นักวิชาการชี้ EHIA เขื่อนแม่วงก์ไม่โปร่งใส หวังคนไทยเลิกเป็นสังคมเมินเฉย
นักวิชาการม.รังสิตจวกยับ ขั้นตอนการทำรายงาน-พิจารณา EHIA เขื่อนแม่วงก์ ไม่โปร่งใส วอนคนไทยเลิกเป็นสังคมเมินเฉย หันมาใส่ใจปัญหาผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ
วันที่ 20 กันยายน ฝ่ายพัฒนาสังคม สำนักงานพัฒนาสังคม กลุ่มพลังนักศึกษา RSU NO DAM ชมรมมุสลิม ชมรมทักษิณสัมพันธ์ ชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการเสวนาสร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตยในหัวข้อ “EHIA เขื่อนแม่วงก์: ซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือดราม่า” ณ ห้องฉายภาพยนตร์ ชั้น 2 อาคาดิจิทัลมิติมีเดีย ม.รังสิต โดยมีนายอานันท์ หาญพาณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม ม.รังสิต เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
นายอานันท์ กล่าวช่วงเริ่มต้นของการเสวนา ถึงบทเรียนของประเทศไทยในการสร้างเขื่อนจากตัวอย่างเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ในเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่ได้ทำ เวลาทำก็ทำอย่างลวกๆ ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ว่า โครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ขบวนการที่อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน แต่อยู่บนพื้นฐานของการลงทุน การพัฒนาประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารจัดการเรื่องน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้เรากำลังเจอปัญหาแบบเดียวกันกับในปี 2530
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม ม.รังสิต กล่าวถึงคนที่มาต่อต้านหรือคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เอาตัวเองเป็น "สื่อ" เพื่อสร้างให้เกิดการตระหนักรับรู้และการตื่นตัว โดยหวังให้สังคมออกมาผลักดันการตรวจสอบข้อเท็จจริง ออกมาตรวจสอบEHIAที่ทำอย่างไร้มาตรฐานและบิดเบือนข้อมูล
"เปิดแผล" ผืนป่าตะวันตก
ด้านดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ถ้าป่าแม่วงก์ถูกบุกรุก จะกลายเป็นการ "เปิดแผล" ให้ผืนป่าตะวันตก
"มีคำถามว่า ทำไมต้องคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ประเด็นมาจากโครงการการบริหารจัดการน้ำที่ผลักดันให้เขื่อนแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งการจัดนิทรรศการ 3.5 แสนล้านบาทที่กำลังประชาสัมพันธ์อย่างเต็มเหนี่ยว มีป้ายว่า อ่างแม่วงก์อนุมัติ EHIA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับคนในสังคม มีการให้ข้อมูลว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นชอบแล้ว ทั้งๆที่ขณะนี้เป็นการนำ EHIA เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา จึงทำให้ดูเหมือนเป็นการเตี้ยมกันไว้และเป็นการเผยแพร่ความเข้าใจผิด
อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึง "อีเอชไอเอ" เป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างเขื่อน และก่อนที่จะสร้างได้นั้นต้องผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบ ซึ่งบริษัทที่รับทำจะศึกษาผลกระทบและทำรายงานตามเวลาที่ถูกกำหนด และตัวรายงานฉบับนี้ต้องส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งในขั้นตอนของการทำรายงานจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปด้วย แต่รายงานฉบับนี้ก็เป็นการจัดทำแบบชนิดรวบรัดเพื่อที่จะนำมาเขียนรายงานที่นำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
“เราไม่ได้เป็นพวกต่อต้านความเจริญ แต่เราคัดค้าน EHIA นี้ที่นำเสนอไม่ครบถ้วนทุกประเด็น ในแง่ของกระบวนการจัดทำและขั้นตอนการพิจารณา การไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับทราบ และเงื่อนงำในการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการพิจารณาตั้งแต่ต้นปี และหากมองรายงานฉบับนี้ในมุมมองที่ผมเป็นนักวิชาการ รายงานฉบับนี้ยังเป็นรายงานที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกมาก”ดร.สมิทธิ์ กล่าว
ดร.สมิทธ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่ของเราต้องมีการบูรณาการถึงจะช่วยกันดูแลโครงการใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นให้สามารถก้าวไปในขั้นตอนทีถูกต้องถูกจังหวะ โดยที่คนชนชั้นกลางในเมืองจะต้องไม่นิ่งเฉย หยุดภาวะของการไม่ใส่ใจ และเลิกเป็นไทยเฉยกันให้ได้ ปัญหาต่างๆจึงจะได้รับการแก้ไข
เสือโคร่ง ตัวชี้วัด ระบบนิเวศน์ป่าแม่วงก์มีความสมบูรณ์
ขณะที่นายเพชร มโนปวิต ผอ.ฝ่ายอนุรักษ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศไทย(WWF) กล่าวว่า ข้อมูลที่ชัดเจนที่ทำให้ต้องค้านไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ คือ คุณค่าความสำคัญของป่าแม่วงก์ หากมองภาพรวมทั้งหมดมีความหวังในการฟื้นฟูสัตว์ป่าที่หายาก แต่เรากลับถูกมองว่า NGOและกลุ่มอนุรักษณ์เห็นความสำคัญของ "เสือโคร่ง" มากกว่า "ประชาชน" ซึ่งเสือโคร่งเป็นจุดยืนตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศน์ในป่าแม่วงก์มีความสมบูรณ์ และผืนป่าไม่กี่ผืนในประเทศไทยที่มีความสมบูรณ์มากเท่านี้ หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องเป็นชาวบ้าน และควรมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีความจริงใจมากกว่าที่จะมุ่งผลักดันเขื่อนแม่วงก์ และหากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริงชาวบ้านอาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปนานแล้ว