"กชชไม"จากปัตตานี เรียนรู้ชีวิตที่ชิลีด้วยทุนเอเอฟเอส
ในงาน "เด็กตานีรู้หลายภาษา" หรือ Pattani Multilanguage Fair ที่วิทยาลัยชุมชนปัตตานีเมื่อเร็วๆ นี้ มีการแข่งขันความสามารถทางภาษาของนักเรียนในปัตตานี ทั้งภาษาอังกฤษ จีน และมลายู โดยแทรกไว้อย่างแนบเนียนกับกิจกรรมสนุกๆ อันหลากหลาย ทั้งการร้องเพลง เล่นละคร อ่านบทกวี กล่าวสุนทรพจน์ ฯลฯ
ความสามารถที่นักเรียนหลากหลายวัยได้แสดงออกมา ทำให้หลายคนรู้สึกเป็นปลื้มที่ได้เห็นเด็กปัตตานีอีกจำนวนไม่น้อยที่มีทักษะด้านภาษาในระดับสูง
จุดเด่นของงาน นอกจากผู้เข้าแข่งขันที่โชว์พลังกันอย่างเต็มที่แล้ว ยังมี "นักเรียนทุนเอเอฟเอส" หรือ AFS International Intercultural Programs อย่าง กชชไม ทองช่วย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรในชุดคล้ายกิโมโนอย่างคล่องแคล่ว เชิญชวนให้เด็กๆ และเพื่อนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในบูธของโรงเรียนเบญจมฯ โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นสลับกับภาษาไทยคล่องปรื๋อ
สาเหตุที่เธอพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เพราะเลือกเรียนสาขา "ศิลป์-ญี่ปุ่น" ของโรงเรียน แต่สำหรับภาษาอังกฤษเธอก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร ถึงขนาดได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน
"เอเอฟเอส" เป็นองค์การนานาชาติ พัฒนาต่อยอดมาจาก American Field Service เมื่อครั้งสงครามโลก โดยปัจจุบันทำโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจภาษากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
กชชไม หรือ "ออย" เป็นหนึ่งในนักเรียนทุนเอเอฟเอสจากปัตตานี เธอเป็นเด็กสาวหน้าใสลูกหลานชาวปัตตานีตัวจริง ครอบครัวทำธุรกิจโรงกลึงอยู่ในเมือง
"ออย" เข้าสอบและผ่านการคัดเลือกในโครงการเยาวชนเอเอฟเอสเพื่อการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ถึงประเทศชิลี ประเทศสวยติดทะเลที่มีชายหาดยาวกว่า 6 พันกิโลเมตรของละตินอเมริกา เธอได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานเกือบ 1 ปี คือตั้งแต่ 22 ก.พ.2555 ถึง 11 ม.ค.2556 แม้จะต้องกลับมาเรียน ม.6 ซ้ำอีกปี ในขณะที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว แต่เธอก็บอกว่า "คุ้ม"
"ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นการเสียเวลา เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมามีค่ามากนัก การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนแล้วไปอยู่ต่างถิ่นมา 1 ปีไม่ใช่โอกาสที่จะหาได้ง่ายๆ ตลอด 1 ปีเราได้ประสบการณ์ที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่มีทางได้ กลับมาเรียนกับรุ่นน้องไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะสิ่งที่เราได้รับกลับมาคุ้มค่ามากกว่า"
แม้ "ออย" จะเตรียมตัวเป็นอย่างดี และมั่นใจในทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองมาก แต่เมื่อต้องไปอยู่ชิลีจริงๆ ก็ยังต้องปรับตัวขนานใหญ่ในเรื่องของภาษา เพราะชาวชิลีใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ช่วง 2-3 เดือนแรกที่ชิลีเธอจึงต้องคร่ำเคร่งเรียนรู้ภาษาสเปนจนสื่อสารได้ กระทั่งสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างมีความสุข
"ได้ไปอยู่กับครอบครัวที่เขารับดูแลเรา ชีวิตประจำวันก็เหมือนนักเรียนธรรมดาที่ต้องไปเรียนหนังสือกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน Kids World School เป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ละห้องมีนักเรียนเพียง 25 คน เน้นคุณภาพ ครูดูแลทั่วถึง เราต้องพูดภาษาสเปนให้ได้เพราะต้องใช้ทุกวัน ชิลีอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เด็กทุกคนต้องเรียนรู้หลักสูตรวิทย์-คณิต แต่เลือกเรียนวิชาเลือกไปทางศิลปะได้ ไม่มีวิชาไร้สาระเหมือนโรงเรียนบ้านเรามากนัก"
"วันหนึ่งเขาเรียนวิชาหลัก 8 วิชา ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงบ่ายสามโมง หรือบางวันก็ถึง 5 โมงเย็น แต่ละวิชาจะมีช่วงพัก 15 นาที ไม่มีการเดินเรียนเปลี่ยนห้อง มีห้องประจำให้นั่งเรียน เขาไม่เรียนพิเศษ แต่จะทำงานพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำมาก แต่ติดที่เงื่อนไขของนักเรียนทุน ไปทำงานพิเศษไม่ได้ หรืออย่างบางคนเรียนจบ ม.6 แล้วไม่เรียนต่อ ไปทำงานก่อนเพื่อค้นหาตัวเองว่าจะชอบหรือไปทางด้านไหน ที่นั่นเปิดโอกาสให้เด็กทำเพื่อให้รู้ถึงความชอบและการค้นพบตัวเอง"
"ออย" ย้ำว่า การเรียนการสอนที่ชิลีผิดกับไทยลิบลับ
"เด็กไทยเรียนหนัก เรียนแต่ละวิชาโดยไม่มีเวลาว่างให้พัก แล้วยังต้องเดินเรียนเปลี่ยนห้อง เหมือนที่เบญจมฯ โรงเรียนใหญ่และกว้าง เปลี่ยนคาบทีกว่าจะถึงห้องเรียนก็เกือบ 10 นาที ทำให้เข้าเรียนสายกันตลอด อาจารย์ก็จะว่าเข้าเรียนสาย ห้องหนึ่งมีเด็ก 50 คน ดูแลกันไม่ทั่วถึง ที่สำคัญเด็กไทยขาดสำนึกและความรับผิดชอบมาก โลกทัศน์แคบ ไม่บรรลุนิติภาวะทางอารมณ์ ไม่รู้ความต้องการของตัวเอง เมื่อเรียนไปบางคนไม่ได้ชอบที่จะเรียนสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ แต่เรียนเพราะพ่อแม่เลือกให้หรือด้วยเหตุผลอื่น เมื่อถึงเวลาเลือกเรียนในขั้นต่อไปก็ยังเลือกไม่ได้"
ก่อนเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมฯ "ออย" เรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (สาธิต ม.อ.ปัตตานี) แทบไม่น่าเชื่อว่าเธอไม่ได้ต่อ ม.ปลาย เพราะจ่ายค่าสมัครสอบชั้น ม.ปลาย ไม่ทัน แต่ "ออย" บอกว่าสังคมและการเรียนการสอนของสาธิตฯ คล้ายกับที่ชิลี คือให้เด็กได้มีอิสระและแสดงออกอย่างเสรี
"เข้าใจว่าพื้นฐานของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ต้องช่วยกันทั้งผู้ปกครอง เด็ก และอาจารย์ ทำหน้าที่ของทุกคนให้เต็มที่ และต้องแก้ที่ตารางเรียนให้มีช่องว่าง อาจารย์สมัยนี้สอนแต่วิชา ไม่สอนศีลธรรมเหมือนอาจารย์สมัยก่อน ผู้ปกครองต้องดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด และเด็กเองต้องมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนมากกว่า ต้องคิดบวก เปิดโลกทัศน์ ขยัน และหาโอกาสให้ตัวเอง การฝึกภาษาให้ได้ผลคือใช้ทุกวัน พยายามดูหนังที่เป็นภาษาอังกฤษ และฟังเพลงภาษาอังกฤษจะช่วยได้มาก สำคัญคือต้องฝึกฝนทุกวัน อย่าให้ลืม"
สำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย "ออย" มีสาขาที่ตั้งใจสอบเข้าให้ได้ คือ นิเทศศาสตร์ เพราะเป็นสาขาวิชาที่เธอเชื่อว่าจะได้แสดงความสามารถและมันสมองของตัวเองอย่างเต็มที่มากที่สุด
"อยากเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นคณะที่ฝันไว้ หรือไม่ก็คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขามีโครงการทุนประกายเพชร คัดเลือกเด็กจากเกรดเฉลี่ยและความสามารถพิเศษ ได้เคยไปเข้าค่ายทำหนังกับเขา เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้ได้เรียนรู้ว่านิเทศศาสตร์ไม่ใช่สาขาที่เรียนง่ายๆ แต่ต้องใช้สมองและความสามารถเฉพาะตัวสูง"
"อยากเรียนด้านประชาสัมพันธ์และภาพยนตร์ ซึ่งสาขาประชาสัมพันธ์บางคนอาจคิดว่าเรียนไปแล้วได้อะไร แต่เราคิดว่าเป็นสาขาที่ได้ใช้ประโยชน์มาก ได้ทั้งภาษา การบริหาร และบุคลิกที่ดี มีคนบอกว่าเส้นทางสายนิเทศศาสตร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้เรียนง่ายๆ หรือแค่เรียนให้จบตามเพื่อน ตามกระแส ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ถ้าเราเก่งจริง งานจะมาหาเราเอง"
เป็นเสียงใสๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจของ "ออย" กชชไม ทองช่วย กับเส้นทางชีวิตที่เธอตัดสินใจเลือกเอง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 "ออย" กชชไม ทองช่วย
2-3 บรรยากาศในงาน "เด็กตานีรู้หลายภาษา" หรือ Pattani Multilanguage Fair ที่วิทยาลัยชุมชนปัตตานี