เมื่อทหารออกโรงค้านปกครองพิเศษ!
แม้ประเด็นปัญหาชายแดนใต้จะไม่ค่อยเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อกระแสหลักในช่วงนี้ เพราะความรุนแรงในพื้นที่ลดระดับลง แต่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง กับฝ่ายที่ไม่ได้รับผิดชอบงานความมั่นคงโดยตรง และฝ่ายการเมือง กำลังอยู่ในภาวะฝุ่นตลบอย่างน่าจับตายิ่ง
โดยเฉพาะการขัดกันทางความคิดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ "บีอาร์เอ็น" กลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ หรือพูดให้ชัดคือ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ กับเอกสารคำอธิบายอีก 38 หน้าของบีอาร์เอ็นซึ่งเพิ่งส่งถึงรัฐบาลไทย
เนื้อหาในเอกสารมีรายละเอียดมากมาย แต่ประเด็นร้อนแรงและทุกฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุดคือ การร้องขอ "เขตปกครองพิเศษ" หรือ Special Administrative Region
ปัญหาคือหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ได้รับเอกสารมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. แต่จนถึงป่านนี้เอกสารยังมีสถานะ "ลับ" สาธารณชน (รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วย) ยังไม่ได้มีส่วนรับรู้เนื้อหาที่แท้จริง (ยกเว้นที่ปรากฏเป็นข่าวกระเซ็นกระสาย) แต่แล้วจู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ก็ออกมาประกาศเสียงแข็งกร้าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษ"
ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ไปแสดงความเห็นบนเวทีสัมมนา "บทบาทสื่อท้องถิ่นและภาษามลายูระหว่างทางกระบวนการสันติภาพ" ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยกคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ทำนองว่า "ปัญหาคือเราไปหลอกว่าเขาเป็นคนไทย ความจริงเขาเป็นมลายู ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องส่งเสริมให้เขาเป็นเขา รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นมลายูไว้"
เป็นท่าทีที่สามารถนำไปตีความต่อได้หรือไม่ว่า พ.ต.อ.ทวี ในฐานะเลขาธิการ ศอ.บต. หน่วยงานดับไฟใต้ที่มีสถานะเท่าเทียมกับ กอ.รมน. "ยอมรับได้" กับเรื่องปกครองพิเศษ หากเป็นไปเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นมลายูและสร้างสันติภาพที่ดินแดนปลายด้ามขวาน
นี่คือท่าทีที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงของผู้รับผิดชอบ 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งคือ ผบ.ทบ. หัวหอกหน่วยงานด้านความมั่นคง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือแกนนำในคณะพูดคุยสันติภาพซึ่งได้รับอาณัติจากรัฐบาล
ประเด็นนี้ทำท่าจะบานปลาย คนช่างสังเกตแนะให้จับตาบทบาทของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ซึ่งเคยทำงานลับพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มมาก่อน เพราะระยะหลัง พล.อ.อกนิษฐ์ ออกสื่อถี่ยิบ และแต่ละรอบ "จัดหนัก" ทั้งข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็น และบทบาทของมาเลเซียซึ่งแสดงตัวในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย
อย่างล่าสุด พล.อ.อกนิษฐ์ ไปออกรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง บอกว่า เอกสาร 38 หน้าที่กำลังเป็นปัญหานั้น ที่แท้ไม่ใช่เอกสารของบีอาร์เอ็น แต่เป็นเอกสารที่มาเลเซียจัดทำขึ้นมาหลังจากได้พูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นแล้ว ในขณะที่มาเลเซียเองก็ได้ประโยชน์จากเอกสารนี้ เพราะหนึ่งในข้อเรียกร้องคือยกระดับมาเลเซียจาก "ผู้อำนวยความสะดวก" เป็น "คนกลางไกล่เกลี่ยเจรจา"
การเปิดข้อมูลลักษณะนี้ผ่านรายการโทรทัศน์เท่ากับเป็นการโยนระเบิดใส่มาเลเซียกันตรงๆ
ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ ผบ.ทบ. การขับเคลื่อนของเขาจึงนับว่าแหลมคมยิ่ง
ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็เดินหน้าเป็น track 2 track 3 (ช่องทางที่ 2 หรือ 3 นอกเหนือจากช่องทางหลักที่พูดคุยกันอยู่โดยคณะที่นำโดยเลขาธิการ สมช.) เร็วๆ นี้ก็มีข่าวหน่วยงานในพื้นที่หน่วยหนึ่งนำคณะบินไปสวีเดนเพื่อจับเข่าคุยแกนนำพูโลบางกลุ่ม ขณะที่ไฟลท์บินไปอินโดนีเซียก็ถี่ยิบ จนเกิดคำถามเรื่อง mandate (อาณัติ หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมาย) และความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่เองว่ามีหรือไม่ เพียงใด
แต่ปัญหาที่ซ้อนปัญหา และกำลังเป็นประเด็นเฉพาะหน้าในขณะนี้ก็คือ ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นในเอกสาร 38 หน้าย้ำอยู่หลายตอนว่าไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และข้อเรียกร้องทุกข้อรวมทั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไทย โดยมีการอ้างอิงมาตรามาอย่างชัดเจนด้วย โดยเฉพาะมาตรา 78 (3) ที่ว่าด้วยการพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่
การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า ลูกบอลสันติภาพถูกเขี่ยมายังฝั่งไทยแล้วโดยฝ่ายบีอาร์เอ็นที่แต่งตัวด้วยเสื้อคลุมสันติภาพสีสันสดใส (ไม่แยกดินแดน มีกรอบเวลาหยุดยิง แม้จริงๆ จะซ่อนเงื่อนปมไว้อีกมากมาย) ขณะที่องคาพยพต่างๆ ในหน่วยงานรัฐของไทยเองกลับยังมีความเห็นไปคนละทิศละทาง...
เมื่อเอกภาพไม่เกิด แล้วจะเอาพลังที่ไหนไปต่อรองกับเขา!
ที่น่าคิดก็คือเมื่อลูกบอลสันติภาพอยู่ฝั่งไทย การที่ไทยจะเล่นเกมเตะออก หรือเลี้่ยงลูกไว้รอเวลาหมดคงทำได้ยาก ดีไม่ดีจะเป็นฝ่ายถูกมองแง่ลบจากประชาคมโลกได้ เพราะวันนี้โจทย์ไฟใต้ได้เปลี่ยนไปแล้วนับตั้งแต่ความขัดแย้งได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะ โดยมีแกนนำบีอาร์เอ็นเป็นคู่สนทนา
ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทุกหน่วยต้องหันหน้าเข้าหากัน และพิจารณาอย่างมืออาชีพ รับได้หรือรับไม่ได้ก็ตอบเขาไป โดยเฉพาะเขตปกครองพิเศษ ถ้ายอมไม่ได้ก็ต้องอธิบายเหตุผลให้ได้ว่าเพราะอะไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญของเราเปิดช่องเอาไว้จริง เช่น รับไม่ได้กับเงื่อนไขอีก 10 ข้อที่ซุกอยู่ในข้อเรียกร้องเรื่องปกครองพิเศษ...อะไรอย่างนี้เป็นต้น จากนั้นจะได้ช่วยกันหาช่องทางสานต่อกระบวนการพูดคุยต่อไป จะกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ก็ว่ากัน พร้อมๆ กับเตรียมรับมือกับสถานการณ์ใดๆ ที่จะเกิดตามมา
อย่าปล่อยให้การพูดคุยสันติภาพตกอยู่ในภาวะติดล็อค และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรความรุนแรงรอบใหม่!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
ขอบคุณ : ภาพโดย ประเสริฐ เทพศรี จากศูนย์ภาพเนชั่น
อ่านประกอบ : อ่านคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่สรุปจากเอกสาร 38 หน้า ได้ใน
แกะรอยเอกสาร BRN (ตอน 3) เปิดสารพัดเงื่อนไขแลกหยุดยิง http://bit.ly/15l43Yh