หนุนภาคปชช.ล่า 1 หมื่นชื่อประกบ ดัน ‘กม.จดทะเบียนคู่ชีวิต’ เข้าสภา
กรมคุ้มครองสิทธิฯ ยกร่างกม. 3 ฉบับเข้าสภา ‘พ.ต.อ.ณรัชต์’ เผยมีร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตร่วมด้วย เตรียมหนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศล่า 1 หมื่นชื่อประกบ หวั่นสมาชิกไม่เห็นพ้องตีตก
วันที่ 18 ก.ย. 2556 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวผลงานการพัฒนากฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ... 2.ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ....และ3.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.... ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) ร่างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อ 2 ต.ค. 2550 และมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2550
ซึ่งในฐานะเป็นรัฐภาคี จึงมีพันธะผูกพันจะต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับเนื้อหาอนุสัญญา โดยกำหนดให้การทรมานที่ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดตามกฎหมาย กล่าวคือ เดิมนั้นกำหนดว่า กรณีเจ้าหน้าที่รัฐซ้อม อุ้มฆ่า จะดำเนินคดีเฉพาะความผิดในระเบียบบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป เช่น ทำร้ายร่างกาย เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
สำหรับร่างพ.ร.บ.ใหม่นั้น อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จะยกกรณีทรมานเป็นฐานความผิดอีกสิ่งหนึ่ง รวมถึงวิธีพิจารณาให้เป็นวิธีพิเศษด้วย
ส่วนร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนที่ 2 หมวด 3 มาตรา 30 ระบุตอนหนึ่งว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะต่อบุคคล จะกระทำมิได้ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ คณะกรรมาธิการฯ จึงร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น เพื่อหวังให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ดำเนินกิจกรรมเหมือนบุคคลทั่วไป เช่น การรับสิทธิประโยชน์ของคู่ชีวิต การดูแลและลงนามอนุญาตให้คู่ชีวิตรักษาพยาบาล สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือสิทธิการลดหย่อนภาษี
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ด้วยว่า เกษตรกรไทยหลายจังหวัดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสัญญาที่ทำร่วมกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยพบการร้องเรียนเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรมและการจัดการหนี้นอกระบบภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาแล้ว 150,000 รายทั่วประเทศ คณะกรรมาธิการฯ จึงพิจารณาแก้ไขใหม่โดยการทวงหนี้ต้องไม่กระทบถึงสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการกำหนดเงื่อนไขที่มีผลกระทบในการเอารัดเอาเปรียบไม่ว่าผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค ศาลจะมีอำนาจใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรม ขณะที่การกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการต้องมีการประกาศโดยชัดเจนและพิสูจน์ได้ หากมีการปรับเปลี่ยนต้องแจ้งล่วงหน้า
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้สัญญามีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความปรองดองระหว่างคู่กรณี ซึ่งพิพาทกันโดยบูรณาการองค์กรภายในกระทรวงยุติธรรม ขับเคลื่อนกลไกระงับข้อพิพาท สุดท้ายให้จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมและสัญญากลางที่ยึดเป็นมาตรฐานป้องกันการถูกเอาเปรียบ
“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับได้ผ่านการร่างโดยคณะกรรมาธิการฯ เสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม รู้สึกกังวลกับร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นยังมีสมาชิกสภาฯ บางท่านไม่เห็นด้วย ซึ่งได้พยายามสร้างความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรเข้าชื่อเสนอกฎหมายอย่างน้อย 1 หมื่นชื่อประกบอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เห็นความตั้งใจและผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้น” พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าว
ขณะที่ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ให้ไทยทัดเทียมอารยประเทศได้ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีข่าวผู้ต้องโทษถูกกระทำอย่างทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ดังนั้นหากปล่อยให้กฎหมายพิจารณาลงโทษบุคคลเหล่านี้ธรรมดา ความยุติธรรมก็จะไม่หายไปจากสังคมไทย
สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ฉบับที่ 2) ดร.เสรี กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจกลุ่มคนในระบบพันธะสัญญา โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความรู้น้อย อ่านหนังสือไม่ออก ไม่แตกฉาน และขาดความระมัดระวังถ้อยคำในสัญญา เนื่องด้วยต้องการมีงานที่สร้างรายได้ จึงต้องรีบกระโจนเข้าไปในระบบดังกล่าว ส่งผลให้เสียเปรียบแก่กลุ่มผู้ที่จะเอาเปรียบ ฉะนั้นหากกฎหมายฉบับเกิดขึ้นจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มด้อยโอกาสให้ยืนหยัดและเรียกร้องความเป็นธรรมได้
ดร.เสรี กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองมากที่สุด คือ ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งทุกคนที่รักเพศเดียวกันควรมีส่วนร่วมผลักดัน มิฉะนั้นจะเสียเปรียบ เช่น กรณีชายที่ผ่าตัดแปลงเพศไม่สามารถใช้น.ส.ได้ หรือบางคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมา แต่ไม่สามารถจะเซ็นชื่ออนุญาตผ่าตัด หรือเอาศพออกจากโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้จะช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการมอบรางวัลศิลปินรณรงค์การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แบ่งเป็น กลุ่มศิลปินสื่อสารมวลชนและผู้อุทิศตนเพื่อคุ้มครองสิทธิ ได้แก่ 1.ดร.เสรี วงษ์มณฑา 2.พิไลวรรณ บุญล้น 3.พัสณช เหาตะวานิช 4.รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส 5.บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ 6.สันติ ดวงสว่าง 7.ชูชาติ ดุลยปภัสศร 8.นวลพรรณ ล่ำซำ
กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ผู้เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนในการคุ้มครองสิทธิ ได้แก่ 1.วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล 2.ธนกฤต อยู่โต 3.รณชัย ศิริขันธ์ และกลุ่มศิลปินต้นแบบบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ 1.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 2.ตรีชฎา เพชรรัตน์ 3.โจแอน พรหมศิริรักษ์ .