กลุ่มประมงพื้นบ้านระยองกระทบหนัก ฉะสภาพพื้นที่จริงตรงข้ามโฆษณา ปตท.
"กลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว" เตรียมลงพื้นที่ระยอง 30 ก.ย.ชวนชาวบ้านร่วมโชว์ผลกระทบวิกฤตน้ำมันรั่ว หลังรัฐไร้คำตอบตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ เผยสภาพพื้นที่จริงยังไม่ปกติเหมือนในโฆษณา หมึกกระดอง-เต่าตนุตายเกลื่อน
ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำมันปตท.รั่วที่ทะเลระยอง แม้ว่าจะมีการณรงค์เรียกร้องจากประชาชนหลายหมื่นคนผ่าน Change.org ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบกรณีน้ำมันปตท.รั่ว เพื่อหาผู้รับผิดชอบ แต่รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในขณะที่ความเดือดร้อนที่แสนสาหัสของชาวบ้านทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากสารเคมีที่เริ่มปรากฎให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่ม Change.org เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ก.ย.จะลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จัดงาน "วิกฤตน้ำมันรั่ว : 2 เดือนผ่านไป การฟื้นฟูเสม็ดสำเร็จแล้วจริงหรือ" โดยชาวบ้านจะจัดกิจกรรมทำความสะอาดทะเล ด้วยการเก็บก้อนน้ำมันทาร์บอล กระดองหมึกและซากสัตว์น้ำๆ เพื่อแสดงถึงผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วว่ายังคงมีอยู่ รวมถึงมีเวทีสาธารณะโดยประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการเพื่อพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ด้านนายบุญปลอด สรเกิด อายุ 45 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ก่อนเหตุน้ำมันรั่วจะมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อย 60,000 บาทต่อเดือน แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพราะไม่มีปลา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกเรือได้ 3 วัน ได้ปลาหมึกแค่ 12 กิโลกรัม กับปลาอินทรีย์อีก 1 ตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้อย่างน้อยต้องได้วันละ 20-30กิโลกรัม สภาพแบบนี้ทำให้รู้สึกท้อแท้มาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ทะเลจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ขณะที่นายสันต์ เข็มจรูญ อายุ 49 ปี อาชีพประมงพื้นบ้าน กล่าวสอดคล้องกันว่า หลังจากวิกฤตน้ำมันรั่ว ทำให้เสียโอกาสในการทำประมงอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม และอยากให้ผู้ที่รับผิดชอบมาให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากสารเคมี เพราะตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าปลาที่จับได้มีการปนเปื้อนหรือไม่ ทำให้รู้สึกลำบากใจ กลัวว่าปลาที่จับมาได้จะมีอันตรายต่อผู้บริโภค และไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงอยากให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วนก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้
ด้านนางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 32,000 คนที่ลงชื่อผ่าน Change.org สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลยังคงเมินเฉย ซึ่งแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา จึงยืนยันว่าทางกลุ่มฯ จะเดินหน้ากดดันให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้จนถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจน และมีมาตรการควบคุมตรวจสอบไม่ให้เหตุนี้เกิดซ้ำอีกในอนาคต
ส่วนนายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อจะบอกความจริงให้กับสังคมรู้ว่า สภาพเหตุการณ์จริงที่ระยองยังไม่ปกติเหมือนในโฆษณา ที่ ปตท.กำลังป่าวประกาศอยู่ในตอนนี้ ความจริงยังตรงกันข้าม โดยเฉพาะเรื่องสัตว์น้ำที่ ปตท.บอกว่าไม่มีผลกระทบ แต่หมึกกระดองตายเป็นแสนๆ ตัว จนชาวประมงไม่สามารถหาปลาได้ เต่าตนุซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ตายไปกว่า 10 ตัว และยังมีก้อนน้ำมันลอยมาที่ชายหาดอยู่เรื่อยๆ เห็นได้ชัดเจนว่าผลกระทบยังมีอยู่ไม่ได้เป็นเหมือนในโฆษณาชวนเชื่อของปตท.
"อยากให้ปตท.มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ ต้องมีการตรวจสอบผลกระทบ ถ้ายังไม่แน่ใจอย่าเพิ่งให้นักท่องเที่ยวมา เพราะหากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่ แล้วกินอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือกลับไปแล้วป่วยเป็นโรคมะเร็ง ใครจะรับผิดชอบ ชาวประมงได้รับผลกระทบและเจ็บปวดที่หาปลาไม่ได้ แต่ก็ไม่สบายใจ หากปลาที่หาได้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการค้นหาความจริง แปลว่าพวกเรามีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ปตท.หรือเปล่า"
นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบความจริง เพื่อทำความจริงให้ปรากฎ เพราะทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่าน้ำมันรั่วไหลเท่าไหร่กันแน่ เพราะปตท.ทำลายหลักฐานด้วยการไม่อายัดเรือไว้ตรวจสอบ อีกทั้งไม่รู้ว่ามีการใช้สารซิลิคอน NSA ไปเท่าใด แต่ยืนยันว่าสารพวกนี้เป็นอันตราย เพราะในคู่มือการใช้ระบุเลยว่ามีผลกระทบต่อสัตว์น้ำโดยเฉพาะ ปลาหมึก และแพลงตอน แต่ปตท.กลับบอกว่าไม่มีผลกระทบ แต่ยังไม่มีการวิจัยรองรับ
ด้านนายวันชัย สุนานันท์ พ่อค้าส้มตำริมหาดแม่รำพึง กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วสามารถขายอาหารได้วันละ 1,000 - 2,000 บาท หากเป็นช่วงวันหยุดจะได้มากกว่าวันละ 3,000- 4,000 บาท แต่หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วก็ไม่สามารถขายของได้เหมือนเดิม เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เหลือรายได้แค่อาทิตย์ละ 500 - 1000 บาท มิหนำซ้ำผ่านไปแล้ว 2 เดือนทางครอบครัว ก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยจาก ปตท.ซึ่งเขาจ่ายเท่ากับค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ 9,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะความเสียหายจริงมากกว่านั้น เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อและได้รับความเดือดร้อนโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด