ขายข้าว ทำหัวเดียวกระเทียมลีบไม่ได้ นักวิชาการ ยันต้องพึ่งกลไกตลาด
‘รศ.สมพร อัศวิลานนท์’ คาดตัวเลขขาดทุนสต๊อกข้าว 28 ล้านตัน จ่อทะลุ 3 แสนล้านบ. ระบุรัฐระบายข้าวฝ่ายเดียวส่อเจ๊ง สู้เอกชนไม่ได้ นักวิจัยมก.ชี้ไทยไม่มีอำนาจเหนือตลาดราคาข้าว ‘ดร.อัมมาร’ ซัดรับจำนำทำคุณภาพข้าวไทยพัง เชื่อหากเดินหน้าต่อ ‘รบ.ปู’ ลำบาก
วันที่ 24 ก.ย. 2556 สำนักประสานงานชุดโครงการ ‘งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย’ สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา ‘ข้าวไทยกับอำนาจเหนือตลาดโลก’ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงบทบาทของเอกชนในโครงการตลาดข้าวเปลือกและข้าวสาร (ปี 2542) ก่อนการสร้างอำนาจเหนือตลาดว่า มีการขับเคลื่อนกลไกได้ดีมาก โดยมีข้าวขายผ่านตลาดกลางข้าวเปลือก 42.2% นอกจากนี้ผู้รวบรวมท้องถิ่นและสถาบันเกษตรกรล้วนมีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้ หากพบความไม่เป็นธรรมในตลาด รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน แต่ไม่ควรล้มระบบกลไกตลาดเอกชนทั้งหมด
ส่วนกรณีภาครัฐเข้ามาแทนที่กลไกตลาดข้าวของเอกชนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยมีข้าวเปลือกสูงถึง 73% ผ่านโครงการรับจำนำ ส่วนในตลาดกลางข้าวเปลือกไม่พบเลย นอกจากนี้การแทรกแซงของภาครัฐยังทำให้สถาบันเกษตรกรอ่อนเปลี้ย เพราะโครงการรับจำนำข้าวไม่ต้องการให้สหกรณ์การเกษตรเข้าไปมีบทบาท ส่งผลให้ข้าวทั้งหมดต้องขายผ่านโรงสี ซึ่งเป็นผู้รับฝากข้าวของรัฐบาล
“ภาครัฐเป็นเจ้าของข้าวรายใหญ่ ฉะนั้นการระบายข้าวแต่ละครั้ง ก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่าเอกชน เพราะเอกชนที่มีประมาณ 70 บริษัท สามารถช่วยกันกระจายสินค้าได้” นักวิชาการกล่าว และว่า การรวบอำนาจของภาครัฐครอบครองตลาดข้าวรายใหญ่เพียงผู้เดียวจะเป็น "มหันตภัย"
รศ.สมพร กล่าวถึงการดึงอุปทานข้าวเข้ามาควบคุมของรัฐให้มีอิทธิพลเหนือตลาดข้าวในประเทศว่า รอบปีที่ผ่านมารัฐได้รับจำนำข้าวไปแล้ว 43.5 ล้านตันข้าวเปลือก (ประมาณ 28 ล้านตันข้าวสาร) เป็นข้าวนาปี 21.5 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวนาปรัง 22 ล้านตันข้าวเปลือก อย่างไรก็ตาม รัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงการแล้วไม่ต่ำกว่า 670,000 ล้านบาท (7 ต.ค.2554-30 ส.ค. 2556) แต่มีรายรับจากการขายข้าวเพียง 150,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีรายจ่ายเหนือกว่ารายรับประมาณ 520,000 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้
"สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่มีประสิทธิภาพในการขายข้าว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดส่งออกจากหลายส่วนงาน จะทำหัวเดียวกระเทียมลีบไม่ได้"
นักวิชาการสถาบันคลังฯ กล่าวอีกว่า ต้นทุนข้าวเปลือกของไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ โดยข้าวไทยราคา 15,000 บาท/ตัน สหรัฐอเมริกา 10,912 บาท/ตัน เวียดนาม 6,975 บาท/ตัน และอินเดีย 7,130 บาท/ตัน จะเห็นว่า ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าเวียดนามและอินเดียเท่าตัว ซึ่งเมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วจะไปขายใคร ทั้งนี้ยอมรับว่า รัฐสามารถสร้างอำนาจตลาดในประเทศได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อกลไกตลาดข้าวโลกตีกลับรัฐจะหาเงินจากแหล่งใดมาซื้อข้าวเก็บ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาทางออก
“นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐสร้างเสถียรภาพราคาในตลาดช่วงระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวในอนาคตไทยจะเจ็บตัว” รศ.สมพร กล่าว และระบุว่า ไทยมีข้าวที่รับจำนำไว้ราว 28 ล้านตันข้าวสาร หากจำหน่ายออกตามราคาในตลาดข้าวสารในประเทศที่ 15,000 บาท จะขาดทุนประมาณ 256,500 ล้านบาท สำหรับ 2 ปีที่รับจำนำ โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะขาดทุนทะลุ 300,000 ล้านบาท
สำหรับความท้าทายที่ว่า ไทยมีอำนาจเหนือตลาดการค้าข้าวโลกนั้น รศ.สมพร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาภายหลังไทยยกระดับราคาข้าวแล้ว การส่งออกข้าวไทยมีปริมาณหดตัวลงในทุกตลาดการค้าข้าวประมาณ 34% และเวียดนามยังเป็นผู้ถือครองตลาดข้าว 5% และ 25% ทั้งในเอเชียและนอกเอเชีย ส่วนไทยนั้นถือครองในตลาดข้าวหอมมะลิกับข้าวนึ่งที่ยังมีอัตราส่งออกสูงอยู่
ทั้งนี้ โดยสรุป การรับจำนำข้าวในระดับราคาสูงเป็นมาตรการสำคัญที่รัฐใช้ในการดึงอุปทานข้าวเข้ามาควบคุมและสร้างอำนาจเหนือตลาดในประเทศจากการเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดข้าวเปลือกและผู้ครอบครองรายใหญ่ในตลาดข้าวสาร โดยระยะสั้นการดึงอุปทานข้าวเข้ามาควบคุมนั้นมีผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาข้าวไทยในตลาดส่งออก
นอกจากนี้ราคาข้าวไทยที่สูงเหนือกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันของคู่แข่งในตลาดส่งผลต่อความต้องการข้าวไทยในตลาดส่งออกลดลง และเมื่อตลาดข้าวโลกปรับตัว ทำให้ตลาดข้าวไทยถูกแทนที่จากคู่แข่งได้ ดังนั้นการสะสมสต๊อกข้าวในประเทศสูง ทั้งในระยะกลางและยาว จะกดดันให้ราคาข้าวไทยในตลาดส่งออกลดต่ำลง ผลสุดท้าย ความพยายามสร้างอำนาจเหนือตลาดการค้าข้าวโลกของไทย จึงเป็นเรื่องที่คู่แข่งในเวทีโลกชอบใจ
ด้านดร.อิทธิพงศ์ มหาธนเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลการศึกษาอำนาจเหนือตลาดในการส่งออกข้าวไทยว่า กรณีวิเคราะห์ข้าวรวมทุกชนิดไทยจะไม่มีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาข้าว เพราะต้องแข่งขันกับเวียดนามและอินเดีย ไทยจึงไม่สามารถกำหนดราคาได้อย่างที่คาดการณ์ไว้
แต่เมื่อจำแนกเป็นชนิดของข้าวก็พบ ไทยก็ไม่มีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาข้าวหอมมะลิส่งออกเช่นกัน ขณะที่ข้าวเหนียวและข้าวนึ่ง ไทยกลับมีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคา เพราะข้าวทั้ง 2 ชนิด มีคุณภาพแตกต่างคู่แข่งในตลาดโลก
ขณะที่ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยที่หมั่นเพียรพยายามสร้างคุณค่าข้าวที่แท้จริงในตลาด ซึ่งคุณค่านั้นหมายถึงคุณภาพข้าว และหากมองไปอนาคตทุกชาติในเอเชียจะบริโภคข้าวน้อยลง ดังนั้นตลาดจึงไม่เน้นปริมาณ หากแต่เน้นที่คุณภาพ
“ จุดแข็งของเราคือคุณภาพข้าว แต่เวลานี้เราผลิตข้าวไม่ดี พันธุ์ระยะสั้น ผลิตข้าวออกมาแล้วเอาไปดองไว้ในโกดังจนเน่า เมื่อเกษตรกรผลิตข้าวมาให้เน่า ทำให้เสียแรงและงาน อีกทั้งเรายังมีระบบโกดังใหญ่โตเพื่อเก็บข้าวให้เน่า ล้วนเป็นการทำลายคุณค่าของข้าวไทยทั้งสิ้น” ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากนโยบายรับจำนำข้าว 100% ทั้งนี้ ทราบดีว่า รัฐบาลอยากให้เกษตรกรมีรายได้ แต่วิธีการทำนั้นส่งผลให้มีโครงการเพียง 2 ปี เพราะจากนี้ไปรัฐบาลจะอยู่ในฐานะลำบากมาก
ส่วนกรณีรัฐบาลค้างเงินค่าเช่าโกดังเก็บข้าวของเอกชน 1,000 ล้านบาทนั้น นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โกดังเก็บข้าวกับโรงสีไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สมาคมฯ มีสมาชิกบางท่านสร้างโกดังเก็บข้าวด้วย ทั้งที่ส่วนกลางก็มีโกดังเก็บข้าวเฉพาะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับโรงสีทั้งหมด จึงไม่สามารถจะตอบแทนเจ้าของโกดังเก็บข้าวได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า มีเอกชนบางส่วนไม่ได้รับค่าเช่าโกดังเก็บข้าวจากรัฐบาลประมาณ 1-2 ปีจริง แต่นโยบายการนำข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลมาจ่ายเป็นค่าเช่าแทนเงินสดนั้นเห็นว่า ยังเป็นเพียงแนวคิด หากมีการอนุมัติขึ้น โดยเอกชนยินยอมรับข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ยินยอมจำเป็นต้องคิดหาวิธีการใหม่ เนื่องจากเมื่อเอกชนได้ข้าวสารมาแล้วจะนำไปขายอย่างไร ราคาเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายอยากได้เงินมากกว่าข้าวสาร ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าเป็นทิศทางแก้ปัญหาที่ดี .
ที่มาภาพ: http://www.ibtv99.com/viwe_story.php?story_id=142
http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?NewsID=9540000134118