อย่ามัวแต่ชี้หน้ากัน! “โฆษิต” จี้ทุกฝ่ายผนึกกำลังสร้างบทบาทเกษตรกรให้เข้มข้น
ประธานกรรมการแบงก์กรุงเทพเผยประสบการณ์ 15 ปีโครงการเกษตรก้าวหน้า พบไทยมีศักยภาพ ปัญหาคือตัวละครไม่ครบ เน้นเกษตรกรสำคัญให้เร่งสร้างบทบาท ย้ำทุกฝ่ายผนึกกำลัง หากต่างฝ่ายต่างยืนชี้หน้าชะตาจะขาด
วันที่ 25 กันยายน ธนาคารกรุงเทพจัดงาน 15 ปี โครงการเกษตรก้าวหน้า โดยภายในงานมีการบรรยายพิเศษ “ประสบการณ์ 15 ปี โครงการเกษตรก้าวหน้ากับศักยภาพการเกษตรไทย” โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ณ ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
นายโฆษิต กล่าวถึงโครงการเกษตรก้าวหน้านั้น ใช้เวลาคิดโครงการนี้นานถึง 2 ปี เนื่องจากคิดไม่ออกว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างไร จนกระทั่งได้คำตอบว่า ทางธนาคารอยากมีบทบาททางด้านการเกษตร เนื่องจากการเกษตรเป็นพื้นฐานของประเทศ อีกทั้งเกษตรคือเรื่องที่เราถนัดและทำสืบสานกันมาแต่โบราณกาลจนกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศการเกษตร
สำหรับมิติของการเกษตรที่เข้าไปมีส่วมร่วมทางธนาคารต้องการให้เกิดความก้าวหน้า นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า เกษตรก้าวหน้า ดังนั้นจึงเกิดคำถามถัดไปว่า แล้วเกษตรจะก้าวหน้าได้ด้วยอะไร นั่นเลยกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาคำตอบให้ได้ โดยเล็งเห็นว่า ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้ ดังนั้น 10 ปีแรกของโครงการจึงเป็นการเน้นไปในเรื่องของความรู้เป็นหลัก
ปธ.กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวอีกว่า ความรู้สามารถช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรได้ และสิ่งสำคัญของการทำมาหากินนั่นคือเรื่องของคุณภาพ ดังนั้นเราต้องนำความรู้เพื่อเอามาลดความเสี่ยงและสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้น และสิ่งที่เราพยายามทำคือจะทำอย่างไรจึงจะเอาความรู้จากทุกฝ่ายมาให้ได้ เราอยากจะมีบทบาทตรงนี้เพราะเราคิดว่าเราทำได้ เนื่องจากเราไม่ได้มีพรรคพวก ไม่มีสี เราสามารถเลือกเอาใครก็ได้ที่มีความสามารถเพื่อที่จะมาถ่ายทอดให้คนเข้าใจ มีการจัดโครงการสนทนาเทคโนโลยีการเกษตร โดยทุกๆครั้งที่จัดเต้องมีความรู้เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือพยายามเอาเกษตรกรตัวจริงที่มีประสบการณ์มาอยู่ในขบวนการนี้ด้วย เนื่องจากความรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
“อีกสิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญนั่นคือเจตนาที่แน่วแน่หวังจะให้ความรู้เหล่านั้นมีโอกาสอยู่กับคนในพื้นที่นานๆ โดยพยายามให้แกนนำเกษตรกรในท้องถิ่นมาร่วมเสวนาด้วยทุกครั้ง นี่เป็นยุคแรกขพยายามดูแลความรู้”
นายโฆษิต กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองเป็นเรื่องของความเข้มแข็งทางวิชาการ คือรวบรวมความรู้ได้หลากหลายแต่ไม่สามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งการหาความรู้ใหม่ๆนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็น และถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่ออีก
“ที่สำคัญการบริหารจัดการ เรื่องปริมาณ เพราะหากมีผลผลิตเพียงนิดเดียวจะไม่สามารถทำการตลาดได้ อีกเรื่องคือคุณภาพ ผู้บริโภคทุกคนไม่ได้ต้องการของคุณภาพเดียวกัน ผู้บริโภคต้องการความหลากหลายของคุณภาพ โดยเกษตรกรต้องบริหารจัดการด้วยตนเอง” นายโฆษิต กล่าว และว่า นอกจากจะมีความรู้และบริหารได้แล้ว การขยายการผลิต ก็สำคัญ ไม่ใช่ผลิตแค่ให้คนไทยกิน 67 ล้านคน แต่เราต้องผลิตให้คนอื่นกิน ต้องพัฒนาตลาด จากคนไม่ชอบให้เขาชอบ พ่อค้าทุกคนไม่ได้เป็นนักพัฒนาตลาด ขณะนี้เราขาดผู้ส่งออกในการพัฒนาตลาด ขาดผู้รวบรวมที่เป็นผู้ช่วยบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นต้องจับคนกลุ่มนี้มาเชื่อมโยงกัน
ทั้งนี้ ปธ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรนั้นมีปัญหาเนื่องจากตัวละครไม่ครบ ขณะนี้มีแค่รัฐบาลกับเกษตรกร ยังขาดแกนนำเครือข่ายเกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิต ผู้ส่งออก อีกทั้งการขาดบทบาทของภาคเกษตรกรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บทบาทหน้าที่ของเกษตรกรที่จะต้องมีอย่างต่อเนื่องนั่นคือ “การต่อยอดความรู้ ดูแลผลผลิต และเกาะติดดการตลาด” ถ้าเกษตรกรเป็นอย่างนี้หมด พืชทุกพืชก็จะประสบความสำเร็จในตลาดโลก เราจึงต้องสร้างบทบาทเกษตรกรให้เข้มข้น
“ถ้าวันนี้ต่างฝ่ายต่างมายืนชี้หน้ากันอยู่ โดยไม่รวมตัวช่วยกันชะตาขาดแน่ ถ้าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมายืนเรียงกันอย่างพร้อมเพรียงจะเกิดพลังอย่างแน่นอน ประเทศไทยเราเก่ง มีโอกาสก้าวหน้า และศักยภาพสูง ไม่ใช่ว่าเราจะก้าวหน้าโดยไม่เปลี่ยนแปลง เราจะมีโอกาสเมื่อเราเปลี่ยน ถ้ายังไม่เปลี่ยนก็สู้ใครไม่ได้เช่นกัน”