ใครว่า เรียนจบ "ทัศนมาตรศาสตร์" เป็นได้แค่คนตัดแว่น
"นักทัศนมาตรที่ขึ้นทะเบียนกับสธ.ขณะนี้มี 74 คน
ทั้งที่ควรมี 700 คน
ดังนั้นถือได้ว่า เราอยู่ในภาวะขาดแคลน"
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า หนึ่งในอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศไทยในขณะนี้และกำลังจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากไทยก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียนภายใต้เงื่อนไข ASEAN Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA ซึ่งคือ ข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการแสวงหาจุดยอมรับร่วมกันเรื่องคุณสมบัติของผู้ทำงานด้านบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นนักวิชาชีพ โดยอาชีพนักทัศนมาตรถือเป็นอาชีพทางด้านบริการที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ด้วยเช่นกัน
"สำนักข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นที่แรก
ความเป็นมาการเปิดสอนหลักสูตรทัศนมาตร ที่ม.รามฯ
เมื่อก่อนในเมืองไทยมีบุคคลากรทางด้านตาค่อนข้างจำกัด การรักษาทั้งในอาการเบื้องต้นหรือเกี่ยวกับตาจะมีแต่จักษุแพทย์เท่านั้น ซึ่งการทำงานตามระบบนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์จะต้องทำงานร่วมกัน เนื่องจากจักษุแพทย์ไม่มีเวลาที่จะดูแลงานทางด้านสายตาได้ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้นในขณะที่บ้านเรายังขาดนักทัศนมาตรเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิตออกมารองรับ โดยเริ่มสร้างหลักสูตรขึ้นในปี 2544 และเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเมื่อปี 2545
ถึงวันนี้บอกตัวเลขได้หรือไม่ว่า มีนักทัศนมาตรในประเทศไทยแล้วกี่คน
นักทัศนมาตรที่ขึ้นทะเบียนของกระทรวงสาธารณะสุขขณะนี้มีจำนวน 74 คน ขณะทีองค์การอนามัยโลก และสภานักทัศนมาตรโลก กำหนดให้ในแต่ละประเทศต้องมีนักทัศนมาตร 0.9 คน ต่อประชาการในประเทศ 100,00 คน
หากคำนวณคร่าวๆ ในประเทศไทยขณะนี้ควรมีนักทัศนมาตรประมาณ 700 คน ดังนั้นถือได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนนักทัศนมาตร!
ขอถามการเรียนการสอนคร่าวๆ เป็นอย่างไร
การสร้างหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ในปีแรก เรานำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษานานถึง 8 ปี
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศไทย ที่มีระยะนานสุด คือ 6 ปี ในกลุ่มแพทย์ เภสัชศาสตร์ เราจึงได้ทำการย่นหลักสูตรให้เหลือ 6 ปี โดยใน 2 ปีแรกเป็นการปูพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป ส่วน4 ปีหลังจะเป็นการเรียนการสอนแบบ professional programs ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาวิชา หนังสือ หรือแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอน ซึ่งบางรายวิชาจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าโดยตรง
ความแตกต่างระหว่างนักทัศนมาตรศาสตร์กับจักษุแพทย์
ความจริงแล้วมีลักษณะคล้ายกันหลายๆ กรณี
แต่สิ่งที่มีความชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด คือ นักทัศนมาตรจะเน้นการดูแลทางด้านระบบสายตา ไม่เน้นการแก้ไขความผิดปกติทางกายภาพ เหมือนจักษุแพทย์ ที่ส่วนใหญ่อาศัยการผ่าตัด
นักทัศนมาตร จะแก้ไขปัญหาคนสายตาสั้น ตาเหล่ ตาเข หรือการมองเห็นที่ผิดปกติ รวมถึงดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคอนเทคเลนส์ ซึ่งนักทัศนมาตรคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสายตา ไม่เกี่ยวกับการผ่าตัดรักษาโรคที่เกี่ยวข้องทางกายภาพของตา นี่คือความแตกต่าง
เปิดหลักสูตรนี้มากว่า10 ปี ปัจจุบันได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน
ขณะนี้ยังถือว่าน้อยอยู่ เนื่องจากส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่า สาขานี้จบแล้วทำอะไรได้บ้าง แล้วเกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างไร จบแล้วต้องไปอยู่ตามร้านแว่นตา ตัดแว่นเพียงอย่างเดียวหรือไม่
ซึ่งความจริงไม่ใช่ แม้ว่าส่วนหนึ่งทำหน้าที่ในการตัดแว่นตา แต่นั่นไม่ใช่งานทั้งหมดที่นักทัศนมาตรต้องรับผิดชอบ โดยในเฉพาะช่วงเริ่มต้นเปิดหลักสูตรไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คือ มีจำนวนนักเรียนสนใจเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีบุคลากรทางด้านวิชาการเพิ่มขึ้น รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มเปิดสอนในหลักสูตรนี้เพิ่มขึ้น
"ผมเชื่อว่าอีกไม่นานนักทัศนมาตรจะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของภาครัฐด้วย"
ทราบว่า กฤษฎีกากำลังอยู่ในช่วงออกประกาศให้ร้านวัด ประกอบแว่น เลนส์สัมผัส ต้องมีนักทัศนมาตรอยู่ประจำ ความคืบหน้าถึงไหนแล้ว?
ค่อนข้างมีความก้าวหน้า แต่เป็นไปอย่างช้าๆ มีการนำเสนอใบประกอบโรคศิลป์ให้เขานำไปคัดเกลาปรับปรุงเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยตั้งธงไว้อีกประมาณ 2 ปีน่าจะมีการบังคับใช้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีผู้ประกอบวิชาชีพ และมีกฎหมายเฉพาะเกือบทุกประเทศ ยกเว้นกัมพูชา กับพม่า
ขณะที่ในหลายประเทศบุคลการทางด้านนี้มีจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน หากประเทศไทยไม่สร้างกฎกติกาที่ดีเพื่อมาการันตี ดูแลผลประโยชน์ประชาชน ในอนาคตจะลำบาก โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียน เนื่องจากนักทัศนมาตรถูกจัดอยู่หนึ่งในอาชีพบริการที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไข MRA ทางประเทศอื่นในฐานะของวิชาและสาขาอาชีพอย่างหนึ่งเหมือนกัน คล้ายๆกับแพทย์ ทันตแพทย์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ก่อนเปิดประชาคมอาเซียน
พูดได้ไหมว่า ณ วันนี้ร้านแว่นตาในเมืองไทยไม่มีนักทัศนมาตรประจำอยู่
99% ไม่มี
ที่เปิดสอนอยู่ 3 แห่ง ทั้งม.รามคำแหง ม.รังสิต และม.นเรศวร จบไปสามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้ทั้งหมดหรือไม่
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเปิดให้สอบใบประกอบโรคศิปล์ได้เฉพาะผู้ที่จบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น โดยจะต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับที่อนุกรรมการประกอบโรคศิลป์กำหนดไว้ คือ ต้องจบการศึกษาจากสถานศึกษาที่ได้รับอนุญาตจากอนุกรรมการมาตรฐานวิชาการการประกอบโรคศิลปะในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ ว่ามหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตในการประกอบโรคศิลป์สาขาทัศนมาตรได้ โดยต้องจะต้องเป็นหลักสูตรที่นำมาจากต่างประเทศ ได้รับความร่วมมือทางด้านวิชาการ
ซึ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง โชคดีที่ทางอินเดียน่าให้ความร่วมมือมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มเปิดสาขา
หากไปตรวจสายตาหรือตัดแว่นกับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
หากมีการตรวจที่ผิดพลาดหรือประกอบเลนส์ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลกระทบต่อค่าสายตา ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกรณีของเด็กเนื่องจากเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาเร็ว ส่วนในผู้ใหญ่ส่งผลให้มีอาการปวดหัว เวียนหัว ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย
สุดท้ายบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนทำอย่างไรให้เด็กหันมาสนใจและอยากเรียนสาขานี้
ทางมหาวิทยาลัยมีการจัดกิจกรรมค่ายหมอสายตาประจำ โดยเป็นการให้ข้อมูลกิจกรรมในด้านวิชาชีพ อีกทั้งบุคคลาการทางวิชาชีพนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่าแพทย์ และสาขาอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทยมีผู้ป่วยทางด้านสายตาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่สามารถให้บริการได้ครบ จึงจำเป็นที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ควรหันมาเรียนมาช่วยกันดูแลสุขภาพตาของคนไทยทั้งประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:เรียน “ทัศนมาตรศาสตร์” ไม่ตกงาน อธิการบดีม.รังสิต ชี้ตลาดรองรับอื้อ
ที่มาภาพ: เฟชบุค PR มหาวิทยาลัยรามคำแหง