วิษณุ เครืองาม ถอดบทเรียนปฏิรูประบบราชการ 9 แผ่นดิน สอนผู้นำการปฏิรูป
"ประเทศไทยโชคดีที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์กว้างใหญ่ในการปฏิรูประบบราชการ พระเจ้าแผ่นดินทั้ง 9 รัชกาลมีกาละ ทัศนะ พละ และทมะ หากใครจะริเป็นผู้นำ จะต้องมี 4 ข้อนี้ ถ้าไม่มีอย่าริไปนำใคร โดยเฉพาะผู้นำการปฏิรูป"
เมื่อเร็วๆนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ปาฐกถานำ เรื่อง "9 แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการ" เนื่องในงานเปิดตัว หนังสือใหม่เรื่อง "9 แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการ" ณ ห้อง 210 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหนังสือเล่มนี้จัดทำโดย ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค และคณะ ที่เป็นหนังสือในโครงการสนับสนุนการจัดทำต้นฉบับหนังสือใหม่ที่ทรงคุณค่า ลำดับที่ 4 ของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เริ่มต้นกล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ตอนที่เข้ามารับผิดชอบงานปฏิรูประบบราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างชุลมุนในการปฏิรูประบบราชการ ต่างฝ่ายต่างเดินหน้า โฆษณาชวนเชื่อจนทำให้เข้าใจว่า ประเทศไทยเพิ่งจะมีการปฏิรูประบบราชการ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินในทุกสมัยทำมาตลอด
พระเจ้าแผ่นดินทุกสมัยในอดีตถือว่าการปฏิรูประบบราชการเป็นพระราชภาระสำคัญ และการปฏิรูประบบราชการที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้แค่มารับไม้ต่อ
"ทำอย่างไรคนจะเข้าใจว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เก่งที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องแปลกใหม่ เป็นความมหัศจรรย์ หรือรัฐบาลไม่ได้เก่งที่ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดทำ เพราะในบริบทของแต่ละยุคสมัยทำกันมาก่อนแล้ว แต่วันนี้ความจำเป็นในการปฏิรูปอาจจะยิ่งยวดกว่าสมัยอื่นๆ เมื่อเปรียบกับคลื่นกำลังโถมทับเข้ามา"
หนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้น... เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ให้คนไทยรู้ว่า การปฏิรูประบบราชการเป็น 'ลมหายใจ' ของประเทศ หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องปฏิรูปอยู่เรื่อยๆ หากประเทศไหนที่หยุดนิ่ง ไม่ทำอะไร ดักดานอยู่กับสิ่งที่เคยมี ไม่คิดทำอะไรใหม่ ประเทศนั้นจะไม่เจริญ
หนังสือเล่มนี้ เป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์มากเล่มหนึ่ง ด้วยเพราะให้อรรถรสทางประวัติศาสตร์ การปฏิรูประบบราชการ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร อัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง 9 รัชกาล ซึ่งเมื่ออ่านแล้วสามารถนำไปต่อยอดได้หลายทาง เป็นหนังสืออีกเล่มที่เรียกได้ว่า...เสียดายที่คนตายไม่ได้อ่าน
ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้จับงานปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเป็นงานที่ยังไม่เสร็จสิ้น ไม่จบกระบวนการ
"เมื่อไหร่ที่เราคิดทำอะไรใหม่ มักจะเกิดความเหิมเกริม แล้วดูถูกภูมิปัญญาคนในอดีต แต่ถ้าได้เห็นวิริยะ อุตสาหะคนในอดีต โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ว่า ทรงทำอะไรมาบ้าง แล้วจะเห็นว่า คนเป็นผู้นำ ที่มีสายตากว้างไกลคิดกันอย่างไร และสามารถหยิบอะไรมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้บ้าง"
'ระบบราชการ' หมายถึง ระบบงานของรัฐ ระบบส่วนรวมที่ประกอบขึ้นด้วยบุคลากร หรือข้าราชการ และประกอบด้วยอำนาจรัฐ เงินทอง หรืองบประมาณแผ่นดิน รวมถึงความมุ่งหมาย หรือบริหารสาธารณะ
แต่กลับพบว่า...การมีคน บุคลากร งบประมาณหรือภารกิจอยู่ในระบบมากๆ จะยิ่งอุ้ยอ้าย ต้วมเตี้ยม เชื่องช้า ยึดกฎกติกามารยาท ระเบียบแบบแผนมาก เป็นระบบที่ติดโต๊ะทำงาน จึงเห็นได้ว่า คนในแต่ละยุคสมัยต่างต้องปรับเปลี่ยน หรือปฏิรูปอยู่เสมอ
นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้พยายามปรับเปลี่ยนมาตลอด แต่ความอุ้ยอ้าย เหมือนเต่าล้านปี ทำให้ปรับได้ยาก ผมจึงขอใช้ ต. เต่าเป็นสัญลักษณ์แทนกลวิธีที่แต่ละรัชกาลใช้ในการปฏิรูประบบราชการ
รัชกาลที่ 1 ใช้คำว่า "ตั้ง" ได้แก่ การตั้งกรุง สถาปนาพระนคร ย้ายเมืองหลวง ตั้งราชวงศ์ ตั้งใจอุปถัมภ์ยอยศพระพุทธศาสนา เป็นแนวคิดใหม่ผสมผสานสมัยอยุธยาได้อย่างแนบเนียน สิ่งได้ควรย่อก็ย่อ สิ่งได้เยิ่นเย้อก็ตัดทิ้ง สิ่งได้ดีก็ดึงกลับมาใช้ใหม่
รัชกาลที่ 2 ใช้คำว่า "แต่ง" ที่หมายถึงตกแต่งสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น รวมถึงแต่งหนังสือ โขน ระบำ รำ ฟ้อน ละครหนัง เป็นอุบายฟื้นใจเมืองให้คนชุ่มชื่น จากการรบ เรียกขวัญกำลังใจ ซึ่งนับว่าเป็นระบบราชการชนิดหนึ่ง
รัชกาลที่ 3 ใช้คำว่า "เติม" เพิ่มเติมเฉพาะส่วนที่ขาด ไม่ทำซ้ำ หันมาเติมการสร้างวัด หล่อพระ ทำเรื่องค้าขาย หาเงินทองเก็บไว้เพื่ออนาคต เพราะมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นสมัยที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเป็นสมัยที่ประเทศเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศีลธรรมและคุณธรรม ซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่มาจากผู้นำที่ชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ นั่นเอง
รัชกาลที่ 4 ใช้คำว่า "ต่อ" ต่อส่วนขยายสิ่งที่มีอยู่เดิม รวมถึงต่อรองกับต่างประเทศ ยอมเสียบางส่วน เพื่อรักษาบางส่วน ซึ่งทำให้ประเทศสามารถอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้
รัชกาลที่ 5 ใช้คำว่า "ตะลุย" ผมคิดว่ากฎหมาย 4 ฉบับที่ออกมาช่วงต้นรัชกาลเป็นกฎหมายที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา ได้แก่ 1.กฎหมายจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ 2.กฎหมายจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน 3.กฎหมายจัดตั้งศาลรับสั่ง 4.กฎหมายกำหนดพิกัดอัตราค่าตัว ซึ่งนำไปสู่การเลิกทาสเลิกไพร่ นับว่าเป็นแผนการอันเยี่ยมยอดที่ดึงอำนาจพระเจ้าแผ่นดินที่เคยมีแต่แหลกกระจายไปกลับคืนมาได้ และเป็นสมัยที่ปฏิรูปทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม การปกครองและระบบศาล
รัชกาลที่ 6 ใช้คำว่า "เตรียม" ทั้งเตรียมคน และเตรียมตัว โดยเฉพาะข้าราชการ เน้นเป็นพิเศษถึงกับแต่งหนังสือหลักราชการสอนคนรับราชการ เตรียมความพร้อมคนด้วยการศึกษาภาคบังคับ มีลูกเสือ มีการใช้นามสกุล เหล่านี้คือวิธีคิด วิธีจัดการปกครอง ปฏิรูปของผู้นำในอดีต
รัชกาลที่ 7 ใช้คำว่า "ตะล่อม" เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ อัตคัด จึงนำทุกแนวปฏิบัติมารวมกัน ๆ ประหยัด ดุลข้าราชการออก ตัดเงินเดือนข้าราชการ และตัดเงินปีของในหลวงเอง ควบรวมกระทรวง ซึ่งนับเป็นการปฏิรูประบบราชการอย่างหนึ่ง ให้ระบอบราชการจิ๋วแต่แจ๋ว
รัชกาลที่ 8 ใช้คำว่า "ตาม" เพราะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีรัฐบาลมาจัดการดูแล การปฏิรูประบบราชการจึงเป็นไปแบบตามผู้นำ ตามก้น ตามใจ กลายเป็นระบบที่ค่อนข้างสะเปะสะปะ จุดด่างพร้อยจึงเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายตั้งศาลพิเศษตัดสินคดีเฉพาะ โดยเฉพาะคดีที่รัฐบาลต้องการเล่นการปรปักษ์
ในสมัยที่ระบอบราชการอยู่ในมือผู้นำ จึงเกิดคำว่า "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" มีการสวมหมวก สามีต้องหอมแก้มภรรยาก่อนออกจากบ้าน ยกเลิกการใช้คำราชาศัพท์ เพื่อความทัดเทียมตามรัฐนิยม เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย เกิดเพลงชาติไทยขึ้นใหม่ และได้ดินแดนคืนจากเขมร นี่เป็นการปฏิรูปแบบตาม
รัชกาลที่ 9 ใช้คำว่า "ตื่น" มีทั้งตื่นตัว ตื่นเต้น ตื่นตูม ใครเห่ออะไรก็เห่อตาม ใครกลัวคอมมิวนิสต์ก็กลัวตาม ใครเห่อธรรมาภิบาลก็เห่อตาม เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็ปฏิรูประบบราชการเพื่อให้ทันสมัยตามนานาอารยะประเทศ จนปัจจุบันหลายหน่วยงานกำลังตื่นตัวจะตั้งกรม กอง เพื่อรับ AEC รวมถึงมีการประชุมว่าจะแก้กฎหมายเกือบ 100 ฉบับ เพราะเห็นว่าขัดต่อข้อตกลง AEC นี่คือความตื่นเต้น ตื่นกลัว ตื่นตามกันไป แม้จะไม่มีข้อเสียอะไรก็ตาม
แน่นอนว่า... การปฏิรูประบบราชการ หัวใจอยู่ที่ 'ผู้นำ' อย่างที่ว่าถ้าหัวไม่กระดิก หางจะไม่ส่าย
นับว่าประเทศไทยโชคดีที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์กว้างใหญ่ในการปฏิรูประบบราชการมาตลอด ความโชคดียิ่งใหญ่ของไทย คือการที่พระเจ้าแผ่นดินทั้ง 9 รัชกาลมีคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่ ที่สรุปได้ 4 คำ ได้แก่ กาละ ทัศนะ พละ และธรรมะ
หากใครจะริเป็นผู้นำ จะต้องมี 4 ข้อนี้ ถ้าไม่มีอย่าริไปนำใคร โดยเฉพาะผู้นำการปฏิรูป!!
1.กาละ ถูกจังหวะจะโคน ถูกระยะเวลา ผู้นำที่คิดจะทำอะไรแต่เวลาไม่มี หรือมีไม่พอ ก็นำไม่ได้
2.ทัศนะ ต้องคิดว่าจะทำอะไร แต่ถ้าคิดว่าขึ้นเป็นใหญ่ มาสวมมงกุฎแล้วไม่มีทัศนะจะทำอะไร ไม่มีวิสัยทัศน์ก็ปฏิรูปอะไรไม่ได้ อย่าง รัชกาลที่ 3 พระองค์ไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ แต่ได้เตือนคนก่อนสวรรคตว่า การศึกข้างหน้าฝ่ายพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว ระวังไว้ก็แต่ฝรั่งเถิด จึงได้เก็บเงินสะสมไว้เผื่อยามจำเป็น นี่คือทัศนะที่กว้างไกล
3.พละ คือ พละกำลัง มีตัวช่วย แม้เก่งให้ตาย แต่คนเดียวก็ทำอะไรไม่สำเร็จ เป็นผู้นำต้องรู้จักเลือกใช้คน
4.ธรรมะ ข้อนี้หมายถึงอะไร ทุกคนคงเข้าใจกันอยู่แล้ว และหากไม่มีข้อนี้ การปฏิรูปใดๆ ก็คงไม่สำเร็จ ไม่มีใครเอาด้วย