"วรวิทย์-สุรเชษฐ์" แนะรัฐตั้งหลักก่อนตอบ BRN
ในรายการ "คม ชัด ลึก" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนนัล ตอน "ใครปกครองพิเศษ" ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 17 ก.ย.2556 ทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลมีความพร้อมมากกว่านี้ในการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น กลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะที่บีอาร์เอ็นส่งคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ความยาว 38 หน้า ถึงหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แล้ว โดยมีข้อเสนอสำคัญเรื่อง "การตั้งเขตปกครองพิเศษ" ในพื้นที่ ซึ่งอ้างหลักการตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา
เขี่ยลูกเข้าวงวิชาการ
นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่คิดทำบางเรื่องไปก่อนที่บีอาร์เอ็นจะเรียกร้อง เช่น การกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญก็รับรอง รัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายชัดเจน แต่เมื่อฝ่ายบีอาร์เอ็นเรียกร้องมาก่อน ทำให้ฝ่ายรัฐเกิดความระมัดระวังมาก
"ผมเคยพูดตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า ข้อเรียกร้องข้อ 4 ว่าด้วยสิทธิความเป็นเจ้าของ จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ จึงอยากเสนอให้นำเรื่องเข้าไปสู่วงวิชาการ เพราะต้องพิจารณาทั้งในเชิงกฎหมายและประวัติศาสตร์ แต่เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องให้คำตอบโดยเร็ว เพราะต้องคุยกันอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด"
"ผมคิดว่าการจะตอบคำถามของบีอาร์เอ็น ต้องใช้วิชาการเป็นเครื่องมือ เนื่องจากคำอธิบายข้อเรียกร้องล้วนเป็นวิชาการทั้งสิ้น และตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงของชาติพันธุ์มลายู ซึ่งต้องทำความเข้าใจในเชิงวิชาการ ฉะนั้นวงวิชาการจะเป็นขั้นตอนแรกของการหาคำตอบ จากนั้นจึงค่อยนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งเป็นข้อเรียกร้องอยู่แล้ว เพราะบีอาร์เอ็นต้องการให้เป็นวาระแห่งชาติ"
ใต้ รธน.ไทย...มุมมองที่ยังสวนทาง
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า วงวิชาการจะต้องมีองค์ประกอบที่กว้างกว่าหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด หรือกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เท่านั้น เนื่องจากมีมิติทางวัฒนธรรมหลายเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งในพื้นที่ นอกเหนือจากมิติทางการเมือง ซึ่งเป้าหมายสันติสุขยังเกิดขึ้นได้ถ้าเงื่อนไขความขัดแย้งเหล่านี้ถูกปลด
ส.ว.ปัตตานี กล่าวอีกว่า เท่าที่ติดตามข่าวในขณะนี้ ข้อเรียกร้องที่รัฐบาลรับไม่ได้ ฝ่ายบีอาร์เอ็นกลับอ้างว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นแสดงถึงความไม่พร้อมของฝ่ายรัฐ จึงต้องเร่งกระจายประเด็นต่างๆ ไปให้คณะทำงานที่เป็นวงวิชาการได้พิจารณาและเตรียมการ
"เรื่องความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชที่หลายฝ่ายหวาดระแวงนั้น เท่าที่ผมเคยพูดคุย เคยสัมผัสกับกลุ่มที่พอเข้าถึงได้ ได้รับการยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ สิ่งที่เขาต้องการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เขาเอาแค่นี้ เขาใช้คำว่า 'ยุคเราได้แค่นี้' คือนำพื้นที่มาบริหารจัดการตัวเองภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องยึดคีย์เวิร์ดคือใต้รัฐธรรมนูญไทย"
ส.ว.ปัตตานี ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเวทีสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง อยู่ดีมีสุข และสงบสันติ ยืนยันว่าการกระจายอำนาจไม่นำไปสู่การแบ่งแยกแน่นอน
"เจตจำนง"ต้องชัด
นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อนาคตของการพูดคุยสันติภาพอยู่ที่รัฐบาล เพราะยังไม่รู้ว่ารัฐบาลมีความจริงใจแค่ไหน ถ้ามีความตั้งใจและจริงใจจริงๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับบทบาท โดยเฉพาะ สมช.ยังทำตามความต้องการของใครอยู่หรือไม่
"ผมเคยตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาว่า เจตจำนงของการพูดคุยสันติภาพคืออะไร ถ้าต้องการแก้ปัญหา ต้องการให้เกิดสันติภาพ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะการพูดคุยคือทางออกที่ถูกต้อง แต่บทบาทของผู้ที่ไปพูดคุยดูจะยังมีปัญหา โดยเฉพาะเลขาธิการ สมช. หลายครั้งยังแสดงบทบาทเป็นโฆษกให้บีอาร์เอ็น ไปพูดคุยก็แค่ไปรับรู้ กลับมาแถลง แล้วก็ไปใหม่ ผลบวกจากการพูดคุยคืออะไรยังไม่ชัดเจน ฉะนั้นรัฐบาลต้องกลับมาตั้งหลัก และวางเจตจำนงให้ชัดเจนก่อน"
"สรุปก็คือการพูดคุยเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการแก้ไขปัญหา แต่เจตจำนงยังไม่ชัด ทุกวันนี้ฝ่ายทหารยังปฏิเสธการพูดคุยตลอดเวลา ส่วนคณะพูดคุยเอง รัฐบาลให้โจทย์อะไรไปบ้าง ให้กรอบการเจรจาไปแค่ไหน อะไรที่ยอมได้ อะไรที่ยอมไม่ได้ เรื่องแบบนี้ต้องชัด ไม่ใช่ไม่มีโจทย์อะไรให้เลยก็คุยยาก เพราะตัดสินใจอะไรไม่ได้"
รับได้...เลือกตั้งผู้ว่าฯ
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจ ต้องสนับสนุนให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นมาหารือ นำเข้าที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงโดยเร็ว
"เท่าที่ดูผมคิดว่ามันไม่ได้หนักหนาสาหัส เขาเสนอมาให้เรารับทราบ แต่จะจบอย่างไรต้องมานั่งถกกัน เช่น ถ้าได้ 3 ข้อก็อาจจะตกลงกันได้ แต่ไม่ใช่ปิดทางเหมือนที่มีข่าวว่าหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยเสนอหลักการ 7 ข้อสวนกลับไป ซึ่งเป็นประเด็นตรงกันข้ามกับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น เท่ากับปฏิเสธทั้งหมด"
"ผมอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน หารือกันให้ดีก่อน เพราะถ้าเราไม่มีท่าทีที่ชัดเจน เขาก็จะมองเราเหมือนในอดีต คือเชื่อถือไม่ได้"
ส่วนข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษนั้น ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า มีความเป็นไปได้ แต่ไม่อยากให้เรียกว่าปกครองพิเศษ เพราะรัฐบาลมีระบุไว้ชัดเจนในนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจ คนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าไปบริหารพื้นที่ของตน
"โมเดลที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสมก็คือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นด้วย เพราะคนไทยเชื้อสายมลายูมีวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่าง ต้องให้โอกาสคนพื้นที่ได้มีส่วนร่วม" นายสุรเชษฐ์กล่าวในที่สุด
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) วรวิทย์ บารู (ขวา) สุรเชษฐ์ แวอาแซ