'ศรีสุวรรณ' ขู่ รบ.กล้าแก้พ.ร.บ.สร้างเขื่อนในอุทยาน อาจเจอม๊อบจนยุบสภาหนี
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟันธงรัฐบาลไม่กล้าแตะต้องกฎหมายแก้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติสร้างเขื่อนแม่วงก์ หากฝ่าฝืนมติมหาชน ย้ำพร้อมออกมากลางถนน ชี้อุทยานเป็นของคนไทยทั้งประเทศ
"เขื่อนแม่วงก์" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ใช้เวลา 8 ปี กับงบประมาณ 13,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์สำคัญคือการป้องกันน้่ำท่วม และแก้ปัญหาภัย โดยเลือกพื้นที่สร้างเขื่อน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ผืนเดียวกับห้วยขาแข้ง
ประเด็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยาน ทำได้หรือไม่นั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า กรณีการจะสร้างเขื่อนบนพื้นที่อุทยานนั้น สามารถกระทำได้ แต่จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและระบุขอบเขตที่จะเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก นอกจากจะต้องแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติแล้ว ต้องมาผ่านเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทอีกด้วย
"ในการแก้แต่ละครั้งใช้เวลานานพอสมควร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ ซึ่งมั่นใจ รัฐบาลไม่กล้าที่จะเสนอเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ หรือกฎหมายใดๆ แม้จะมีเสียงข้างมากในสภาก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งคนไทยทั้งประเทศจะไม่ยอม"
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวอีกว่า แม้ฝ่ายรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอ้างว่าพื้นที่ป่ามีประมาณ 30 กว่า % ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฎในพระราชกฤษฎีกาในกฎหมาย ทั้งที่พื้นที่ตามข้อเท็จจริงบางพื้นที่ถูกนำไปปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราไปแล้ว
“ขณะนี้เรามีพื้นที่ป่าไม่ถึง 20% ผืนป่าลดน้อยลงเรื่อยๆ จิตสำนึกของคนไทยเริ่มหวงแหนในเรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่อยากให้มีโครงการหรือกิจกรมใดๆเข้าไปแตะต้องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถ้ารัฐบาลจะแก้ไขพ.ร.บ.หรือกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่ไม่มีทางผ่านพลังประชาชนที่อยู่นอกรัฐสภาไปได้”
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่กล้าแตะต้องกฎหมายประเภทนี้ เนื่องจากสุ่มเสียงและบางทีอาจจะต้องยุบสภาหนี้ ตัวส.ส.เองก็ระมัดระวังต่อคะแนนเสียง ไม่น่าจะมีการฝ่าฝืนมติของมหาชน หากรัฐบาลทำเราพร้อมออกมากลางถนน เพื่อเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63
"การสร้างเขื่อนโครงการเดียวไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในยุคนี้ เนื่องจากขณะนี้เรามีพื้นที่ป่าเหลือน้อย อีกทั้งการทำประชาพิจารณ์ไม่ใช่คำตอบที่จะผ่านโครงการนี้ เนื่องจากแม่วงก์ไม่ใช่สมบัติของคนในพื้นที่เพียงฝ่ายเดียว แต่แม่วงก์คือสมบัติของคนทั้งประเทศ ดังนั้นคนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดนี้ใหม่"
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โพสต์เฟชบุค ช่วงไปลงพื้นที่ ติดตามและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่ อบต.กบินทร์บุรี และตำบลวังด่าน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยรับปากต่อไปน้ำจะไม่ท่วม เพราะจะมีการสร้างเขื่อนป้องกันเมืองและเขตพื้นที่เศรษฐกิจ มีเขตเทศบาลในโครงการบริหารจัดการน้ำอยู่ด้วย 3 แห่ง คือ เทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ เทศบาลเมืองปราจีนบุรี และเทศบาลเมืองกบินทร์บุรี จากทั้งหมด 31 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา พบว่า อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ที่จะสร้างภายใต้งบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนั้น มี 2 โมดูลที่ เกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน คือ ModuleA1 และ Module B1 โดย กลุ่มบริษัท ITD-POWERCHINA JV เป็นบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) กิจการร่วมไทย-จีน ประกอบด้วย ITD-POWERCHINA JV, บมจ. อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า, บริษัท ไชน่า เก๋อโจวบ๋า กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ แอนด์ พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด
ModuleA1:การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก และ Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ดูชัดๆ โมดูลเขื่อน พบ ‘แม่วงก์’ อยู่ในขั้นทบทวนผลศึกษาความเหมาะสม 10 เดือน
ขอบคุณภาพจาก www.rsunews.net