เรียน “ทัศนมาตรศาสตร์” ไม่ตกงาน อธิการบดีม.รังสิต ชี้ตลาดรองรับอื้อ
ม.รังสิต 1 ใน 3 สถาบันอุดมศึกษา ผลิตบุคลากรหมอตา โอดคนยังเรียนสาขา “ทัศนมาตรศาสตร์” น้อย หลังกฤษฎีกายังไม่ชัดเจน บังคับหรือไม่บังคับ ร้านแว่นต้องมีทัศนมาตรที่มีใบประกอบวิชาชีพประจำอยู่
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดประชากร 6,000 คน จะต้องมีนักทัศนมาตร อย่างน้อย 1 คน ดังนั้นประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน จึงควรมีนักทัศนมาตรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน แต่ปัจจุบันบ้านเรามีนักทัศนมาตรเพียงแค่ 120 คน เท่านั้น ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกฤษฎีกากำลังออกประกาศให้ร้านวัดและประกอบแว่น เลนส์สัมผัส รวมทั้งเครื่องช่วยการมองเห็นต้องมีนักทัศนมาตรอยู่ประจำ
ขณะที่การผลิตบุคลาการด้านนี้ มีการเรียนการสอนอยู่แค่ 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรังสิต และล่าสุด มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นหลักสูตร 6 ปี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต 1 ใน 3 สถาบันอุดมศึกษาที่การเรียนสอนด้านนี้
ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า ทัศนมาตรศาสตร์มีสอนกันในต่างประเทศมานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยมีน้อยมาก อีกทั้งตลาดเกี่ยวกับการตัดแว่นมีอยู่หลายพันแห่ง แต่กลับขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคคลากรให้มีการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง
"หากมีการตัดหรือวัดแว่นผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ตัดมีปัญหาต่อสายตา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการเองก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อที่สามารถตัดแว่น เลนส์ได้อย่างมีคุณภาพ ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อลดปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์หลายคนเข้าใจว่า จบไปจะต้องไปอยู่ในร้านแว่น แล้วตัดแว่นอย่างเดียว แต่ความจริงใน หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต ได้กำหนดให้นักทัศนมาตรสามารถช่วยคัดกรองโรคตาบางอย่างได้ สามารถตรวจกล้ามเนื้อตา ฝึกกล้ามเนื้อตา ตรวจสายตาในงานเวชศาสตร์การกีฬา รวมทั้งสามารถร่วมงานกับจักษุแพทย์ในโรงพยาบาล ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ได้ด้วย
เมื่อถามถึงรายได้เริ่มต้นหลังจบการศึกษาไปแล้วนั้น ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจร้านแว่น และตลาดสำหรับอาชีพนี้
ทั้งนี้ ดร.อาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันแม้ความต้องการของตลาดสำหรับอาชีพนักทัศนมาตรจะมีเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มาเรียนเฉพาะทางในด้านนี้ยังคงน้อยอยู่ เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่กลัวเรียนไปแล้วจะไม่มีงานทำ เนื่องจากไม่มั่นใจในกฎหมายเรื่องใบประกอบวิชาชีพโรคศิลป์ ว่าในขณะนี้มีการบังคับใช้แล้วหรือไม่ หรือบังคับใช้แล้วมีความจริงจังมากน้อยเพียงใด