เลขามูลนิธิสืบฯ ฉีกรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์หลังยื่นหนังสือคัดค้าน
"รตยา จันทรเทียร" ยื่นหนังสือขอให้เลื่อนการพิจารณาEHIAเขื่อนแม่วงก์ ด้านเลขานุการกระทรวงทรัพยาการ ลั่นไม่อนุมัติ EHIA หากรายงานไม่สมบูรณ์ ย้ำชัดข้อมูลจะต้องครบถ้วน รอบครอบ
วันที่ 22 กันยายน กลุ่มเดินเท้าคัดค้านEHIAเขื่อนแม่วงก์ นำโดยอ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งหน้าไปยังหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ณ บริเวณสี่แยกปทุมวัน เพื่อยื่นแถลงการณ์คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ต่อผู้แทนกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยระหว่างเส้นทางพหลโยธิน วิภาวดี- หมอชิต และอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงการคัดค้าน พร้อมกับร่วมเดินเท้าวันสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อขบวนเดินเท้าถึงหอศิลป์ฯ กรุงเทพ นายศศิน เดินขึ้นเวที พร้อมกับกล่าวว่า ตนมีความเชื่อมั่นอยู่แล้ว ถ้ามีใครเริ่มต้นลงแรงเดินก้าวแรกหากมีคนเห็นย่อมได้รับการสนับสนุน และมั่นใจว่าพี่น้องทุกคนจะไม่ทิ้งกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจกับการให้การสนับสนุนในการร่วมออกมาเดินเท้าคัดค้านEHIA เขื่อนแม่วงก์ร่วมหมื่นคน
"การเดินทางครั้งนี้เราเดินทางเพื่อการเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆจุดเดียว นั่นคือกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางการเมือง การสร้างความเข้าใจผิด และกระแสการพัฒนาที่ไม่รู้จักพอ"
สำหรับประโยคที่ว่าจะเลือกสัวต์ป่าหรือมนุษย์มากกว่ากันนั้น อ.ศศิน กล่าวว่า ที่จริงไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น ความต้องการของเราไม่ใช่ว่าจะมาเลือกสัตว์ป่า หรือว่าคน แต่เราต้องเลือกระบบนิเวศน์ เนื่องจากเราไม่สามารถตัดอะไรออกจากกันได้ เราเลือกไม่ได้ว่าสัตว์ป่าสำคัญหรือคนสำคัญ เพราะทุกอย่างรวมกันเป็นระบบนิเวศน์และแยกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ คน น้ำ แสงแดด ทะเล
“ ดังนั้นหากรายงานฉบับนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติ จะมีการเพิ่มถอนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และจะทำให้สามารถสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ตามพ.ร.บ. ซึ่งมีการฟ้องศาลปกครองไปแล้วแต่คดียังล่าช้ามาก ซึ่งเรายืนยันว่ารายงานฉบับนี้ทั้งตัวเนื้อหาไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่ผิด แต่ข้อมูลก็ไม่ได้จริงทั้งหมด มาตรฐานการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่ตกต่ำ เพราะถูกการเมืองแทรกแซง” อ. ศศิน กล่าว
จากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. ดร.รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นหนังสือให้เลื่อนการพิจารณา EHIAเขื่อนแม่วงก์ต่อนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องการให้กระทรวงทรัพยากรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายแผนและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ทำหน้าที่ป้องป่าไม้และสัตว์ป่า และจัดการน้ำในพื้นที่ลาดยาว
ทั้งนี้ นายศักดา กล่าวเพียงสั้นๆ พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการเร่งรัดรายงานฉบับนี้ข้อมูลจะต้องครบถ้วนและการพิจารณาจะเป็นไปอย่างรอบครอบ
ภายหลังการยื่นหนังสือขอให้เลื่อนการพิจารณา EHIA เขื่อนแม่วงก์ นายศศิน ได้ฉีกรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์พร้อมส่งต่อให้ผู้ร่วมเดินเท้าด้านล่างเวทีชี้นี่คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเป็นการต่อสู้แบบอหิงสา
ขณะที่ภายในงานนอกจากมีการแสดงยังมีการเสวนาย่อยถึงการคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์จากตัวแทนที่มาร่วมเดินเท้าคัดค้าน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล๊อต นายสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของข้าราชการคือการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อประชาชน ดังนั้นหากไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริงถือว่าละเลยต่อหน้าที่ การช่วยเหลือสัตว์ป่าที่กำลังหนีตายยากกว่าการช่วยเหลือสัตว์ป่าบาดเจ็บปางตาย เราไม่ได้คัดค้านไม่ให้สร้างเขื่อน แต่จากข้อมูลทางวิชาการบอกได้ว่าเพราะอะไร ทุกคนในสังคม รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องรับรู้ข้อมูลวิชาการฉบับนี้ แต่ทำไมใครคนนั้นถึงไม่รู้
ด้านนายเพชร มโนปวิต ผอ.ฝ่ายอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศไทย(WWF) กล่าวว่า เราจะเอาเขื่อนไปแลกกับป่า ทั้งๆที่ประเทศไทยไม่มีการสร้างเขื่อนมานานถึง 20 ปี เรากำลังจะถอยหลังกลับไปที่เดิม กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆยอมรับในทางวิชาการถึงรายงานฉบับนี้ไม่ได้ เนื่องจากมีข้อมูลหนักแน่นมากพอที่จะบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และที่ทุกคนออกมาแสดงจุดยืนร่วมกัน เพราะความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของป่ากับคนแต่เป็นเรื่องของความถูกต้อง
"เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา ต้นทุนธรรมชาติช่วยให้การพัฒนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่เสื่อมถอย แต่วันนี้ต้นทุนเราเหลืออยู่น้อยมาก การอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเถียงกันแต่เป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกัน การอนุรักษ์และเพิ่มต้นทุนทางธรรมชาติ ไม่ใช่แทะเล็ม และเปลี่ยนการพัฒนาทางวัตถุเพียงอย่างเดียว"
ด้านนายวรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล นักเขียนและพิธีกร กล่าวว่า การรวมตัวของทุกคนในวันนี้เกิดจากการสื่อสารในโลกโซเชียลมีเดียและการแชร์กันเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราอยู่ในยุคที่ไม่ต้องพึ่งสื่อหลักอีกต่อไป สุดท้ายสื่อเป็นเพียงธุรกิจ ทุกคนเป็นลูกค้า หากลูกค้าหายก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของสื่อเอง ดังนั้นเรามีอำนาจมากกว่าที่เราคิด จึงอยากให้ทุกคนตระหนักอย่างหนึ่งว่าพลังของคนตัวเล็กๆยิ่งใหญ่มาก และอย่าดูถูกตัวเองว่าเราทำอะไรไม่ได้ให้กับสังคมเพราะความจริงแล้วเราทำได้
นศ.รวมพลังต้อนรับผู้ร่วมเดินเท้าภายใต้งานเกษตรตะโกน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงหัวค่ำวันที่ 21 กันยายน ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมต้อนรับคณะผู้เดินเท้า พร้อมกับให้กำลังใจ จากนั้นเมื่อคณะเดินถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการจัดงานเกษตรตะโกน ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการแสดงดนตรี พร้อมทั้งการพูดคุยกับตันแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ร่วมเดินเท้าคัดค้านร่วมกับอ.ศศิน
นายยุทธนา อำไพ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มีโอกาสได้เริ่มเดินในพื้นที่ลาดยาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง สิ่งที่สังเกตุเห็นได้ชัดคือชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อรายงานฉบับนี้ เราพยายามจะให้ข้อมูลด้วยการเปิดเวทีทุกที่ที่เราผ่านและหยุดพัก แต่ยากมากเวทีที่จัดถูกยกเลิกตั้งแต่เดินมามีโอกาสได้ให้ข้อมูลชาวบ้านเพียงสองครั้งเท่านั้น หลักๆการให้ข้อมูลในเรื่องอีเอชไอเอจะเป็นการบอกเล่าเมื่อเช้าบ้านถามเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้นายยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับการตื่นตัวของนักศึกษายังคงมีการตื่นตัวที่น้อยมาก ซึ่งชมรมของเราพยายามจัดเวทีให้ข้อมูลภายในมหาวิทยาลัย บางคนรู้แค่ว่า เขื่อนแม่วงก์แต่ไม่ได้พยายามที่จะศึกษาข้อมูลต่อว่าเป็นอย่างไร เพราะอะไร ซึ่งความจริงแล้วนักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ที่จะมีส่วนช่วยในการยับยั้งรายงานฉบับนี้ได้ อยากให้อ.ที่สอนในมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยเอาเหตุบ้านการเมืองที่มีผลกระทบต่อสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยในรายวิชา บางเรื่องอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับรายวิชานั้นก็จริง แต่เหตุการบ้านเมืองเป็นเรื่องของทุกคนถ้าพูดคุยกันแค่วันละ 10 นาทีน่าจะช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจและเห็นความสำคัญและออกมาแสดงความเห็นและการขับเคลื่อนต่างๆที่เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ใน100คน มีคนเข้าใจและออกมาร่วมเดินสัก 15-30 คนก็ถือว่ามากที่สุดแล้ว
คลิกดู:บันทึกด้วยภาพ คลื่นมหาชน "เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์" วันสุดท้าย
แถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ มีรายละเอียดดังนี้
1. รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
2. รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF)ประเทศไทย
3. รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง
4. รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 % ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
5. ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านมิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าได้ถึง 36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่วๆไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้
6. ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี
7. พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์
8. ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน
นอกจากนี้ยังทราบว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ดังนั้นการเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม