8 หน่วยงานนำร่อง ใช้ระบบประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสฯ ปี'57 เล็งกระจายอีก 281 แห่ง
ป.ป.ช.ร่วมกับม.หอการค้าไทยบูรณาการแบบประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือITA หวังไทยหลุดจากสังคมคอรัปชั่น ชี้ปชช.ต้องตระหนักบอกปัดคอร์รัปชั่น จี้รัฐเอาจริงเอาจัง
วันที่ 16 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ณ ห้องประชุมนนทบุรี 1 สำนักงาน ป.ป.ช. โดย “ระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” นี้ เป็นการประยุกต์จากแนวคิดการประเมินคุณธรรมการดำเนินงานของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวคิด วิธีการและเครื่องมือของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสฯ นั้น เกาหลีใต้ได้จัดทำโครงการแบบประเมินด้วยระบบ Integrity & Transparency Assessment (ITA) โดยทำมาแล้วประมาณ 15 ปี มีการตรวจสอบ และประเมินใน 5 เรื่อง คือ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ การทุจริตคอรัปชั่น วัฒนธรรมคุณธรรม และคุณธรรม ซึ่งในการทำงานสิ่งที่เห็นคืออันดับการคอรัปชั่นประเทศนี้ลดลงเรื่อยๆ แม้กระทั่ง อินโดนีเซีย และภูฎาน นำไปใช้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นก็น้อยลงเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ปรับใช้บ้าง
ปัจจุบัน มีการนำไปทดลองใช้ไปแล้วกับ 8 หน่วยงาน คือ กรมที่ดิน กรมทางหลวง ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ และจะเริ่มใช้เครื่องมือประเมินนี้ในปี 2557 กับหน่วยงานจำนวน 281 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรอิสระ หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวถึงการทำ ITA ประมาณ 3-4 ปีแรก จะเป็นการวางระบบรากฐานคุณธรรมและความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานทุกประเภท เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำงานอย่างชัดเจน โปร่งใส ทำงานให้ดีที่สุด จนกระทั่งประชาชนไม่มีอะไรจะร้องเรียน
“แต่สำหรับประเทศไทยการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา มีการให้ข้อมูลกับประชาชนน้อยมาก ดังนั้นหากให้ข้อมูลกับประชาชนมากขึ้น สร้างวัฒนธรรมที่ดีให้เกิดภายในองค์กร มีระบบที่ชัดเจน การทำงานก็จะมีข้อบกพร่องน้อยลง และถ้ามีการร้องเรียนจากประชาชนถึงความไม่โปร่งใส จะต้องเปิดช่องทางตรวจสอบต่อข้อร้องเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้นทันที”
รองอธิการบดี ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงมิติการบริหารงบประมาณ หากประชาชนมีความรู้สึกว่า เกิดการคอรัปชั่น เช่น เปิดประมูลที่ไร ไม่เคยได้ข่าว ไม่เคยรู้รายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรจะต้องนำจุดนี้มาเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้
“หากมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมากต่อกรณีการบริหารงบประมาณ จะส่งผลให้คะแนนความโปร่ง และสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือว่าองค์กรด้วย” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว และว่า สำหรับการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นมีหลายมิติ จุดสำคัญที่สุดมาจากประชาชนต้องตระหนักและปฏิเสธการทุจริตคอรัปชั่น เมื่อรับรู้แล้วต้องแก้ไข ถ้ามีปัญหาการทุจริตมากประเทศจะแย่ ซึ่งในขณะนี้ในหลายๆโครงการก็มีการตรวจสอบจากประชาชน ซึ่งต้องช่วยกันใส่ใจและเร่งประชาสัมพันธ์ ระดมให้คนออกมาปฏิเสธและต่อต้านการคอรัปชั่น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ดร.ธนวรรธน์ เชื่อว่า การประเมินด้วยระบบ ITA จะช่วยให้10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยลดลงได้ถึง 50% แต่ถ้าหากการแก้ไขปัญหารัฐบาลไม่จริงจัง คงช่วยได้แค่ 20% เท่านั้น
ขอบคุณภาพจาก nidapoll.nida.ac.th และเฟชบุ๊กเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา