ฟัง ‘นพ.นิรันดร์’ ไขปัญหา ‘ประมงโพงพาง’ กับความอยู่รอดคนลุ่มแม่กลอง
ฟังกรรมการสิทธิฯ วิพากษ์จัดการประมงพื้นบ้าน "ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้ายังต้องดำรงไว้ซึ่งวิถีประมงโพงพาง ก็อาจต้องมีการจัดสรรในเรื่องของระเบียบ กติกาต่าง ๆ แต่หากคิดว่างานวิจัยออกมามีผลกระทบชัดเจนก็ต้องมีทางเลือกให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ ตามมติครม. 2555"
วันที่ 20 ก.ย.2556 ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปาฐกถา ‘สิทธิและปฏิบัติการของประมงพื้นบ้านในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน' โดยมีเครือข่ายประมงพื้นบ้าน (โพงพาง) ลุ่มน้ำแม่กลองร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
นพ.นิรันดร์ เริ่มต้นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ประชาชนต้องรู้ คือ สิทธิ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และความถูกต้องของประชาชน เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เห็นว่าหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักของความเป็นคน คนก็คือคนไทย ข้าราชการก็เป็นคนไทย
ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทย บอกว่าสิ่งนี้คือหลักที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิของความเป็นคน สิทธิชุมชนที่เรามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์บริหารจัดการทรัพยากร จึงเป็นหลักที่ทำให้เกิดความมั่นคงว่าตรงนี้ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวต่อว่า การทำให้เกิดหลักประกันในหลักสิทธิมนุษยชนแห่งความเป็นคน จึงต้องกำหนดว่าสิ่งนี้คือหลักนิติรัฐ เพราะหลังพ.ศ.2475 ได้ตกลงว่าไทยไม่ได้ปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่ แต่เราปกครองโดยมีกฎหมายเป็นใหญ่ และตัวแทนของรัฐ คือ รัฐบาล เป็นตัวแทนของคนใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นหลักสิทธิมนุษยชนทำให้เห็นว่าเป็นหลักที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน จึงบรรจุไว้ในเรื่องของการปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเดียว แต่กฎหมายนั้นต้องมีความเป็นธรรม ยึดหลักสิทธิมนุษยชน
ฉะนั้นอำนาจในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐเกิดขึ้นได้ และอำนาจในการตรวจสอบขณะนี้ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้ประชาชนทำหน้าที่ในการตรวจสอบและรัฐเองต้องยอมรับในการตรวจสอบ แม้กระทั่งกสม.เองก็ต้องยอมรับในการตรวจสอบของภาคประชาชน
“ผมย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ที่ทำเช่นนี้เพื่อเห็นว่าสิทธิทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของความเป็นคน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในการทำมาหากิน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ทำให้เราสามารถยังชีพอยู่ได้ โดยอาชีพเกษตรกรรม คือสิทธิที่เราต้องเห็นตรงกันว่า คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์และความถูกต้องของสังคม เพราะตรงนี้จะทำให้คนและชุมชนสามารถอยู่รอดได้ด้วยความปลอดภัย” นพ.นิรันดร์ กล่าว และว่าความสัมพันธ์ของเรื่องสิทธิและกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่เมื่อเป็นกฎหมายก็คืออำนาจ เพื่อทำให้เห็นว่าสิทธิไม่ใช่เรื่องที่จะพูดเล่น ๆ สิทธิไม่ใช่เรื่องที่ตนเองจะเป็นคนอ้าง สิทธิเป็นเรื่องที่ชาวบ้านอ้าง เพราะตรงนั้น อำนาจอันชอบธรรมได้อ้างไว้ในกฎหมาย ในทางการจึงบอกว่าสิทธิเป็นอำนาจของประชาชน ที่กฎหมายให้การรับรอง
การเมืองภาคพลเมือง:ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ
ประธานอนุกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าทำไมกฎหมายต้องรับรองอำนาจ เพราะเรารู้ว่าในการปกครองโดยรัฐ ในสังคมต้องมีภาคนายทุนและธุรกิจ ซึ่งบางครั้งในการทำงานของรัฐ จะมีลักษณะของการใช้อำนาจเกินเลยและข่มเหงประชาชน ถึงแม้จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่สังคมยังตกอยู่ในระบบการใช้อำนาจ ฉะนั้นความรุนแรงต่าง ๆ ในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจที่เกินเลย ธุรกิจก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการรักษาและกอบโกยผลประโยชน์ที่เกินเลย
ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่านายทุนและนักธุรกิจกับรัฐมักจะมารวมกัน เราเรียกว่า ‘ระบบนักธุรกิจการเมือง’ วงกลมของรัฐกับนักธุรกิจจะร่วมกันแล้วใหญ่กว่าวงกลมของภาคสังคม เพราะถ้าสังคมอ่อนแอลง สิ่งที่จะเป็นหลักประกันว่า สังคมจะต้านทานต่ออำนาจรัฐและนายทุนได้ คือ หลักสิทธิมนุษยชนตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐ ชาวบ้านคือสิ่งที่รัฐสั่งแล้วต้องทำ ปัจจุบันไม่ใช่ สิ่งที่รัฐดำเนินการเราเรียกว่า ‘การเมืองของนักการเมือง’ แต่ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มี ‘การเมืองของภาคพลเมือง’ เพราะการเมืองหมายความว่าการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เรามีปัญหา คือ การเมืองของนักการเมืองที่ไม่สามารถบริหาร ดูแลแทนพี่น้องประชาชน ใช้อำนาจในการดูแลผลประโยชน์ของประชาชนได้ ซึ่งผมคิดว่าประชาชนตระหนักดี
นพ.นิรันดร์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ความวุ่นวายช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ ความวุ่นวายของการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งจะเห็นว่าโครงการต่าง ๆ ขณะนี้ เช่น โครงการ บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีคุยกันอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นโครงการที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่
“ในฐานะกสม.บอกเลยว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ขณะนี้มีชาวบ้านร้องเรียนกับตนเองแล้ว ชาวบ้านที่จะถูกมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน ชาวบ้านที่จะถูกรถไฟความเร็วสูงตัดผ่าน เข้ามาร้องเรียนแล้วว่ารัฐบาลจะชดใช้ ที่ดินให้มีการทำมาหากินอย่างไร โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทก็เช่นกัน กรณีเขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่วงก์ ก็มาร้องเรียนด้วย ว่าจะคุ้มหรือไม่ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและประชาชนจะได้ประโยชน์ หรือกลับทำลายทรัพยากรป่า ลุ่มน้ำ ให้ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินหรือเลี้ยงชีพได้”
ฉะนั้นขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่เราต้องนึกถึง ‘การเมืองของภาคพลเมือง’ ว่าประชาชนสามารถมีวิถีชีวิตของภาคพลเมืองได้อย่างไร เพราะคำว่า ‘พลเมือง’ ไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่ทาสที่ใครสั่งก็ทำตาม แต่เราสามารถลุกขึ้นมาในการใช้สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การเข้ามาตรวจสอบอำนาจรัฐ ร่วมกับองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้ เพราะการใช้อำนาจรัฐนั้น จริง ๆ เราได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับถูกทำลาย
ประธานอนุกรรมการฯ ระบุต่อว่า กรณีเหมืองแร่ทองคำ การสำรวจขุดเจาะน้ำมันสร้างความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือเกาะสมุย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่ดิน ลุ่มน้ำ ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ก็ถูกตัดสวนยางพารา ถูกไล่ออกจากพื้นที่ ถูกแจ้งความเป็นคดีในศาล ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าไม่มีหลักการของเรื่องสิทธิที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ แนวทางสิทธิ การมีส่วนร่วมของ ประชาชนที่จะถูกข่มเหงรังแก สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีความสงบสุขได้อย่างไร
“ตนเองจึงยืนยันว่าการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองไม่ใช่แค่ลุกขึ้นมาคัดค้าน ประท้วง เดินขบวน ไม่ใช่แค่ข้าราชการต่าง ๆ มาบอกว่าจะต้องรื้อถอนโพงพาง จะไล่ชาวบ้านออกจากป่าทั้งที่อยู่มาหลายปี แม้นชาวบ้านนั้นจะเป็นคนไทย กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เขาก็มีสิทธิร่วมในฐานะพลเมือง” นพ.นิรันดร์ อธิบาย และว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงการรับฟัง แต่จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ รัฐเองต้องมีหน้าที่ดูแล ต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการสำรวจพื้นที่ แบ่งเขต วางเขต ต้องให้เกิดความชัดเจน โดยประชาชนมีส่วนร่วม คณะทำงานระดับจังหวัดต้องมีประชาชนเข้าไปร่วมด้วย ไม่ใช่รัฐเป็นคนขีดอย่างเดียว
การจัดการลุ่มน้ำก็เช่นเดียวกัน เรามีการคัดค้านในเรื่องการสร้างเขื่อนปากมูลประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ซึ่งเขื่อนนี้ได้ทำลายลำน้ำที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาเป็น 100 ปี ขณะนี้ลุ่มน้ำมูลในรูปแบบของเขื่อนปากมูลนั้น ชาวบ้านกลับไม่ได้รับประโยชน์อะไรในการทำมาหากินเลย ปลาหายไปหมด เกษตรกรรมริมแม่น้ำมูลหายไปหมด
วิกฤตประมงโพงพาง:ทุนเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้า
ประธานคณะอนุกรรมการฯ จึงมองว่าการทำงานของเครือข่ายประมงพื้นบ้านโพงพางจึงต้องอยู่บนพื้นฐานที่เราเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นว่าจะดำเนินการต่อในการรื้อถอนหรือจะคงไว้ หรือคงไว้แต่ทำให้เกิดกระบวนการทำงาน เพื่อทำให้เกิดการยอมรับที่ตรงกัน และไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว
“การมีส่วนร่วมไม่ได้หมายความว่าแค่ให้ได้รับรู้ข้อมูล การรับรู้ข้อมูลต้องรับรู้ด้านดีและไม่ดี รู้ข้อมูลให้ได้ว่าถ้ารื้อถอนประมงโพงพางแล้ว ข้อดีคืออะไร ข้อเสียที่จะกระทบชาวบ้านอย่างไร แล้วเราต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การตัดสินใจบางครั้งต้องอยู่บนพื้นฐานของการจัดการองค์ความรู้ เพื่อทำให้เกิดความเห็นตรงกัน แล้วเราจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการริเริ่มหรือดำเนินการได้” นพ.นิรันดร์ชี้ช่อง และระบุถึงเป้าหมายว่าเราต้องการให้ลุ่มน้ำยังประโยชน์ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็ควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม แต่กรณีประชาสัมพันธ์เพื่อบอกให้รู้ ถือว่าไม่ใช่การมีส่วนร่วม เพราะเอาเพียงคนที่เห็นด้วยถือเป็นการจัดการใช้อำนาจความเด็ดขาด
ประธานอนุกรรมการฯ ยังกล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยต้องยอมรับเสียงข้างมาก แต่ขณะเดียวกันต้องเคารพเสียงข้างน้อย นั่นคือพื้นฐานที่ต้องเข้าใจว่าหลักการที่ตนเองพยายามบอกให้ฟังกับสิ่งที่เป็นหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สังคมไทยหนีไม่พ้น แล้วเราได้ผลกระทบโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ คือแผนพัฒนาในการจัดการที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ ได้ถูกกระทบด้วยหลักคิดทางเศรษฐกิจ ทุนเสรีนิยม ที่เข้ามาเปลี่ยนที่ดิน ทะเลชายฝั่ง ลุ่มน้ำ และสินแร่ กลายเป็นสินค้า
ยกตัวอย่าง ข่าวเมื่อวันสองวันนี้โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่จะทำรถไฟความเร็วสูงตัดไปทางอีสาน ขณะนี้มีคนไปจับจองพื้นที่เตรียมขายแล้ว ไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เป็นนายทุน นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ซึ่งจะเห็นว่าทุนไปเร็วมาก และไปจับจองพื้นที่รถไฟความเร็วสูง ที่ก็ขายได้ราคาสูง แต่ชาวบ้านไม่ได้ แถมยังถูกไล่ที่อีก สิ่งที่เป็นปัญหาทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน คือ คนรวยซื้อได้ แต่คนจนซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน
นพ.นิรันดร์ ชี้ให้เห็นกรณีทะเลชายฝั่ง รัฐออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประมงเรืออวนเรือลาก แต่ขณะเดียวกันรัฐเองกลับไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการในเรื่องประมงโพงพาง เพราะเห็นว่าประมงโพงพางเกะกะ ขีดขวางการจราจรทางน้ำของเรือธุรกิจ สร้างผลกระทบต่อสัตว์อ่อน หลักใหญ่คือต้องการให้กลายเป็นธุรกิจการเดินเรือ การขนส่งสินค้า เรือขุดทราย ธุรกิจเลี้ยงปลากระชังในระบบอุตสาหกรรมภาคการเกษตรที่ชาวบ้านกลายเป็นคนงานของอุตสาหกรรมดังกล่าว
เพราะฉะนั้นตั้งคำถามว่าถ้ายกเลิกประมงโพงพางแล้วชาวบ้านจะทำอะไรกิน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เม.ย. 2555 ระบุถ้าจะยกเลิกประมงโพงพางต้องมีการศึกษาถึงทางเลือกทำมาหากินอื่น เพราะคนต้องหากิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐาน ดังนั้นจึงต้องเอาข้อมูลเรื่องความจำเป็นทางพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกันมาเป็นตัวกำหนด นี่คือมติครม.เพื่อจะอนุมัติให้ยกเลิกประมงโพงพาง
“หน่วยงานของรัฐได้ศึกษาวิจัยในการหาข้อมูลความจำเป็นของแต่ละพื้นที่แล้วหรือไม่ เพราะประมงโพงพางที่จ.สมุทรสงครามแตกต่างจากจ.จันทบุรี และจ.สงขลา เพราะมีระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว และมองว่าต้องเข้าใจปัญหามาจากความคิดระบบทุน จนทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสอดคล้องต่อแนวทางจัดการระบบทุนที่มองทุกอย่างเป็นสินค้า แม้กระทั่งคน
ฉะนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ คือ คนมีเงิน-คนรวย ส่วนคนจนจะยากจนมากขึ้น ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับสังคมไทยมาโดยตลอดคือ เกษตรพันธะสัญญา เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การสร้างเขื่อน โครงการพลังงาน โครงการเหมืองแร่ ประมงพาณิชย์ หรือท่าเรือน้ำลึก ทุกเรื่องชาวบ้านได้ร้องเรียนมายังกสม. นั่นหมายความว่าชาวบ้านต่อต้านการพัฒนาระบบทุน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องการระบบทุนที่มีความรับผิดชอบ นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ทุนสร้างความเหลื่อมล้ำ:รวยกระจุก จนกระจาย
นพ.นิรันดร์ กล่าวเพิ่มว่า ระบบทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่รัฐเองจะต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อทำให้เกิดความสงบสุข เช่น เหมืองทองคำที่อ.วังสะพุง จ.เลย ได้พาชาวบ้านขึ้นไปบนภูเขาที่เป็นแหล่งเหมืองแร่ โดยชาวบ้านบอกว่าไม่ได้ขึ้นไปเป็น 10 ปี เพื่อขึ้นไปถึงแล้วขนลุกตกใจ เพราะภูเขา ป่าไม้ หายไปหมด เหลือเพียงภูเขาที่ถูกขุดหลุม เศษดิน เศษหิน และบ่อที่เป็นสารพิษจากสารไซยาไนด์ กังวลว่าหากยกเลิกสัมปทานชาวบ้านจะดำรงชีวิตอย่างไร ที่สำคัญขณะนี้ชาวบ้านยังเสี่ยงต่อมลพิษที่เกิดจากในพื้นที่
ฉะนั้นต้องยอมรับกับปัญหาขณะนี้ว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมาก ด้วยระบบคิดที่นำทุนเข้ามาจนเกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม โดยความเหลื่อมล้ำในรายได้นั้น เรียกว่า รวยกระจุก จนกระจาย
ประธานอนุกรรมการฯ นำเสนองานวิจัยของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นไทยกำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในทางการจัดการทรัพยากรและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นรองเพียงละตินอเมริกาและแอฟริกาเท่านั้น
ปัญหาดังกล่าวผลพวงมาจากการเมืองที่เน้นระบบทุนอย่างเดียว โดยไม่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่หมายถึงเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรม นโยบายที่มีเป็นเพียงประชานิยมที่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์แท้จริง ดังนั้นเราต้องทำให้นักการเมืองเห็นว่าการพัฒนาต้องเน้นหลักสิทธิกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มิเช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งจากปัญหาความยากจน จนเป็นปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และประมงโพงพางก็เป็นเหยื่อของการพัฒนาเหล่านั้น
นพ.นิรันดร์ ระบุว่า แม้ไทยจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ แต่ปกครองไปปกครองมากลายเป็นประชาชนถูกทำร้ายมากที่สุด โดยถูกทำให้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสิทธิในที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ สินแร่ ต่อการทำมาหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย
ห้ามประมงโพงพาง:ความไม่เป็นธรรมการใช้กม.
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า นโยบายการห้ามใช้โพงพางของกรมประมง อ้างเหตุผล 2 อย่าง คือ 1.ขัดขวางการเดินเรือพาณิชย์ และอ้างอีกว่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนนโยบายพื้นฐานของรัฐที่ต้องหนุนเสริมและสนับสนุนพาณิชย์นาวีและการขนส่งทางน้ำ นั่นหมายความว่าเป็นแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุน ทั้งที่ไทยไม่ได้เริ่มจากธุรกิจการเดินเรือ ฉะนั้นธุรกิจพาณิชย์นาวีคนละเรื่องกับชาวบ้าน
ขณะเดียวกันข้อกล่าวหาที่ใหญ่มาก คือ ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ กีดกันการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490
ประธานอนุกรรมการฯ จึงมองว่าไม่ใช่เป็นปัญหาเชิงบุคคล แต่เป็นปัญหาของการใช้กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายหน่วยงานของรัฐไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิ และการมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นต้องเสนอให้เห็นว่า ถ้าชาวบ้านต้องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน เน้นแบบประชาธิปไตย จะต้องขอให้เน้นหลักมนุษยชนเป็นหลักด้วย
“รัฐบาลทุกรัฐบาลรับปากจะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงแค่วันแรกครั้งประกาศนโยบายต่อรัฐสภาเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำได้และไม่ค่อยได้ทำ เพราะฉะนั้นหากเรามองว่าอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนา ในที่นี้คือการพัฒนาลุ่มน้ำที่บอกว่าโพงพางกีดขวางเรือพาณิชย์” นพ.นิรันดร์ กล่าว และตั้งคำถามว่าลุ่มน้ำทำลายสัตว์อ่อนจริงหรือไม่ เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายว่าจะใช้ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนอย่างไร และมีส่วนร่วมในการตัดสินว่าจะยกเลิกประมงโพงพางได้หรือไม่
ทั้งนี้ ประเด็นทั้งหมดครอบคลุมถึงการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เรียกว่าสิทธิชุมชนท้องถิ่นแบบเน้นการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน เพราะจะใช้อำนาจโดยพลการไม่ได้
ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวอีกว่า มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุว่า จะมีโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่นต้องจัดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสมอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก ในที่นี้คือลุ่มน้ำแม่กลองกับการยกเลิกประมงโพงพาง
หวังประมงโพงพางอยู่รอด:ชงเปิดเวทีรับฟัง-ศึกษาวิจัย
นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานขณะนี้ว่าเสนอให้มีการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นด้วยข้อเท็จจริง โดยชาวบ้านต้องการเปลี่ยนเป็นประชานิยมที่เราได้รับประโยชน์ สังคมเข้มแข็ง ขณะเดียวกันได้มีการทำเรื่ององค์ความรู้ ไม่ใช่ชุมนุมประท้วง ที่จะถูกกล่าวหาว่าเราเป็นพวกหัวรุนแรง เราต้องการองค์ความรู้ในการตัดสินความเห็นที่ต่างกันระหว่างรัฐกับประชาชน
ทั้งนี้ กระบวนการทำงานของรัฐ ในฐานะกรมประมง กรมป่าไม้ กรมที่ดิน ต้องยอมรับการพัฒนาที่ทำให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ใช่ความมั่นคงของคนรวยหรือนายทุน และความมั่นคงของการจัดการทรัพยากร เหล่านี้ต้องใช้นโยบายการมีส่วนร่วม และกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น
ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้มีการศึกษาวิจัย ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าการศึกษาวิจัยถึงไหนแล้ว เพียงแต่การตกลงกันในการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย เพื่อให้มีผลชัดเจนว่าการจัดการประมงโพงพางที่ลุ่มน้ำแม่กลอง หรือที่อื่นนั้น เป็นอย่างไร ซึ่งบนพื้นฐานของการจัดการองค์ความรู้งานวิจัยพื้นที่เดียว ไม่สามารถจะใช้ตัดสินทั้งประเทศได้ เพราะระบบนิเวศแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มองว่าการศึกษาวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ
“ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การพัฒนาต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้ายังต้องดำรงไว้ซึ่งวิถีประมงโพงพาง ก็อาจต้องมีการจัดสรรในเรื่องของระเบียบ กติกาต่าง ๆ แต่หากคิดว่างานวิจัยออกมามีผลกระทบชัดเจนก็ต้องมีทางเลือกให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ ตามมติครม. 2555” ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว
ช่วงท้าย นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า สิทธิเป็นอะไรที่มากกว่ากฎหมาย สิทธิคือสิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ คนต้องการสิทธิ เพราะคนเราเกิดมาแล้วตั้งแต่เกิดจนตาย เรามีความต้องการที่เป็นขั้นพื้นฐานของชาวประมงโพงพาง มีเงินใช้ มีบ้านอยู่ มีสังคมที่เป็นสุข แม้ไม่มีกฎหมายก็รู้ว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของคน เพระฉะนั้นพอมีกฎหมายกำหนดกลับเป็นเรื่องที่ต้องตอกย้ำว่าเมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ เพราะเราปกครองด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกันถ้ารัฐไม่ยอมรับค่าของสิทธิมนุษยชน ถือว่ารัฐเป็นศัตรูกับระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นเผด็จการโดยรัฐ ถือว่าเป็นรัฐที่ต่อต้านประชาชน ทำร้ายประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ .
ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1241194334&catid=01
http://www.komchadluek.net/detail/20121124/145544/'%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%87'%E0%B8%9B%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3.html