องค์กรต้านคอร์รัปชั่น ยื่นมือช่วย "นักวิชาการ-สื่อ" หาทนายสู้คดีถึงที่สุด
องค์กรต้านคอร์รัปชั่นต่อต้านฟ้องสื่อ-นักวิชาการตรวจสอบปมทุจริตชาติ-ท้องถิ่น ยันทำหน้าที่ถูกต้องหนุนเดินหน้าต่อ เตรียมช่วยหาทนาย-ค่าใช้จ่าย ‘วิชัย อัศรัสกร’ ชงเปิดเวทีสาธารณะดีเบตสองฝ่าย หวังสังคมรับรู้ข้อเท็จจริงก่อนตัดสิน ‘ณัฏฐา-สมโภชน์’ ลั่นไม่ท้อ ตั้งเป้าทำงานเปิดโปงด้านมืดรักษาผลประโยชน์ชาติ
วันที่ 25 ก.ย. 2556 ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดแถลงข่าว ‘การปกป้องการข่มขู่ผู้ให้ข้อมูลกับสังคม’ ภายหลังเกิดพฤติกรรมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน จากกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฟ้องร้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และน.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์การขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz จนอาจสร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ตนเองไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือใส่ร้ายกทค.รายใดรายหนึ่งหรือสำนักงานกสทช.เลย เพียงแต่ทำหน้าที่วิจารณ์นโยบาย ไม่ใช่วิจารณ์ตัวบุคคล เพราะไม่เคยเอ่ยชื่อใคร นอกเสียจากเอ่ยชื่อองค์กรเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะสนใจเพียงแต่นโยบายมีลักษณะอย่างไรมากกว่าสนใจผู้ทำนโยบาย
ทั้งนี้ ปัญหาการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หลายคนคงทราบดีว่าบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ครอบครองคลื่นสัมปทานนี้อยู่ และหมดอายุสัมปทานเมื่อ 16 ก.ย. 2556 คำถามที่ตั้งไว้ คือ เพราะเหตุใดกสทช.จึงไม่นำคลื่นความถี่นี้ออกประมูล แต่กลับยืดอายุสัมปทานต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งตนเองได้เสนอให้กสทช.ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนต่อการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะการที่กสทช.อ้างว่า ย้ายผู้บริโภคไม่ทัน จะทำให้ซิมโทรศัพท์ดับ ทั้งที่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก่อนแล้ว
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังตั้งคำถามต่อกรณีดังกล่าวว่า กสทช.ได้ไตร่ตรองต่อการตัดสินใจครั้งนี้มีต้นทุนรวมอยู่ด้วย ซึ่งการตัดสินใจทุกอย่างย่อมมีทั้งผลประโยชน์และต้นทุน ดังนั้นการที่กสทช.ออกมาชี้แจงเพียงผลประโยชน์ด้านเดียวว่า ‘ซิมดับ’ คำถาม คือ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำเช่นนี้ และมีต้นทุนเท่าไหร่ ซึ่งจากการศึกษารูปแบบในอังกฤษที่มีการประมูลคลื่น 3G ล่าช้าไปถึง 3 ปี เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบวิธีการประมูลที่ละเอียด ซึ่งได้มีการคำนวณความเสียหายของโอกาสผู้ใช้บริการ 3G คิดเป็น 5-7 เท่าของมูลค่าคลื่น
“จากนั้นได้ลองมาคำนวณเล่น ๆ โดยเทียบเคียงกับไทย ซึ่งคลื่นความถี่ 1800 MHz มีมูลค่าราว 22,500 ล้านบาท ดังนั้นหากความเสียหายของโอกาสผู้ใช้บริการ 5-7 เท่า ตัวเลขจะอยู่ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท” ดร.เดือนเด่น กล่าว และว่า อยากให้กสทช.ชี้แจงว่า ได้คำนึงถึงต้นทุนส่วนนี้หรือไม่ กับการที่ไทยต้องเสียโอกาสในการใช้ 4G ล่าช้าไปอีก 1 ปี ซึ่งตนเองได้ตั้งข้อสังเกตเพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตาม ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงการฟ้องร้องครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีเสมือนการจุดประกายเล็ก ๆ ขึ้นมาให้ทุกภาคส่วนของสังคมลุกขึ้นมาตรวจสอบกสทช.มากขึ้น โดยจะเห็นได้ชัดว่าข ณะนี้มีหลายองค์กรลุกขึ้นมาตรวจสอบแล้ว
ด้านน.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า กรณีการขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz ทางไทยพีบีเอสได้ติดตามข้อมูลมาตลอด และมีความพยายามให้แหล่งข่าวทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น แต่เนื่องด้วยกสทช.อาจติดภารกิจมากจึงไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้หากย้อนกลับชมรายการข่าวทุกชิ้นจะมีการพูดถึงจุดยืนของกทค.อยู่ เพื่อเป็นความพยายามในการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ไทยพีบีเอสยังถูกติติงว่า มีการนำเสนอข่าวไม่รอบด้านและขาดการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งตนเองยืนยันอีกครั้งว่า สื่อมวลชนมีระบบการตรวจสอบข้อมูลอยู่แล้ว ประกอบกับจุดยืนของไทยพีบีเอสเมื่อแหล่งข่าวเห็นว่า ประเด็นไม่ถูกต้องก็สามารถจะติดต่อกับสถานีได้โดยตรง
ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ยังกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนอาจสร้างบรรยากาศแห่งความท้อถอยและหวาดกลัว แต่สำหรับตนเองนั้นจะเดินหน้าต่อสู้และทำงานต่อไป ภายใต้บรรยากาศของการตั้งคำถามเช่นนี้ พร้อมชวนคิดว่า หากสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่ตั้งคำถามกรณีนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อมวลชนและนักวิชาการต้องเปิดเผยข้อมูล ที่สำคัญองค์กรอิสระต้องพร้อมได้รับการตรวจสอบด้วย
สำหรับอีกหนึ่งกรณีสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ ออกหมายเรียกนายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในฐานะผู้ต้องหา ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน หลังถูกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทจากการนำเสนอข่าวการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนวัดวงเงินหลายร้อยล้านบาท จ.สมุทรปราการ ส่อไม่โปร่งใส
นายสมโภชน์ กล่าวว่า ตนไม่กลัวการถูกข่มขู่ และรู้สึกอบอุ่นใจที่เห็นถึงสิ่งที่พวกเราได้ทำในฐานะสื่อมวลชน ไม่เฉพาะตนคนเดียว ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนหมาเฝ้าบ้าน พวกเราทุกคนทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อจะตีแผ่ข้อเท็จจริง โดยให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน เมื่อใดก็ตามที่เราถูกปิดหูปิดตา ถูกคุกคามข่มขู่ ให้การทำหน้าที่ของเรานั้นไม่เป็นอิสระเท่ากับว่าประชาชนกำลังถูกปิดหูปิดตา
“ผมในฐานะทำหน้าที่สื่อมวลชนมา 22 ปี ผมยอมไม่ได้ที่จะให้มีวิธีการเช่นนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าจะทำหน้าที่นี้ต่อไป และช่อง 7 สีได้มอบนโยบายผมให้ทำหน้าที่นี้อย่างเข้มข้นต่อไปด้วย” ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 กล่าว และว่า การนำเสอนข้อเท็จจริงด้วยความสุจริต และไม่ได้นำเสนอเพียงด้านเดียว ที่สำคัญไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกรณีเหล่านี้เลย ซึ่งขอย้ำว่าเมื่อตนตรวจสอบอบจ.สมุทรปราการได้ ก็พร้อมให้อบจ.สมุทรปราการตรวจสอบตนเช่นกันด้วยกระบวนการยุติธรรม
นายสมโภชน์ กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย แต่อาจจะมีในบางขั้นตอนที่ดูแล้วไม่สบายใจ แต่ไม่กลัว เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์และถูกต้อง
ขณะที่นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า กทค.และอบจ.สมุทรปราการมีสิทธิที่จะฟ้องร้องสื่อมวลชนตามกฎหมาย แต่อยากให้มองว่า ผู้ที่ฟ้องร้องนั้นไม่ใช่คู่กรณีที่ขัดแย้งกันเลย หากเป็นเพียงการทำหน้าที่ฐานะสื่อมวลชนและนักวิชาการที่พยายามเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนให้รับรู้ เพื่อนำมาสู่การตัดสินเอง
อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านฯ เห็นว่า ‘ดร.เดือนเด่น-ณัฏฐา-สมโภชน์’ ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว และสนับสนุนให้ทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไป ทั้งนี้ พร้อมจะช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายและจัดหาทนายให้ต่อสู้คดีถึงที่สุด พร้อมกับเรียกร้องให้เกิดเวทีสาธารณะขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางดีเบตในการสร้างความเข้าใจสู่สาธารณชน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน .