เวที วสท.สอนมวยรบ.ชี้ ‘ประชาพิจารณ์’ ไม่สามารถทำสำเร็จในครั้งเดียว
เวทีผ่าแผน กบอ.ระบุ 9 โมดูลจัดการน้ำของ รบ.ไม่ใช่แผนแม่บท แนะทำให้ถูกต้อง ตามขั้นตอน ชี้ 'ประชาพิจารณ์' ไม่มีทางทำสำเร็จในครั้งเดียว ต้องรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยด้วย กรณีเขื่อนแม่วงก์ ด้าน 'ศรีสุวรรณ' เล็งฟ้องศาลปกครองเพิ่ม 5 คดี
วันที่ 25 กันยายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนา ผ่าแผน กบอ.เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ "ประชาสัมพันธ์ หรือประชาพิจารณ์" ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคาร วสท. โดยมี นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายปรเมศวร์ มินศิริ เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชน รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย
นายปราโมทย์ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนต้องศึกษาความเหมาะสมทั้งในด้านงานวิศวกรรม และด้านเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มทุน และผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และคน จากนั้นคือกระบวนการไปรับฟังความเห็นประชาชน แต่สำหรับโครงการในปัจจุบันใช้การจิ้มเลือกจากผลการศึกษาของกรมชลประทาน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่จากการเสนอแนวคิดของบริษัทที่ยื่นประมูล และยังไมผ่านกระบวนการศึกษาอย่างถูกต้อง จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นแผนแม่บท แต่เป็นกรอบแนวคิด หรือแผนที่อยากจะทำ
"ตั้งแต่สมัยผมเป็นอธิบดีกรมชลประทานทำงานก่อสร้างเขื่อนมาหลายเขื่อน แต่เขื่อนแม่วงก์ผลการศึกษาทำมาหลายครั้งก็ไม่ผ่าน ก็จบ ก็ชัดเจนแล้วว่า ไม่เหมาะสม การสร้างเขื่อนต้องผ่านระบบการทำงานของสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ใช่บอกเป็นเขื่อนในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้วทำได้เลย ทุกอย่างต้องผ่านระบบของ สผ.ตามปกติ" นายปราโมทย์ กล่าว และยืนยันว่ ตนไม่เคยบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งให้สร้าง
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อควรจะเริ่มต้นใหม่ ศึกษาให้รอบด้าน ความคุ้มทุน ผลกระทบ แล้วนำไปคุยกับประชาชน และเสนอเข้า สผ.ตามขั้นตอน เพราะสมัยตนก็ทำเช่นนี้ ไม่อย่างนั้นจะน่าเป็นห่วงมาก เมื่อแผนที่มีอยู่ไม่มีผลการศึกษาใดรองรับว่าจะตอบโจทย์ได้จริง คุ้มค่ากับเงินและทรัพยากรที่ต้องเสียไป
ฉะอย่าละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คัดค้านโครงการ
ด้านนายหาญณรงค์ กล่าวถึงกำหนดการและตารางการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ กบอ.วางไว้ เห็นว่า รูปแบบในการจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ใช่วิธีที่ควรนำมาใช้ ไม่ใช่แบบที่ศาลปกครองมีคำสั่ง แต่กลับจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
"กบอ.จะต้องให้ข้อมูลประชาชนก่อน และเปิดให้แสดงความเห็น แต่ขณะนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่ าจะมีส่วนร่วมในเวทีดังกล่าวได้อย่างไร ความคิดเห็นจะนำไปสู่การปรับปรุงแผนโครงการหรือไม่ ดูแล้วเจตนาการจัดไม่เอื้อให้เกิดการรับฟัง และการให้ข้อมูลเท่าใดนัก"
ทั้งนี้ หากมีผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย หรือออกมาเดินคัดค้านโครงการก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่ อบต.ลาดยาวออกมาขับไล่ผู้ที่คัดค้านโครงการให้ออกนอกพื้นที่นั้น ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ชี้ 9 โมดูลของ รบ. ไม่ใช่ 'แผนแม่บท'
ขณะที่รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า กบอ.นำแนวทางแก้ปัญหา ที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าแผนแม่บทไปกู้เงิน ออกแผนงานและกำลังจะนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทุกโครงการจะต้องมีทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบ แต่ กบอ.และรัฐบาลไม่เคยพูดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการก่อสร้างโครงการในทุกโมดูลเลย นำเสนอข้อมูลเฉพาะในทางบวก อีกทั้ง ยังมีการบิดเบือนข้อมูลอย่างหนัก โดยเฉพาะในโมดูล A5
"แผนแม่บทที่ดีต้องศึกษาแนวทางหลากหลาย เริ่มต้นจากทบทวนและปรับปรุงการบริหารจัดการเป็นอันดับแรก จำเป็นต้องมีแผนแม่บทที่เชื่อมโยง และลำดับความสำคัญ ระบุถึงข้อดี ข้อเสีย ดังนั้น แผนปัจจุบันที่วางไว้จึงไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้จริง ผมอยากให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายการจัดการที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องน้ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะนโยบายเรื่องข้าวที่เคยมีการประกาศเขตความเสี่ยงพื้นที่อุทกภัยไว้แล้ว หากไม่ปฏิบัติ ไม่ใช้กลไกเชิงนโยบายในการจัดการ การแก้ปัญหาจะไม่จบ"
แนะจัดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย
ส่วนนายศศิน กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นจะให้ได้ผลดี ควรจะเป็นเวทีปรึกษาหารือ โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ ต้องมีการประชุม หารือทางเทคนิค (Technical hearing) และรับฟังความเห็นในระดับกล่มย่อย (focus group) เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มนักวิชาการทางนิเวศน์วิทยา กลุ่มนายช่างชลประทาน กลุ่มนักจัดการน้ำ แต่การรับฟังความเห็นที่ผ่านมามักจะจัดหากลุ่มคนมานั่งฟังข้อมูลเพียงครั้งเดียว ให้แสดงความคิดเห็นและสรุปว่ามีผู้เห็นด้วยมากกว่าแล้วผ่านโครงการ ซึ่งหากเป็นไปตามกระบวนการ ขั้นตอนอย่างถูกต้องอย่างไรประชาชนก็จะยอมรับ คงจะไม่มีใครคัดค้านเช่นนี้
'ประชาพิจารณ์' ไม่มีทำสำเร็จได้ในครั้งเดียว
ด้านผศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า 10 โมดูล 9 สัญญาที่รัฐบาลเรียกว่าแผนแม่บท เป็นการนำแผนจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมารวมกัน เรียกว่าเป็นแผนเบื้องต้นในการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่ใช่แผนแม่บทในทางวิชาการ เนื่องจากไม่ระบุถึงผลดี ผลเสียของโครงการ ความสอดคล้อง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในแต่ละโมดูล โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำ ต้องทำประชาพิจารณ์ ถามความเห็นประชาชน ไม่ใช่นำแผนไปนำเสนอแก่ประชาชนเท่านั้น
"กบอ.หรือรัฐบาลต้องพร้อมยอมรับหากประชาชนไม่เห็นด้วย หรือมีข้อเสนอ แล้วนำไปปรับปรุงแผน ผมยืนยันว่าการทำประชาพิจารณ์ไม่มีทางเสร็จได้ในครั้งเดียว ต้องนำสิ่งที่ประชาชนเสนอไปทำการบ้านแล้วมาจัดอีกครั้งไม่อย่างนั้นไม่เรียกว่าประชาพิจารณ์"
ขณะที่นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความเห็นประชาชน ตามขั้นตอนต้องประกาศล่วงหน้าก่อน 15 วัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และภายหลังจัดรับฟังความเห็นแล้วจะต้องสรุปผลออกมาภายใน 15 วันเช่นกัน
"หากการรับฟังความเห็นมีผู้คัดค้านจำนวนมาก หรือเห็นว่าจะมีผลกระทบมากกว่า ต้องนำไปยกเลิกโครงการ ปรับปรุงหรือทบทวน แต่การเป็นการรับฟังความเห็นแบบที่รัฐบาลตัดสินใจแล้ว หมายความว่าจะเป็นการรับฟังความเห็นประชาชนแบบปาหี่หรือไม่"
ส.โลกร้อน เล็งฟ้องเพิกถอนเพิ่ม 5 คดี
ด้านนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แนวทางตามโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมีหลายส่วนที่ไม่เป็นไปตามแนวทางกฎหมาย ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามคำสั่งศาล โดยเฉพาะในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ติดตามและเตรียมจะขอฟ้องร้องกับศาลปกครอง ให้มีคำสั่งเพิกถอนหรือระงับใน 5 คดี ได้แก่
1.ฟ้องร้องดำเนินการต่ออธิการบดี และมหาวิทยาลัยที่รับเป็น stamper การจัดรับฟังความเห็นประชาชน 2.เพิกถอนการก่อสร้างแม่น้ำสายใหม่ กำแพงเพชร-ท่าม่วง ที่ขัดต่อข้อกฎหมาย 3.เพิกถอนโครงการสอดไส้หลายโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งยังไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 4.ฟ้องร้องใฟ้ศาลมีคำสั่งให้สัญญากู้เงินของกระทรวงการคลังเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่เป็นไปตามนิติกรรมสัญญา และ5.ฟ้องร้องใหเพิกถอนกระบวนการจัดรับฟังความเห็นประชาชนทั้ง 36 จังหวัด ที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองที่ระบุให้จัดประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึง หมายความว่าต้องครอบคลุทั้ง 65 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีมีผู้ต้องข้อสังเกตด้วยว่า หากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีความประสงค์จะเข้าร่วมรับฟังและเสนอความเห็นด้วยจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร หรือมีกลุ่มคนที่จัดตั้งไว้แล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่มีประกาศที่ชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งนี้ การจัดรับฟังความเห็นผลกระทบจากน้ำท่วม จะถามเฉพาะบางพื้นที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ในเมื่อป่าไม้ สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเป็นของประชาชนทุกคนในประเทศ