เปรียบสถานกักกันตม.เป็นเรือนจำ ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ชี้เด็กข้ามชาติไม่ใช่นักโทษ
‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ชี้เด็กข้ามชาติไม่มีความผิด ควรได้รับการคุ้มครอง ประกาศค้านถูกตม.กักกันเป็นนักโทษอาชญากร ส่อละเมิดสิทธิเด็ก ชงรัฐตั้งองค์กรกลไกป้องกันระดับชาติดูแล
วันที่ 27 ก.ย. 2556 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดแถลงข่าว ‘เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักแรงงานต่างด้าวกับการจัดการของรัฐไทย:ควรผลักดันหรือคุ้มครอง’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เด็กถือเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งโดยหลักการทั่วไปเด็กที่มีอายุน้อยมากถือว่าไม่มีการกระทำเลยจึงไม่มีความผิด ส่วนเด็กที่โตขึ้นระยะหนึ่งกระทำได้ แต่จะไม่มีความผิด ในขณะที่เด็กที่โตขึ้นมากกระทำความผิดได้ แต่ต้องได้รับโทษน้อยและได้รับการคุ้มครอง ฟื้นฟูตามกระบวนการตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2546
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีกฎหมายรองรับ แต่ยังพบว่ามีการจับกุมเด็กในข้อหาทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง และอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จำนวนมาก ซึ่งตามพ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้อำนาจทางเจ้าหน้าที่ตม.ดูแลในลักษณะฐานความผิดทางอาญา จนอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกตีตราเป็นอาชญากรที่กระทำอาชญากรรม และเป็นตราบาปติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต เพราะต้องมีการบันทึกประวัติในระบบอาชญากรทุกครั้ง
“ตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองจะควบคุมกรณีกระทำความผิดเท่านั้น แต่สำหรับเด็กเหล่านี้ อยู่ระหว่างรอส่งกลับไปประเทศต้นทาง ดังนั้นเมื่อเด็กไม่มีความผิดควรจะได้รับการดูแลและส่งเสริมการพัฒนาอย่างดี” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว และว่าตรงกันข้ามกลับพบระบบการทำงานของตม.เปรียบเสมือนเรือนจำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ อาหาร หรือพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย
นายสุรพงษ์ ยังตั้งคำถามต่อสังคมว่า กรณีพบเด็ก 1 คน ควรทำอย่างไร ซึ่งตามกฎหมายระบุชัดเจนว่า ถ้าพบเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เพียงลำพังที่ใดที่หนึ่ง ควรพาไปพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และ 3.เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ความช่วยเหลือ เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ในกรณีพาไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้น เมื่อเด็กได้รับการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว จำเป็นต้องพาไปอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่พม.ในบ้านพักเด็กและครอบครัว และประกาศหาผู้ปกครองต่อไป แต่หากหาไม่ได้จะต้องอยู่ในการคุ้มครองของรัฐให้ได้รับการศึกษา รวมถึงจัดทำทะเบียน เช่น ใบแจ้งเกิด เพื่อเด็กจะได้มีเอกสารการครอบครองความเป็นคน ส่วนเด็กไร้สัญชาตินั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องพิสูจน์สัญชาติก่อนส่งไปยังประเทศต้นทางแบบรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ส่งตามเขตชายแดน ซึ่งยอมรับว่ากระบวนการข้างต้นยังเกิดขึ้นน้อยมาก
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ระบุถึงข้อเสนอต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองควรจัดให้มีบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐานต่อการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก เช่น น้ำดื่มและน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ให้ให้มีห้องพิเศษเฉพาะและอุปกรณ์สำหรับดูแลแม่และเด็กอ่อน จัดอาหารให้สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม และต้องมีรูปเคารพ สถานที่ และเวลา เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางศาสนาได้ นอกจากนี้ควรเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมพื้นที่ด้วย
สำหรับการพัฒนาระบบในการดูแลและจัดการเด็ก โดยเด็กต้องอยู่ร่วมกับบิดามารดา หรือผู้ปกครองและได้รับการดูแลเลี้ยงดู โดยไม่ถูกแยกจากครอบครัว และควรอยู่ภายนอกสถานกักตัว เช่น ในบ้านพักเด็กและครอบครัวของหน่วยงานรัฐ และหากอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เด็กจะต้องได้อยู่ร่วมกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองในสถานกักกันด้วย และต้องไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว
ประธานอนุกรรมการฯ ยังกล่าวว่า ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและบุคลากรวิชาชีพเพศหญิงที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กให้เพียงพอ และต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องหลักการ ระบบ และกฎเกณฑ์การปฏิบัติต่อเด็ก และควรอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและคุ้มครองเด็ก รวมถึงสนับสนุนและเปิดโอกาสทางการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็ก รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาความรู้ต่าง ๆ
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้น นายสุรพงษ์ เห็นควรให้มีหน่วยงาน กลไกป้องกันระดับชาติตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีในการตรวจเยี่ยม และรายงานสถานการณ์ในที่ต้องกักอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ
ด้านนายสมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวถึงปัญหาลูกหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อ.มหาชัย จ.สมุทรสาครในช่วงกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 20,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ถือเป็นสถานที่บริการของรัฐให้ได้รับการคุ้มครองเพียง 10% ส่วนเด็กที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั่วไป ซี่งอาจหมายถึงเด็กเหล่านี้อาจได้รับการกระทำโดยคนไทยหรือกลุ่มคนด้วยกันเองก็ได้
สำหรับกระบวนการดูแลเด็กของตม.นั้นจะจำกัดเฉพาะกลุ่มที่กระจายตัว ในกรณีพบว่าเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารใด ๆ ก็จะถูกจับและนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ก่อนผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเมื่อพบเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกญาติหรือพ่อแม่มาเจรจาเร่งรัด
“กรณีเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติจบป.6 แล้ว ไม่ได้รับการศึกษาต่อ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบได้ทำการจับกุม ก่อนโทรให้ผู้ปกครองมาแสดงตัว แม้เด็กคนนี้พยายามนำหลักฐานทางการศึกษาในอดีตมาแสดงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับควมสนใจ” นายสมพงษ์ กล่าว และว่าในหลักปฏิบัติเมื่อเด็กได้รับการศึกษาจะถูกคุ้มครองอัติโนมัติ แต่เมื่อเด็กไม่ได้รับการศึกษาต่อแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างได้ว่าไม่มีเอกสารและกลายเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมูลนิธิฯ ต้องเข้าไปช่วยเหลือ มิเช่นนั้นครอบครัวก็จะพยายามดิ้นรนโดยการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนที่เฝ้าหาผลประโยชน์
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐยังขาดนโยบายปฏิบัติกับกลุ่มเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติไม่ชัดเจน ซึ่งวิเคราะห์แล้วมีความเปราะบางเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งการทำให้เด็กกลุ่มนี้พ้นจากความเปราะบางให้เด็กเข้าถึงสิทธิได้นั้น การพัฒนาการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และคุ้มครองเด็กเหล่านี้ได้ .
..............................................................................................................................