“เกียรติวรรณ อมาตยกุล” 500 ล้าน 500 ไร่ “หยุดปลาใหญ่กินปลาเล็ก”
“ถ้าประเทศไทยออกกฎหมายกำหนดเพดานรายได้สูงสุด สมมติเพดานความร่ำรวยนายทุนหรือมหาเศรษฐีที่ 500 ล้านบาทและที่ดินไม่เกิน 500 ไร่ อะไรจะเกิดขึ้น” คือบทเริ่มสนทนาของ ศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล เจ้าของหนังสือ “500 ล้าน 500 ไร่ เปลี่ยนประเทศไทย” กับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์เขียนหนังสือเล่มนี้
มีหลายที่มา เราเห็นความตื่นตัวของประชาชนระยะ 4-5 ปีมานี้ ไม่ว่าทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง หรือมนโนธรรมสำนึกที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ สิทธิ์ที่พึงได้ในสังคม เป็นกระแสซึ่งไม่เคยปรากฏ ในความเห็นผมอาจจะก้าวหน้าแทบจะที่สุดในโลก อีกอย่างคือความรุนแรงของสภาวะโลกร้อนที่เห็นชัดขึ้นทุกวัน ทั้งน้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากระบบทุนนิยมซึ่งอนุญาตให้ทุกคนครอบครองและใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัด และสุดท้ายคือผมเสนใจเรื่องมนุษยนิยมมานานแล้ว และแนวคิดนี้ก็ชี้ให้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน คนรวยจนศักดิ์ศรีเท่ากัน
แนวคิดมนุษยนิยมเป็นหลักในการเขียน “500 ล้าน 500 ไร่เปลี่ยนประเทศไทย”
ใช่ เพราะแนวคิดนี้สวนทางกับระบบต่างๆที่เป็นอยู่ปัจจุบันซึ่งเป็นแบบพฤติกรรมนิยม ซึ่งในทางมนุษยวิทยาจะบอกว่าเป็นแนวคิดของสัตว์ คือผู้เข้มแข็งกว่าเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ทฤษฎีมือใครยาวสาวได้สาวเอากลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่สาวถือว่าโง่ด้วยซ้ำไป
แต่มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ ถ้าปลาใหญ่กินหมด ปลาเล็กก็ไม่มีอะไรกิน เหมือนเวลาคนโหนรถเมล์ถ้ามือขวาโหนมือซ้ายดึงคนที่อ่อนแอกว่าไว้ก็ดี แต่มือขวาโหนปล่อยมือซ้ายซ้ำใช้เท้าซ้ายเหยียบอีก ทั้งหมดที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมถูกทุนนิยมสร้างกำดักไว้ทุกด้าน สุดท้ายก็มาถึงจุดที่หาทางออกไม่ได้ จริงๆระบบทุนนิยมมีข้อดีเยอะ เพียงแต่มีจุดโหว่บวกกับการขับเคลื่อนที่ไปเร็วมาก คนอ่อนแอจึงถูกทอดทิ้งเหยียบย่ำ
ทุนนิยมเป็นตัวการสร้างความเหลื่อมล้ำ แต่อาจารย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธ “ทุนนิยม” แต่เสนอ “ทุนนิยมแนวใหม่”
มนุษยนิยมเชื่อว่าทุกคนมีข้อแตกต่าง ไม่ได้เท่าเทียมกัน 100% และก็คงไม่ได้ต่างกันแบบสุดฝาเหว คนตัวใหญ่อาจดื่มน้ำทั้งแก้ว ขณะที่คนตัวเล็กดื่มแค่ครึ่งเดียว ผมจึงเห็น “ทุนนิยมแนวใหม่” ที่เรียกว่า “ทุนนิยมแบบมีเพดานรายได้” หรือการจำกัดการถือครองทรัพยากรและทรัพย์สิน เป็นตัวทำให้ช่องว่างของความแตกต่างนั้นลดลง ปลาใหญ่เลิกกินปลาเล็ก เพราะมีข้อจำกัดในการกิน
อาจารย์มองสถานการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กในบ้านเราอย่างไร
ถ้ามองเป็นภาพรวมขณะนี้ประเทศไทยคือปลาเล็กที่ถูกระบบทุนนิยมกินรวบทั้งประเทศ ตั้งแต่ผู้นำไปถึงชาวบ้าน แต่ผลกระทบสุดท้ายมักตกที่ชาวบ้าน โดยปลาเล็กที่สุดคือ “เกษตรกรและผู้ยากไร้ทั้งหลาย” แถมยังเป็นปลากลุ่มใหญ่มากด้วย
เกษตรกรนี่ต้องเผชิญกับระบบทุนนิยมที่เก่งมาก ทำให้ชาวนาใช้ยาฆ่าแมลง เป็นหนี้เป็นสินที่ดินหลุดมือ ขณะที่นายทุนกอบโกยทั้งเงินทั้งที่ดิน นักการเมืองก็เช่นเดียวกันมองหาแต่อำนาจ ชาวบ้านคิดทำปุ๋ยจุลินทรีย์ไม่เคยสนใจ ปล่อยให้บริษัทใหญ่มาควบคุม
มีทางออกให้กับปลากลุ่มใหญ่นี้หรือไม่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่
ถ้าเกิดการจำกัดเพดานรายได้ปั๊บ หนังเรื่องนี้จบทันทีเพราะพื้นที่ ทรัพยากรยังมีอีกมหาศาล การเมืองแทบไม่ต้องยุ่งเกี่ยว นักการเมืองหรือนายทุนที่มีมากก็ต้องคืนให้ชาวบ้านไป
อาจารย์บอกว่าตัวเลข 500 ล้าน 500 ไร่ เหมาะสมกับประเทศไทย
เป็นตัวเลขกลางๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป คนในกรุงเทพฯ มีพื้นที่เป็นหมื่นไร่ไม่ได้มีคนเดียวไล่มา 50 คนสุดท้ายยังเยอะอยู่เลย ถามว่าแล้วมีขนาดนี้จะเอาไปทำอะไร ถ้าดูแค่ 500 ไร่ ที่ดินจะกระจายไปถึงคนจนที่สุดที่ไม่มีอะไรเลย เอาแค่มี 1 ไร่ เขาก็มีความสุขแล้ว อาจจะเหลือเฟือใช้กันจนไม่รู้จะใช้อย่างไรด้วยซ้ำ
พูดง่ายๆ คือเป็นตัวเลขที่ไม่บีบคั้นคนรวยที่มีเป็นหมื่นล้านแสนล้านเกินไป ให้รู้สึกเป็นไปได้และอยากคายที่ดินออกมา เป็นตัวเลขที่สวยแต่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ ไม่เอาตัวเลขนี้เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะตกลงร่วมกัน เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็มักจะพูดว่ามากไป ไม่มีใครพูดว่าน้อยหรอก (หัวเราะ)
สิ่งที่อาจารย์เสนอกับข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินของคณะกรรมการปฏิรูป เหมือนหรือต่างกันตรงไหน
คล้ายกันครับ มีจุดร่วมคือการกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรมเหมือนกัน ต่างคนตรงที่ คปร.เสนอ 50 ไร่ ซึ่งหากเป็นจริงได้จะดีมากเพราะคนที่อยู่ในลำดับการถือครองท้ายๆจะมีที่ดินเพิ่มอีกเยอะเลย แต่ต้องไม่ลืมว่าอะไรที่ต่ำเกินไปจะเหวี่ยงกลับมาที่ทุนนิยมได้ง่ายๆ เพราะอะไรที่บีบบังคับเกินไปจะทำให้คนหมดกำลังใจไม่มีแรงจูงใจให้ทำ หรือจะเรียกว่าเป็น “ทุนนิยมอ่อนๆ” ก็ได้
ที่ดินยังมีเหลือเฟือพอให้กินให้ใช้ 500 ล้าน 500 ไร่ ยืดหยุ่นได้แต่ต้องไม่น้อยเกิน อย่าไปหักหารคนที่มีเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ ค่อยๆเปลี่ยนค่อยๆปรับ อาจเริ่มที่ทำภาษีก้าวหน้าก่อน แล้วค่อยจำกัดการถือครอง
มีความเป็นไปได้ขนาดไหนที่แนวคิดนี้จะนำสู่การปฏิบัติได้จริง
ประชาชนตื่นตัวและมีมโนธรรมสำนึกมาก ลุกขึ้นมาทำเพื่อส่วนรวม คนเริ่มย้อนมาตระหนัก เริ่มเห็นว่าทรัพยากรมีมากแต่ทำไมคนแร้นแค้น ส่วนที่ 2 คือเห็นว่าระบบนี้น่าเบื่อ พรรคการเมืองไหนก็ไม่อยากได้ อย่าง 2 พรรคใหญ่ก็มีความคิดเดียวกันเป็นทุนนิยมเหมือนกันเป๊ะ คนที่ดีอย่างไรเมื่อเข้ามาระบบนี้ก็ชั่วหมดทุกคน เมื่อขยับอะไรไม่ได้ก็สุดท้ายก็จะกลายเป็นผู้ที่ถูกเหยียบ วิธีคิดแบบนี้คือกลไกที่จะผลักแนวคิดทุนนิยมแบบมีเพดานรายได้ออกไป เพราะทุกคนคงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่ออย่างนั้น
ทุนนิยมแบบมีเพดานรายได้จะสำเร็จได้ ต้องมีกลไกอะไรรองรับ
1.ภาษีอัตราก้าวหน้าต้องนำมาใช้ คนที่มีทรัพยากรของโลกเก็บไว้เยอะ มีทรัพย์สินมากก็ควรต้องจ่ายภาษีมาก เพื่อลดภาระให้คนอื่น แต่กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อให้เป็นแบบนั้น เรื่องนี้ต้องทำก่อนแล้วค่อยจำกัดการถือครอง 2.ต้องทำให้คนออกมาจากกรอบทุนนิยมเดิม โดยให้ข้อมูลว่าจริงๆแล้วเขายังมีทางเลือก ยังมีระบบทุนนิยมคุณธรรม แรกๆอาจทำยากก็เหมือนที่กาลิเลโอที่ออกมาบอกว่าโลกกลมแล้วโดนจับเข้าคุก แต่สุดท้ายคนเกือบทั้งโลกก็เห็นเช่นนั้น ระบบการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสิ่งสำคัญ หากเกิดการยอมรับได้แล้วเสนอไปในวงกว้างเรื่อยๆ เสื้อเหลืองรับเสื้อแดงฟัง ทุกคนในสังคมฟัง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
3.แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นทุนเดิมที่ดีและมีอยู่บ้าง แต่ยังไปเน้นที่การเกษตร ทั้งที่พอเพียงคือใช้ทรัพยากรอย่างพอดีมีความสอดคล้องกัน น่าจะนำมาเป็นฐานคิดต่อยอดได้ 4.บทบาทของนักการเมือง รัฐบาลที่เป็นคนกุมอำนาจใหญ่ที่สุดต้องมองเรื่องความชอบธรรมอย่าคิดอย่างเดียวว่าอยากได้ เท่าไหร่ก็ไม่พอ ข้อนี้หนักหนามากเหมือนคนป่วยต้องใช้ยาแรง เพราะถูกหล่อหลอมมาตลอด ถึงบอกว่าถ้าเปลี่ยนจากบนสุดค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาข้อ 5.คือชาวบ้านต้องตื่นตัวลุกฮือขึ้นมา อย่างกระแสโหวตโนสะท้อนอะไรบางอย่าง เตือนว่าประชาชนไม่ยอมรับคนที่จะเข้ามาด้วยระบบแบบนี้ ไม่ยอมให้ปลาใหญ่มากินปลาเล็ก
สมมติว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้จริงในบ้านเรา ต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงเห็นผล
ผมว่าเร็ว เพราะตอนนี้ทางตันหมดแล้ว ถ้าคนรับไอเดียนี้ได้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเลย ที่จริงสังคมไทยกึ่งพร้อมแล้วด้วยซ้ำ มีผีเสื้อพร้อมกระพือปีกเพียงแต่ซ่อนตัวอยู่ สมมติถ้าวันนี้มีการจำกัดเพดานรายได้ เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า พรุ่งนี้เห็นการเปลี่ยนแปลง ช่องว่างระหว่างชนชั้น คอรัปชั่นลดลง เกิดรัฐบาลหน้าใหม่ ระบบขนส่งดีขึ้น ราคาบ้านราคาที่ดินถูกลงแน่นอน เกิดสังคมสวัสดิการถ้วนหน้า ยาเสพติดน้อยลง คนจนน้อยลงอย่างมหาศาล ไม่มีผู้ก่อการร้าย และอีกมาก
ถ้าเปรียบก็เหมือนตอนกระแสจตุคามรามเทพจาก 5 บาทปั่นเป็นแสนชั่วพริบตาเดียว หรือถ้าคิดในทางลบหน่อย แนวคิดนี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้เพราะเป็นช่วงที่คนยังมีคุณธรรมไม่ชัด แต่เชื่อเถอะว่าวิกฤติทางธรรมชาติที่ฟ้องว่าการใช้ทรัพยากรมากเกินพอดีจะบีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนไม่ว่าด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง
อาจารย์คิดว่า 500 ล้าน 500 ไร่เปลี่ยนประเทศไทย เกิดขึ้นจริงได้ไหมในบ้านเรา
ผมฝันให้เป็นอย่างนั้น (ยิ้ม)
สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีสีสันและถ่ายทอดภาพปลาใหญ่กินปลาเล็กได้ดีคือนิทานคุณธรรม อยากจะให้อาจารย์เล่าสักเรื่อง
ผมใช้ชื่อเรื่องว่า 13 เกมสยอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนแนวคิดนี้ชัดเจน เรื่องมีอยู่ว่าชิด นิสิตจบใหม่ที่ทำงานขายประกัน เคยมีบ้านมีรถ แต่วันหนึ่งถูกเพื่อนโกงหมดเนื้อหมดตัว วันหนึ่งมีโทรศัพท์เข้ามาบอกให้เล่นเกมๆหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเขาจะได้เงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ชิดเดินเข้าไปในเกมจากเกมที่ 1 ไป 2 ไป 3 แต่ละเกมโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฆ่าสัตว์ รังแกเด็ก จนเกมสุดท้ายซึ่งเป็นเกมแห่งความวินาศ คำสั่งคือให้ชิดเข้าไปในห้องๆหนึ่ง มีคนคลุมผ้านอนอยู่ ทันทีที่เปิดผ้าออกให้ชิดแทงคนๆนั้นเสีย
ผมให้ทายว่าคนที่อยู่ในผ้าคลุมคือใคร “พ่อของชิดครับ” หนังเรื่องนี้จบลงที่ชิดไม่เอาเงินรางวัล แต่เมื่อเขาหันหลังกลับคนที่ได้ชื่อว่า “พ่อ” กลับลุกขึ้นมาแทงเขาเสียเอง
นิทานเรื่องนี้สะท้อนว่าในสังคมที่มีระบบทุนนิยมเป็นตัวตั้ง หากเราไม่ทำคนอื่นก็ทำอยู่ดี วันนี้สังคมเดินมาถึงจุดนี้แล้ว หลายคนบอกว่านักการเมือง นายทุน คือคนชั่ว จริงๆผมว่าใครลองได้ก้าวเข้ามาเป็นปลาใหญ่ก็ชั่วทั้งนั้น เพราะปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็ก
………………………….
“แต่คนที่เป็นปลาเล็กอยู่แล้วยิ่งแย่กว่า เพราะนอกจากจะต้องสู้กับปลาใหญ่แล้ว ยังถูกระบบที่ครอบปลาใหญ่นี้ไว้ทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก นิทานเรื่องนี้จบครบถ้วนแล้ว ที่เหลือก็ช่วยเติมเต็มฝันให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยครับ”.