จี้กรมประมงหยุดรื้อโพงพาง ‘นักวิชาการ’ ชงวิจัยท้องถิ่นหาทางออกร่วมกัน
จี้รัฐหยุดรื้อเครื่องมือประมงพื้นบ้าน 'โพงพาง' หวั่นกระทบวิถีชีวิตดั้งเดิม พร้อมหนุนชุมชนวิจัยศึกษาข้อสรุป นักวิชาการชง 'รัฐ-ชุมชน' หาทางออกร่วมกัน เบื้องต้นเคลื่อนย้ายออกจากเส้นทางเดินเรือ กรมประมงอ้าเเขนยินดีรับฟังผลวิจัย หวังเเก้กติกาอนาคต
เร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อท้องถิ่น และเครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม จัดเสวนา ‘การบริหารทรัพยากรประมงแบบมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน:ทิศทางและแนวนโยบายในอนาคต’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงการวิจัยในระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพชาวบ้านส่วนใหญ่มักถูกครอบงำทางความคิด เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมักจะยอมจำนนและไม่อาจจะอธิบายปัญหาของตนเองได้ชัดเจน ทั้งที่มีความรู้สึกว่าการจัดการโดยคนภายนอกนั้นไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านลุกขึ้นมารู้จักตนเองโดยเร็ว เช่นเดียวกับการจัดการทรัพยากรประมงที่ชาวประมงต้องรู้จักตนเองภายใต้การมีส่วนร่วม
โดยการจัดการทรัพยากรประมงแบบมีส่วนร่วมนั้น ต้องให้ทุกฝ่ายหยุดทบทวนแล้วตั้งสติใหม่ภายใต้ความช่วยเหลือของภาครัฐที่จะต้องให้โอกาสชาวประมงได้ค้นหาตนเอง แทนที่จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อจัดการความรู้ร่วมกันจะได้เกิดความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับฐานทรัพยากร
“ถ้าชาวบ้านลุกขึ้นมาค้นหาความรู้แล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเกิดอำนาจของชุมชนที่จะอธิบายความต้องการของตนเองภายใต้ฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย” ผศ.ดร.บัญชร กล่าว และว่าหากไม่มีข้อมูลในการอธิบายก็ยากจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายที่มักมองมาตรฐานการจัดการทรัพยากรแบบเดียวกันทั่วโลก ฉะนั้นมองว่างานวิจัยท้องถิ่นจะเป็นตัวฉุกให้เกิดการอธิบายได้
ด้านดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายการรื้อโพงพางของภาครัฐว่า การจะอ้างกฎระเบียบฉบับเก่าตามรัฐธรรมนูญว่าโพงพางเป็นอุปกรณ์ที่กีดขวางการสัญจรทางน้ำและจับสัตว์น้ำมากเกินไปนั้นสุ่มเสี่ยงเกินไป ซึ่งภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนภาคประชาชนจะต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่าการใช้โพงพางก่อให้เกิดผลกระทบได้ด้วย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต้องหารือร่วมกันว่าจะหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร
“ผมเชื่อว่าชาวประมงโพงพางจะยอมรับในกฎกติกาใหม่ ซึ่งจะเป็นทางออก แต่มิใช่กำหนดว่าจะต้องรื้อโพงพางออกจากระบบประมง หากเป็นเช่นนั้นเปรียบเหมือนกับการตัดแขนตัดขา” นักวิชาการจุฬาฯ กล่าว
ดร.ศุภิชัย ยังกล่าวด้วยความรู้สึกสะเทือนใจตรงที่ความจริงแล้วโพงพางนั้นถือเป็นเครื่องมือประมงที่นิ่งประจำกับที่ โดยเรือที่สัญจรผ่านประจำย่อมรู้ว่าโพงพางถูกวางจุดไหน ฉะนั้นหากเปลี่ยนจากการรื้อเป็นเคลื่อนย้ายออกจากเส้นทางสัญจรจึงเป็นทางออกที่เป็นไปได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ต่างหากที่จะถือเป็นความร่วมมือให้เกิดการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันชาวประมงในพื้นที่จะประกอบอาชีพตามการคุ้มครองของรัฐธรรมนูญได้ด้วย
ขณะที่นายสุรจิต อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภาครัฐมีแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงร่วมกับชาวบ้าน เพราะทรัพยากรประมงไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ โดยกรมประมงได้ขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้านราว 90 ชุมชนมาก่อนแล้ว จนกระทั่งปี 2555 ได้ทบทวนนโยบายใหม่นำร่อง 22 จังหวัด โอนถ่ายนโยบายขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีข้าราชการเป็นพี่เลี้ยง ส่วนกรมประมงนั้นเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น
สำหรับคำสั่งรื้อโพงพางนั้น รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภาครัฐได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมง พ.ศ.2490 ที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่าโพงพางส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทะเล ซึ่งยอมรับว่าเนื้อหายังดั้งเดิมอยู่จริง เพราะไม่สามารถจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันความต้องการ อย่างไรก็ตาม จะพยายามเร่งผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ต่อไป เพื่อรักษาทรัพยากรทะเลที่ลดน้อยลง
“วันนี้กรมประมงมีความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะบางเรื่องทำไม่ไหว จึงคิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้วที่ต้องให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม” นายสุรจิต กล่าว และว่าหากมีการทำการวิจัยศึกษาตามที่เสนอจริง เราพร้อมยินดีรับฟัง เพื่อนำไปสู่การแก้กฎกติกาที่มีอยู่ต่อไป .