องค์กรต้านคอร์รัปชัน จี้รัฐนำตัวนักการเมืองทุจริตรถดับเพลิงมาลงโทษ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชง 7 แนวทางรวมพลังล้างบางคอร์รัปชั่น ปลุกประชาชนร่วมแสดงออก เตรียมจัดระดมความคิดผู้นำสังคมหลากภาคส่วน ร่วม แก้ปัญหาให้รัฐบาล
จากกรณีศาลพิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 12 ปี และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. 10 ปี จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. และได้หายตัวไปไม่สามารถจับกุมให้มารับโทษได้นั้น ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐมากกว่า 6 พันล้านบาทแล้ว ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา รถดับเพลิงที่จัดซื้อจัดจ้างมานั้นก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน ขณะที่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ รถดับเพลิงที่จอดไว้บางส่วนได้รับความเสียหายด้วย เงินภาษีของประชาชนหมดไปกับการคอร์รัปชันและการปล่อยรถให้เสียหายโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์
ล่าสุดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความกังวลนักการเมืองทำผิดทุจริตคอร์รัปชันลอยนวล หายตัวเป็นแบบอย่างเลวร้ายของสังคมไทย โดยคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมคอร์รัปชันนั้นมีความล่าช้า ไม่ศักดิ์สิทธิ์ บ่อยครั้งที่เกิดความเสียหายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับผู้มีตำแหน่งทางการเมือง จะไม่สามารถนำคนผิดมาดำเนินคดีได้ จึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐบาลมีการกวดขันเรื่องการดำเนินคดี ไม่ปล่อยให้คดีสิ้นอายุความโดยไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะจะกลายเป็นแบบอย่างที่ทำลายคุณธรรมของสังคมไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็ได้เสื่อมถอยไปมากแล้ว
สำหรับแนวทางการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาวนั้น คุณหญิงชฎา กล่าวว่า ภาครัฐควรพิจารณาให้นำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะยังมีโครงการที่ใช้เงินของรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก เช่นการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ NGV ของกทม.มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท การใช้งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทแก้ปัญหาน้ำท่วม และการใช้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น และควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันการเกิดคอร์รัปชันในนโยบายหรือขั้นตอน ซึ่งจะลดความสูญเสียได้ดีกว่าปล่อยให้มีการคอร์รัปชันแล้ว ต้องติดตามแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ขณะเดียวกันคุณหญิงชฎา ยังเสนอแนวทางเรื่องของ มาตรการที่จะบังคับใช้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยระบุใน 7 แนวทาง ดังนี้
1. หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสู่สาธารณะและการประมูลโครงการใหญ่ ควรมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อของรัฐให้ประชาชนรับทราบ
2. บังคับใช้กฎหมายทางด้านภาษีและระบบงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมเรื่องรายได้ รายรับ รายจ่าย ของหน่วยงานต่างๆอย่างชัดเจน
3. สนับสนุนแนวทางการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พร้อมมีการเสนอสินบนหรือรางวัลในวงเงินที่จำกัดและเหมาะสมในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลและปกป้องพยาน
4. การกำหนดโทษและบทลงโทษผู้ทุจริตคอรัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐให้รุนแรงขึ้น และให้มีอายุความที่จะสอบสวนดำเนินการได้ยาวนานขึ้น (ไม่ใช่หมดอายุความแค่ 20 ปี)
5. ปฏิรูปการศึกษาและสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
6. การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบโครงการ เช่น การจัดระบบประชาพิจารณ์โครงการ
และ 7. การกำหนดกฎจรรยาบรรณและการส่งเสริมให้มีการใช้จรรยาบรรณในวิชาชีพทั้งในภาคราชการและธุรกิจเอกชน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในขั้นตอนต่อจากนี้ไป องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเตรียมเชิญผู้นำความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก่รัฐบาล รวมทั้งเป็นการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมในหมู่ประชาชน ให้รุกขึ้นมาร่วมรู้ ร่วมสู้ ช่วยกู้ชาติให้พ้นภัยคอร์รัปชัน
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/ACT.AntiCorruptionThailand?fref=ts