สตง.เปิดเว็บไซต์ต้านทุจริต ให้ ปชช.แจ้งเบาะแส-บันทึกสถิติรายจว.
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเปิดเว็บไซต์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้ ปชช.แจ้งเบาะแส มุ่งไล่ล่าความจริง นำคนทุจริตมาลงโทษ บันทึก-นำเสนอสถิติเป็นรายจังหวัด
วันที่ 18 กันยายน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จัดแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ "สตง.ต่อต้านการคอร์รัปชั่น" (OAG Anti-Corruption) www.oaganticorruption.com ณ ห้องดำริอิศรานุวรรต ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
นางสาวประพีร์ อังกินันท์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีบทบาทและหน้าที่ในการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ ร่วมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใช้จ่ายเงินในการบริหารองค์กรจากเงินงบประมาณ โดยการเปิดเว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นช่องทางในการแจ้งเบาะแสและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสามารถนำไปสู่การตรวจสอบที่รวดเร็ว ทันสมัยและทันเหตุการณ์
"เว็บไซต์ดังกล่าวจะมีความพิเศษและแตกต่างจากเว็บไซต์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นอื่น เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดมีอยู่ทุกจังหวัดในประเทศจะเป็นเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่จะไล่ล่าหาความจริง และหยุดการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย นำตัวคนที่ทุจริตมาลงโทษ สามารถยับยั้งการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศทุกประเภทที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต อีกทั้งจะนำเสนอข้อมูลทางสถิติเป็นรายจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดที่มีการแจ้งพบเห็นคนทำดีมากที่สุด รวมถึงการแจ้งร้องเรียนในการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า www.oaganticorruption.com สามารถกดเพื่อแจ้งเรื่องได้ 3 ส่วน ได้แก่ 1.ทำดีบอกต่อ 2.จ่ายเพื่อให้ได้มา 3.จ้างให้ก็ไม่จ่าย
สำหรับสถิติการแจ้งข้อมูล ทำดีบอกต่อ เป็นการบอกต่อหรือยกย่องบุคคลผู้ทำความดี ขณะนี้มีอัตราแจ้ง 44.44% ในจังหวัดชลบุรี พบอัตราแจ้งที่จังหวัดเชียงใหม่ 10% ขอนแก่น 10% 10% นครศรีธรรมราช 10% และกรุงเทพฯ 60%
จ่ายเพื่อให้ได้มา อัตราแจ้ง 27.78% สถิติในรายจังหวัด พบว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อัตราแจ้ง 10% นครราชสีมา 10% แพร่ 20% ภูเก็ต 20% และกรุงเทพฯ 40% เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน จ่ายค่าลัดคิวขอทะเบียนรถ ค่าออกใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน การต่อสัญญาจ้าง หรือแม้กระทั่งการสอบครู
จ้างให้ก็ไม่จ่าย อัตราแจ้ง 27.78% พบว่าการแจ้งเรื่องส่วนใหญ่มีทั้งการแสดงความคิดเห็น เช่น ประกาศไม่ยอมจ่ายใต้โต๊ะ และการให้ข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป เช่น เบาะแสการสอบข้าราชการท้องถิ่น การสอบบรรจุข้าราชการ
รวมถึงมีช่องโพลสำรวจความคิดเห็น เช่น "คิดว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่หมดจากเมืองไทยเป็นเพราะผู้ให้หรือผู้รับ" ซึ่งพบว่ากว่า 77% ของผู้โหวตเห็นว่าเกิดจากทั้งผู้ให้และผู้รับ และโพลสำรวจที่ว่า "คิดว่าโครงการจำนำข้าวมีการทุจริตหรือไม่" พบว่า กว่า 77% ของผู้โหวตเห็นว่า "ทุจริตแน่ๆ"