‘กล้านรงค์’ ระบุ 5 สาเหตุสำคัญคอร์รัปชั่น ปลุก ปชช.กดดัน-ไม่ยอมรับคนทุจริต
'กล้านรงค์' ชี้ภาคปชช.เป็นส่วนสำคัญปราบคอร์รัปชั่น แนะผู้ทำหน้าที่ ป.ป.จ.ศึกษา พ.ร.บ.ฮั้ว-มาตรา 267 เตือนข้าราชการก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ ฝากกระบวนการยุติธรรมไม่อยู่ภายใต้ความกดดันใดๆ
วันที่ 21 กันยายน นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เหลียวหลังแลหน้า ก่อนวางดาบปราบโกง" ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่าย ป.ป.จ.ภาคพลเมือง เรื่อง พลังพลเมืองปฏิรูปการปราบโกง ที่จัดโดย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ร่วมกับสถาบันการเรยนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet) ณ ห้องคมชัย ชั้น 3 โรงแรมอลิซาเบธ ถ.ประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ
นายกล้านรงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาคประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้สำเร็จลุล่วง แต่เบื้องต้นจะต้องรู้ว่าลักษณะของการคอร์รัปชั่นเป็นเช่นไรบ้าง รวมถึงต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว เพราะในระดับท้องถิ่นผิดกฎหมายนี้กันมาก 2.รัฐธรรมนูญมาตรา 284 เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น ที่ควรกระจายมาใช้บังคับกับผู้บริหารท้องถิ่นด้วย โดยให้พิจารณามาตรา 265, 266, 267 และ 268 ด้วย
"มาตรา 267 ใช้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ระบุว่าห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เพื่อมุ่งหาผลกำไรมาแบ่งปันกันหรือห้ามไม่ให้เป็นลูกจ้างของบุคคลใด ข้อนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติที่ส่วนท้องถิ่นต้องนำมาใช้ ห้ามไม่ให้ทำธุรกิจมุ่งหากำไรและนำรายได้มาแบ่งปันกัน แม้จังหวัดที่ทำธุรกิจกับที่ปฏิบัติหน้าที่จะคนละที่ก็ถือเป็นความผิด ซึ่งกรณีนี้ในปัจจุบันมีร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญมาตรานี้ แต่คือสิ่งที่ ป.ป.ช.ภาคประชาชนควรรับรู้ไว้"
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ในปี 2555 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้รวบรวม ตรวจสอบและให้คะแนนค่าความโปร่งใส (CPI) ของประเทศไทย 37 คะแนน จาก 100 คะแนน ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าการกระทำบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมายอาญา แต่ผิดตามนิยามขององค์เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ระบุข้อบ่งชี้ไว้ 7 ประการ ได้แก่
1.การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ ที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ระดับสูง ในการบิดเบือนนโยบายเพื่อใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ เช่น น้ำมัน ป่าไม้ หรือถ่านหิน
2.คอร์รัปชั่นระดับกลาง ระดับเจ้าหน้าที่รัฐ
3.การติดสินบน
4.การยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ
5.การอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก คัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมืองเข้ามาทำงาน โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติหรือความเหมาะสม ข้อนี้นับว่าเป็นการคอร์รัปชั่นที่อาจไม่ขัดกับกฎหมาย ที่อาจพบเห็นได้ตั้งแต่ระดับนักการเมือง รัฐมนตรีและข้าราชการ
6.เลือกที่รักมักที่ชัง เอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกและครอบครัวโดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติหรือความเหมาะสม
และ 7.ผลประโยชน์ทับซ้อน
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงตัวอย่าง 3 ประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุดจาก Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) ที่พิจารณาตัดคะแนนจากการมีระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งในประเทศ ซึ่งประเทศนิวเซีแลนด์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์มีคะแนนที่ดีเป็นอันดับต้น และมีสิ่งสำคัญเหมือนกันคือระบบการเข้าถึงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบภาครัฐที่ดี อีกทั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย สื่อมวลชนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
"อย่างประเทศสวีเดนเป็นอันดับต้นๆ เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายให้สาธารณะชนเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบความโปร่งใสของข้าราชการได้ ขณะที่ได้คะแนนต่ำสุด 31 คะแนนจาก 100 คะแนน มีการเลือกตั้งที่ก้าวข้ามการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้"นายกล้านรงค์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการเลือกคนดีมาทำงาน การเลือก ส.ส.มาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้ควบคุมการทำงานของรัฐบาล แต่ไม่เคยทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของหน้าที่นี้อย่างแท้จริง ขณะที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสูงมาก แต่ต้องย้อนถามว่า ในทางพฤตินัยสื่อมวลชนมีเสรีภาพจริงหรือไม่
"การให้ความรู้แก่คนในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ อย่างการจะแก้ไขกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรรับฟังความเห็นประชาชน ว่ามีความต้องการแก้หรือไม่ แก้เพื่ออะไร ให้ออกเป็นมติประชาชนที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง และนี่คือจุดที่เราขาด"
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงสาเหตุการคอร์รัปชั่นด้วยว่า สมัยที่ตนเข้าทำงานใหม่ๆ คอร์รัปชั่นเพราะข้าราชการเงินเดือนน้อย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่ในปัจจุบันทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจาก 5 สาเหตุ ได้แก่
1.สังคมบริโภคนิยม วัตถุนิยม
2.สังคมระบบอุปถัมภ์ ที่ไม่ใช่ในอุปถัมภ์กันตามสภาพสังคมแบบไทย ยึดโยงกันทางจิตใจ แต่เป็นระบบสังคมทางดิ่ง ยึดโยงผลประโยชน์ เช่นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับข้าราชการ นักการเมืองไม่สามารถทุจริตได้เอง หากไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ดังนั้น การแก้ต้องแก้ที่จิตใจ จิตสำนึก
"ผมเตือนข้าราชการเสมอว่าเหรียญมี 2 ด้าน หากทำตามคำสั่งอาจได้ยศตำแหน่ง แต่อีกด้านหนึ่งเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว อาจถึงถูกปลด ถูกไล่ออก ติดคุกตะราง ชีวิตตระกูลสูญสิ้นหมด แต่แม้ไม่ได้ตำแหน่ง ยังสามารถอยู่ในสังคมได้ กล้ามองหน้าตัวเองในกระจกและสอนลูกหลานได้ด้วยความภาคภูมิใจ นี่เป็นสิ่งที่ข้าราชการต้องเลือก"
3.กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ความยุติธรรมถูกกดดันทางสังคมที่ตัดสินถูกผิด ดีเลวไปแล้ว ฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องกล้าตัดสิน กล้าวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย แม้คนที่ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นคนดี หากทำผิดต้องกล้าตัดสิน ต้องไม่อยู่ภายใต้ความกดดันใดๆ ทั้งสิ้น
4.การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลทางการเมือง
และ 5.ความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากมองไปข้างหน้า อย่างมีความหวัง มีความฝัน อยากสร้างให้สังคม กดดัน เป็นสังคมที่ไม่ยอมรับทุจริต (social sanction) ไม่คบค้าคนทำธุรกิจผิดกฎหมาย หากสร้างเงื่อนไขและทัศนคตินี้เกิดขึ้นในสังคมได้จะเป็นความสำเร็จของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับภาคประชาชน