้เห็นแก่เล็กแก่น้อย ดังนั้นคนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรู้ และหันไปหารมว.คลังว่าไปดูหน่อยทำไมคนถึงจน พร้อมอุดหนุนเงินไปช่วยได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีกรณีส.ส.บางคนลุกขึ้นพูดคำก็ท้าชก ถกแขน เป็นนักเลงใหญ่โต สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่นั้นมีนักเลงเยอะ คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรู้แล้วหันไปหารมว.มหาดไทยว่าหาผู้กำกับสถานีตำรวจดี ๆ ไปประจำหน่อย ซึ่งหากมองสภาลักษณะนี้จะเห็นประโยชน์ได้
นายอุทัย กล่าวต่อว่า ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องแก้ให้ตรงจุด ซึ่งการมีสภาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ต้องลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน เพียงเยี่ยมสภาก็รู้แล้ว เพราะส.ส.ไม่เคยพูดถึงเรื่องตนเอง มีแต่พูดถึงจังหวัดของผม จึงพิสูจน์แล้วว่าสภามีไว้ในนายกรัฐมนตรีเข้าไปนั่งฟัง โดยไม่ต้องไปตรวจเยี่ยมราชการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหลายคนไม่ค่อยรู้ประโยชน์จากสภาจึงไม่ค่อยเข้า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย
นอกจากนี้การสร้างความโปร่งใสในการเลือกตั้งต้องแก้ที่ประชาชนด้วยการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เพราะหากแก้ในสภาเท่าไหร่ก็ไม่จบ เพราะผู้แทนคลอดมากจากประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญ มองว่าหากยิ่งแก้รัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ยิ่งเหมือนกฎหมายอาญาของนักการเมือง
อดีตประธานรัฐสภา ยังกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเปลืองกระดาษ เปลืองเวลา หันมาสร้างคนรุ่นใหม่ดีกว่า คนรุ่นเก่าปล่อยให้ตายไป เพราะแก้รัฐธรรมนูญไปไม่เกิดประโยชน์ ตราบใดที่คนรุ่นปัจจุบันยังมีลักษณะเช่นนี้ พร้อมกันนี้เรียกร้องไม่ควรให้เกิดการปฏิวัติ แต่หวังให้ทุกอย่างจบในสภา
นายอุทัย กล่าวถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยว่ายากที่จะหาทางแก้ไขได้ เพราะยิ่งนานวันยิ่งเกิดการยอมรับกันมากขึ้น นอกเสียจากต้อง ‘สร้างผีให้คนกลัว’ หมายถึงออกกฎหมายไม่เอาผิดกับผู้ให้สินบน แต่เอาผิดกับคนรับสินบน ซึ่งเป็นข้าราชการ จะทำให้เกิดความกลัวว่าคนให้สินบนอาจจะไปแจ้งความได้หากผิดใจกัน กรณีเช่นนี้จะทำให้ข้าราชการกลัวและเกิดการปราบคอร์รัปชั่นได้สูง ซึ่งถือว่าจะเป็นทางออกที่คิดว่าได้ผล
'หม่อมอุ๋ย' เเนะรบ.เตรียมคุยฝ่ายค้านรับมือกู้ 2 ล้านล้านชะงัก
ขณะที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้พื้นที่ลงทุนใหม่เหลือน้อยลง ฉะนั้นทางแก้ไขต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อต่อยอดให้เศรษฐกิจหมุนตัวต่อได้
ทั้งนี้ ได้มองเห็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่วิธีการการเพิ่มค่าแรงโดยขาดการเพิ่มผลิตภาพนั้นส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่มีค่าอะไรเลย และเห็นว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบ้องตื้นไป เช่น นโยบายรถยนต์คันแรก
“เมื่อใช้ตัวบริโภคไม่ได้ผล เหลือวิธีเดียวคือใช้เงินค่าใช้จ่ายรัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่รัฐบาลมือไม่ถึง เพราะทำงานช้า” อดีตรมว.คลัง กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึงการกู้เงินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทว่า ผมเห็นด้วยในส่วน 1.2 ล้านล้านบาท ที่จะนำมาลงทุนรถไฟรางคู่ รถไฟชานเมือง ท่าเรือน้ำลึก แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการนำการจะนำมาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในใจอยากให้ผ่าน แต่ยังกังวลวิธีการกู้เงินนอกงบประมาณ เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย ซึ่งหากมีการตัดสินว่าผิดจะส่งผลให้โครงการทุกอย่างหยุดทันที ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหาวิธีการเตรียมรับมือไว้ด้วยการร่วมเจรจากับฝ่ายค้าน เพราะหากไม่เตรียมพร้อม เมื่อเกิดปัญหาจะส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอตัวไปอีกนาน
นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนในต่างประเทศแทน และเห็นว่าความก้าวหน้าของภาคเศรษฐกิจเอกชนจะเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะมองเกมออกหรือไม่
“จริง ๆ แล้วที่ภาวะเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้ค่อนข้างอ่อน เห็นได้ชัดจากการเพิ่มค่าแรง 300 บาท โดยไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แทนที่จะทยอยเพิ่ม ทำให้เหมือนไม่ได้อะไรเลย ความคิดตื้นนิดหนึ่ง” อดีตรมว.คลัง กล่าว และว่าต้องการมีคนที่เข้าใจในเรื่องนี้จึงจะผลักดันให้ถูกต้อง ปัญหาคือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้อาจจะไม่เข้าใจได้ดีพอ ถ้าเข้าใจทางออกกว่าจะเดินได้ แต่ต้องเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ
ส่วนนโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคใช้ล่อใจในการเลือกตั้งนั้น หากดำเนินโครงการมากไปอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ จึงหวั่นว่าจะเดินทางทับรอยยุโรปตะวันตกในหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องเดียวที่ผมมองไม่เห็นทางออก ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ประเทศจะค่อย ๆ พัง .