ศรีสมภพ : เอกสาร 38 หน้า BRN คือประตูสานต่อการพูดคุย
ยังไม่ทันเปิดมาเต็มๆ สำหรับเอกสาร 38 หน้าชี้แจงข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ส่งถึงรัฐบาลไทย ก็เริ่มมีเสียงค้านจากบางฝ่ายแล้ว โดยเฉพาะฝ่ายที่มองการพูดคุยสันติภาพว่าดำเนินมาอย่างผิดทิศผิดทาง นอกคอกนอกทฤษฎี
แต่สำหรับนักวิชาการที่ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยอย่าง ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งได้ศึกษารายละเอียดของเอกสารชี้แจง 38 หน้าแล้ว กลับเห็นว่านี่คือประตูสานต่อการพูดคุยสันติภาพที่สำคัญ และจุดพลิกผันว่าจะเดินหน้าต่อหรือหยุดชะงัก อยู่ที่ท่าทีของรัฐบาลไทย
ศรีสมภพ เห็นว่า การที่บีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ส่งเอกสารความยาว 38 หน้าเพื่ออธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ให้กับรัฐบาลไทยนั้น ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะได้พิจารณารายละเอียดของข้อเรียกร้องอย่างชัดเจนขึ้น
"ในเอกสารที่ส่งมา บีอาร์เอ็นอ้างว่าทั้ง 5 ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาลไทยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด" เขาระบุ และว่ารัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้ในการพิจารณา เนื่องจากในเอกสารได้ระบุไว้แล้วว่าข้อเรียกร้องแต่ละข้อมีความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตราไหน อย่างไร เชื่อว่าการอธิบายเพิ่มเติมของบีอารเอ็นเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) จะต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม
ทั้งนี้ ในคำอธิบายจำนวน 38 หน้า บีอาร์เอ็นอธิบายอ้างว่าทั้ง 5 ข้อเป็นการเรียกร้องสิทธิให้ประชาชน และสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี 2550 (ค.ศ.2007) ส่วนข้อเรียกร้องข้อ 4 ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการปกครองนั้น ในคำอธิบายได้ระบุถึงคำว่า "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ว่าหมายถึงสิทธิของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องได้รับการคุ้มครองและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิการจัดการในแง่ของการปกครองท้องถิ่น โดยให้สามารถมีรูปแบบการปกครองพิเศษ เช่น ด้านวัฒนธรรม ประเพณี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจัดการตนเองได้ แต่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 1 คือไม่มีการแบ่งแยกดินแดน
"การที่บีอาร์เอ็นมีคำอธิบายลักษณะนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ดี เพราะรัฐบาลสามารถนำมาพิจารณาได้ว่าข้อเรียกร้องแต่ละข้อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองว่าจะรับข้อเสนอหรือเปล่า ผมเชื่อว่าคำอธิบายของบีอาร์เอ็นเป็นประตูที่นำไปสู่การเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อไป รวมทั้งเชื่อว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ต้องการให้รัฐบาลตอบกลับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ฉะนั้นในช่วงนี้คณะพูดคุยฝ่ายไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้มีคำตอบกลับไปยังบีอาร์เอ็นให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเงื่อนไขตามที่บีอาร์เอ็นเคยระบุว่าถ้าไม่มีจดหมายตอบกลับจากรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ ก็จะปิดการพูดคุยสันติภาพ แต่ถ้าตอบกลับไป ก็จะเดินหน้าพูดคุยสันติภาพต่อ" นายศรีสมภพ ระบุ
บีอาร์เอ็นอ้าง รธน.ให้สิทธิปกครองพิเศษ
มีรายงานว่า รัฐธรรมนูญมาตราสำคัญๆ ที่บีอาร์เอ็นอ้างในเอกสารคำชี้แจง คือรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นในเรื่องการจัดการปกครองด้วยตนเอง ได้แก่
มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
มาตรา 78 (3) รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้...กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา