ระบบกม.รอมชอม ไม่เด็ดขาด 'จรัญ ภักดีธนากุล' ชี้ทำคดีความรุนแรงครอบครัวพุ่ง
พบแนวโน้มเด็ก-สตรีถูกย่ำยีสูง ‘จรัญ ภักดีธนากุล’ หนุนเปลี่ยนค่านิยมความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสาธารณะ บูรณาการกม.อาญา-ปกครอง-สวัสดิภาพเต็มที่ ‘มณฑานี ตันติสุข’ ชี้ละครไทยยุยงความแตกแยกในครอบครัว จี้ทบทวนหน้าที่สื่อ
วันที่ 23 ก.ย. 56 คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดสัมมนา ‘มอง 360 องศา กับการพัฒนาครอบครัวไทย’ ณ อาคารรัฐสภา 2
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยแฝงค่านิยมในทุกชุมชน และมักเข้าใจว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือลักษณะของภาวะผู้นำ โดยมองผู้ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นกลุ่มอ่อนแอ ถือเป็นค่านิยมผิดเพี้ยนที่ยังมีอยู่และสืบทอดกันมาจนเป็นรากเหง้า
ทั้งนี้ สงครามโลก หรือสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น ล้วนมีผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมรุนแรงตั้งแต่ระดับครอบครัว ซึ่งเป็นการทำลายความรัก ความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้กลายเป็นความเกลียดชัง เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู จนขยายไปสู่สถาบันการศึกษา สถานที่ทำงาน ชุมชน ไม่เว้นแต่รัฐสภาไทย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุถึงสาเหตุพฤติกรรมความรุนแรงเกิดจากความหลงตัวยิ่งใหญ่ ต่างฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอก ซึ่งเมื่อแต่ละคนยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก ใครขวางต้องตายโดยใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าแล้วนั้น ปัญหาจึงลุกลามไปทำให้คุณค่าของชีวิตมนุษย์เสื่อมโทรมมากขึ้น ขณะที่การแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหวังเป็นหลักทางเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางสังคม เช่น เอ็นจีโอ ผู้นำทางจิตวิญญาณ นักวิชาการ สื่อสาธารณะ ร่วมทัดทานติติงพฤติกรรมรุนแรง พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมสันติสุขให้เกิดขึ้น
“ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่สำหรับสังคมไทยแล้วเมื่อออกจากห้องก็กลายเป็นเม็ดทรายเล็ก ๆ กระจายออกไป ทำอะไรไม่ค่อยได้ แม้แต่ในหมู่บ้านต่างพบเห็นพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว แต่ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าแทรกแซง เพราะทุกคนเฝ้าระวังแต่ในครอบครัวตนเอง แต่สุดท้ายครอบครัวก็หนีไม่พ้นพฤติกรรมความรุนแรงที่ได้ติดอยู่กับวิถีชีวิต”
นายจรัญ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมมีคดีความเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและสตรีพบถูกกระทำมากที่สุด และไม่มีแนวโน้มลดลงเลยจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ มองว่า บรรทัดฐานการตัดสินคดีของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวค่อนข้างไม่เด็ดขาด ยังมีความเห็นใจฝ่ายผู้เสียหายและจำเลย ทำให้ผลการตัดสินมักออกมาคล้าย ๆ กับว่าพยายามหาทางรอมชอมให้เสร็จสิ้น หากรอมชอมไม่ได้ เพราะบางครั้งกฎหมายระบุเป็นคดีอาญามักใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายพิจารณาให้คลี่คลายในลักษณะ ‘กลบฝัง’ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ ‘ขายผ้าเอาหน้ารอด’
“หลายคดีอ่านรายงานแล้วรู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งอาศัยเทคนิคทางกฎหมายให้ผู้มีพฤติกรรมรุนแรงลอยนวล แต่หากต้องลงโทษ ศาลมักจะลงโทษไม่เต็มที่ ซึ่งเราได้เรียกร้องมานาน แต่ไม่กระเตื้อง เพราะศาลมักมีคำตอบว่า การลงโทษหนักอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหา หากแต่ต้องแก้กันที่สาเหตุ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว และว่าจะอาศัยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ก็ไม่ค่อยเป็นผล เพราะศาลเยาวชนและครอบครัวใช้กฎหมายไม่เต็มที่ในบางคดี จนต้องนำสู่ชั้นอุทธรณ์ ซึ่งบางครั้งศาลอุทธรณ์ไม่เข้าใจปัญหา ทำให้ระบบกฎหมายนี้ยังช่วยบรรเทาปัญหาได้น้อย ดังนั้นจึงควรสร้างบทบาทให้มากกว่านี้
ท้ายที่สุด นายจรัญ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ว่ามุ่งเปลี่ยนค่านิยมเดิมเกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงให้เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในบ้านก็ตาม นอกจากนี้หวังผลให้เปลี่ยนระบบงานยุติธรรมทางอาญาที่ใช้บังคับกับพฤติกรรมนี้เพียงด้านเดียวให้เป็นองค์รวมของกฎหมาย ทั้งด้านอาญา ปกครอง สวัสดิภาพ และยังช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงด้วยมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงตั้งแต่ในระดับชั้นพนักงาน กระบวนการสอบสวน และศาล ซึ่งมาตรการนี้ไม่มีในกฎหมายฉบับอื่น แม้ปัจจุบันยังติดปัญหา แต่เชื่อว่าอนาคตจะเกิดผลสำเร็จได้
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า หลายคดีที่ผ่านมาเมื่อเกิดการฟ้องร้องเกี่ยวกับรุนแรงในครอบครัวจนถึงขั้นหย่าร้าง ผู้ชายมักไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินให้ผู้หญิง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบทั้งในด้านพฤติกรรมและความรู้สึก เพราะผู้ชายคิดว่าตนเองมีความเป็นผู้นำ เป็นคนทำงานหาเงิน จึงถือว่าทรัพย์สินในครอบครัวมาจากฝีมือของตนเอง ในขณะที่ผู้หญิงชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่านั้นและมีความเชื่อว่าตนเองไม่ได้หาเงินเอง ทำให้ยอมยกทรัพย์สินให้ผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่สิ้นสุด เพราะค่านิยมในจารีตประเพณีของสังคมไทยเชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเป็นผู้ตาม แม้ปัจจุบันกฎหมายจะระบุชัดให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าผู้ชายเป็นใหญ่กว่าอยู่ดี โดยเฉพาะในครอบครัวคนจีน นอกจากนี้ผู้หญิงกังวลว่าหากเลิกรากันไปจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งอ้างว่าเห็นแก่ลูก ไม่ต้องการให้ลูกขาดพ่อ และสุดท้ายเพราะความรัก จึงล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงยอมทนกับพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว
ขณะที่น.ส.มณฑานี ตันติสุข นักสื่อสารมวลชน กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทในการส่งเสริมยุติความรุนแรงในสังคมได้มาก ซึ่งจะคลี่คลายได้ด้วยความรักโดยเฉพาะสังคมไทยในอดีต แต่ปัจจุบันกลับมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นปัญหาดังกล่าวจะหวังพึ่งพาเพียงกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากยังติดปัญหาอยู่ แต่ต้องอาศัยความรักเป็นตัวขับเคลื่อน มิเช่นนั้นหากปล่อยให้เกิดความรู้สึกพึ่งพาใครไม่ได้อาจส่งผลให้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไปอีก
น.ส.มณฑานี ได้ยกตัวอย่างการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน กรณีละครไทยนำเสนอฉากพระเอกลากนางเอกไปข่มขืน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง เมื่อสอบถามผู้ผลิตกลับได้รับคำตอบว่าคนดูชอบ ส่วนตัวจึงสรุปว่าคนทำงานสื่อสารมวลชนอาจจำนนต่อปัญหาหรือเกียจคร้าน เรียกอีกนัยหนึ่งว่าไม่ทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนอย่างตั้งใจ ทำให้เหมือนยื่นยาพิษให้คนดูตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีฉากตบตีกันจนกลายเป็นการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ที่ร้ายกว่านั้น มีฉากพ่อตบลูก ท่านหญิงย่าตบหลาน คนรักกันทำร้ายกัน ฉะนั้นสื่อสารมวลชนจึงไม่ควรทำงานง่าย โดยมองเงินเป็นเรื่องใหญ่ จนลืมหน้าที่แท้จริงของสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์พึ่งได้ระบุข้อมูลสถิติให้บริหารช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ปี 2551 มีจำนวนเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง จำนวน 21,949 คน (73 คน/วัน) ปี 2552 จำนวน 22,965 คน (64 คน/วัน) และปี 2553 จำนวน 25,744 คน (71 คน/วัน) .
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000143823