‘นพ.นิรันดร์’ ชี้กรมประมงรื้อ ‘โพงพาง’ เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
‘นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ’ ชี้กรมประมงสั่งรื้อถอน ‘โพงพาง’ หนุนระบบทุนขนส่งลำน้ำ ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แนะทางแก้เปิดเวทีประชาพิจารณ์-ศึกษาวิจัย หวังชาวบ้านอยู่รอดภายใต้วิถียั่งยืน
วันที่ 20 ก.ย. 2556 คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อท้องถิ่น และเครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม จัดสัมมนา ‘การบริหารทรัพยากรประมงแบบมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน:นโยบาย กฎหมาย สิทธิและปฏิบัติการระดับชุมชน-ท้องถิ่น’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ปาฐกถาตอนหนึ่งต่อนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหาประมงโพงพางทะเลชายฝั่งถูกรื้อถอนว่า กรมประมงออกมาตรการห้ามใช้โพงพางดักจับสัตว์น้ำด้วย 2 เหตุผล คือ 1.ขัดขวางการเดินเรือพาณิชย์ โดยรัฐจำเป็นต้องหนุนเสริมและสนับสนุนพาณิชย์นาวีและการขนส่งทางน้ำ นั่นหมายความว่า เป็นแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุน ทั้งที่ไทยไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจการเดินเรือ
และ 2. ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ กีดกันการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ อันขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490
สำหรับปัญหาดังกล่าว ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิและการมีส่วนร่วมตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นหากชาวบ้านต้องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเน้นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
“ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายว่า จะใช้ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนอย่างไร และมีส่วนร่วมในการตัดสินว่า จะยกเลิกประมงโพงพางหรือไม่” นพ.นิรันดร์ กล่าว พร้อมเสนอให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยข้อเท็จจริง และจัดทำองค์ความรู้ภายใต้การศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยนั้นไม่สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ เพราะล้วนมีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ หากผลสรุปของงานวิจัยออกมามีผลกระทบชัดเจนก็ต้องมีทางเลือกให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ ตามมติครม. 2555 ที่ระบุว่า ถ้าจะยกเลิกประมงโพงพางต้องมีการศึกษาถึงทางเลือกทำมาหากินอื่น เเต่หากกรมประมงมุ่งพัฒนาวิถีประมงโพงพางให้อยู่รอดโดยยึดประชาชนเป็นตัวตั้งก็ต้องออกกฎระเบียบ กติกา ต่าง ๆ ให้ชัดเจน
อ่านปาฐกถาเพิ่มเติม:ฟัง ‘นพ.นิรันดร์’ ไขปัญหา ‘ประมงโพงพาง’ กับความอยู่รอดคนลุ่มแม่กลอง
ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th/politics/227227